สมัยที่ผมยังเป็นเด็กเล็กนั้น พวกเราซึ่งหมายถึงลูกหลานบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดจะมีที่ชุมนุมกันแห่งหนึ่ง คือสถานีอนามัย ที่อยู่ไม่ไกลจากกาดหลวงและกาดเก๊าลำไย
การไปทำแผลที่สถานีอนามัยอาจเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง แต่การไปวิ่งเล่นสนุกสนานที่สถานีอนามัยนั้นเกิดขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาเย็นหลังเลิกเรียน หรือช่วงเวลาทั้งวันของวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเวลาดังกล่าวตรงกับเวลาหยุดทำการ พวกเราเองก็ไม่ได้เข้าไปวุ่นวายในตัวอาคาร พี่พยาบาลจึงไม่ได้ห้ามปราม หากปล่อยให้พวกเราวิ่งเล่นในสนามหญ้าหน้าอาคารและพื้นที่โล่งโดยรอบเท่านั้น
คงเป็นเพราะบริเวณกาดหลวงและกาดเก๊าลำไยเต็มไปด้วยห้องแถว ร้านค้าแผงลอย ผู้คน และรถรามากมายทั้งวันทั้งคืน บรรดาพ่อแม่จึงไม่ยอมให้พวกเราวิ่งเล่นแถวนั้นเพราะเกรงว่าจะอันตราย และที่สำคัญคือกีดขวางการซื้อขายสินค้าหรือบริการ หากยินยอมให้ไปวิ่งเล่นที่สถานีอนามัยแทน ที่มีอาคารไม่มาก มีที่ว่างสนามหญ้ามากมาย อีกทั้งมีรั้วรอบกรอบชิดและอยู่ในสายตาของพี่พยาบาลชุดขาว
สนามหญ้าหน้าสถานีอนามัยจึงกลายเป็นสนามเด็กเล่นของชาวกาด ทั้งเด็กเล็กๆ ที่พ่อแม่หรือใครอุ้มมาเล่นตอนเย็น เด็กเล็กมากันเองหรือมากับเด็กโตพากันมาวิ่งเล่นตอนกลางวัน ส่วนเด็กโตจะมาเดี่ยวหรือมากันเป็นกลุ่มเป็นแก๊ง ร่วมเล่นเตะบอล ล่าสมบัติ ก่อสงคราม หรืออะไรที่คิดขึ้นมาได้
ตอนผมเรียนสถาปัตย์ อาจารย์แปลตำราฝรั่งมาสอน จึงต้องจำว่าสนามเด็กเล่นจะต้องมีม้าหมุน ชิงช้า สำหรับเด็กโต บ่อทรายสำหรับเด็กเล็ก สนามหญ้าสำหรับวัยรุ่นวิ่งเล่น เก้าอี้สนามสำหรับพ่อแม่และคนชรานั่งพัก แบบที่เห็นในต่างประเทศหรือภาพยนตร์ฮอลลีวูด จนมีข้อสรุปว่าเมืองไทยขาดสวนสาธารณะ ทั้งสนามเด็กเล่นและสวนสาธารณะขนาดใหญ่
แต่สำหรับผมสนามหน้าสถานีอนามัยแม้ไม่เหมือนในตำราหรือเมืองฝรั่ง แต่ก็เป็นสถานเด็กเล่นที่วิเศษสุด อีกทั้งเข้าใจว่าเด็กไทยที่ไหนๆ ก็น่าจะมีสถานที่แบบเดียวกัน อาจอยู่ในโรงเรียน ในวัด ในสถานที่ราชการทั่วไป หรือแม้แต่ที่ว่างของใครสักคน โดยเด็กทุกคนต่างใช้จินตนาการส่วนตัวหาวิธีเล่นและเครื่องเล่นกันได้อย่างสนุกสนาน
ทุกวันนี้สถานีอนามัยหรือสถานีกาชาดที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ยังดำรงคงอยู่เช่นในอดีต แต่ก็อยู่ท่ามกลางความอึกทึกครึกโครมของผู้คนและรถรา ด้วยกิจการค้าขยายตัวจากกาดหลวงและกาดเก๊าลำไยขึ้นเหนือมายังกาดเจ๊กโอ้ว กาดเทศบาล และเลยไปถึงกาดเมืองใหม่ข้างเทศบาล
ทุกวันนี้สนามหน้าสถานีอนามัยก็ยังอยู่ นอกจากดูว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอาคารสิ่งก่อสร้างที่อยู่โดยรอบแล้ว ก็ยังไม่มีเด็กวิ่งเล่นเช่นในอดีต อาจเป็นเพราะจำนวนเด็กในตลาดลดลง หรือเด็กในตลาดเลือกไปเล่นเกมในศูนย์การค้าติดแอร์แทน
เชื่อว่าภาพประทับใจในอดีตเกี่ยวกับสนามเด็กเล่นของเด็กปัจจุบันคงห่างไกลกับสถานีอนามัยของผมและเพื่อนเป็นแน่แท้
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20