Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น "เฟิร์สคอฟฟี่เฮาส์"

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เมื่อครั้งเยาว์วัย ในตลาดวโรรสมีรายการอาหารให้เลือกหามากมายทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด ผลไม้ อาหาร และขนม ดูน่ารับประทานไปเสียทุกอย่าง

เมื่อครั้งเติบใหญ่ ในบ้านเมืองมีรายการอาหารบริการอีกมากมายทั้งอาหารพื้นบ้านไทย จีน พม่า ฮ่อ ญวน และฝรั่ง แต่บางอย่างก็ไม่น่ารับประทาน

สำหรับครอบครัวคนจีนปนลาวปนญวน อาหารฝรั่งดูจะห่างไกลและไม่เคยอยู่ในความคิด  ส่วนใหญ่พบเห็นแค่ในหนังสือ โอกาสลิ้มลองจริงไม่มีวันเกิดขึ้น

เคยแต่รับประทานคุกกี้ฝีมืออาจารย์เบตซี กุยเยอส์ ครูสอนดุริยางค์ฝรั่งใจดีเวลาไปเยี่ยมอาจารย์ที่บ้าน

ในวันวานร้านอาหารฝรั่งคงจะมีน้อยแห่งในเชียงใหม่ เท่าที่จำได้ ห้องอาหารในโรงแรมรถไฟเชียงใหม่ น่าจะบริการอาหารฝรั่งบ้าง และอีกสามร้านที่เคยสัมผัส ได้แก่  

ร้านแรกชื่อแซนด์วิชบาร์ ร้านนี้ย้ายทำเลสองสามครั้ง แต่ก็อยู่ไม่ไกลจากแจ่งหัวริน บริการอาหารฝรั่งประเภทแซนด์วิช (ตามชื่อร้าน) ขนมปัง แฮมเบอร์เกอร์ สลัด ฯลฯ ผมมีโอกาสลิ้มลองก็เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว

ร้านที่สองชื่อสวีทรูม ร้านนี้ไม่ได้ขายอาหาร เพราะมีแต่รายการไอศกรีมและขนมเค้ก เป็นร้านที่โก้สุดๆสำหรับวัยรุ่นยุคนั้น ทันทีที่เป็นวัยรุ่นผมก็รีบแวะไปและเวียนไปอีกหลายครั้ง จนรู้จักคุ้นเคยกับไอศกรีมซันเดย์บานาน่าสปริท

ร้านที่สามเป็นร้านอาหารฝรั่งที่ผมคุ้นมากที่สุด คือเฟิร์สคอฟฟี่เฮาส์ ชื่อบอกชัดเจนว่า (อาจ) เป็นคอฟฟี่ช้อปร้านแรกในเชียงใหม่ เกิดมานานก่อนกระแสร้านกาแฟในปัจจุบัน

เมื่อรัฐบาลไทยส่งเสริมกิจการการท่องเที่ยว และมุ่งหวังให้เชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนไทยและเทศ จึงมีการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในงานประชุมทางวิชาการของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคแปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association-PATA) ครั้งที่ 9 ในเดือนมกราคม พ.ศ.2512 ณ หอประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ฝรั่ง) เริ่มเข้ามาเชียงใหม่มากขึ้น ร้านเฟิร์สคอฟฟี่เฮาส์จึงอยู่ใกล้ประตูท่าแพ แหล่งชุมนุมนักท่องเที่ยวในเวลานั้นและในเวลานี้

เนื่องจากเป็นร้านของพี่เขยกับพี่สาว ผมจึงมีโอกาสไปที่ร้านบ่อยๆ แม้ไม่ได้ไปรับประทานก็แค่ไปช่วยดูแลร้าน แม้ไม่ได้ช่วยทำอาหารในครัวก็แค่เตรียมเครื่องดื่มในตอนแรก และตักไอศกรีมในตอนหลัง

นอกจากจะบริการน้ำชากาแฟตามชื่อร้านแล้ว ยังมีรายการอาหารและไอศกรีมอีกหลายอย่าง ทำให้ผมรู้จักและรู้วิธีทำอาหารฝรั่งมากมายไม่ว่าจะเป็นฮ็อตดอก สเต็ก สตูว์ ไปจนถึงพิซซ่า ซึ่งน่าจะเป็นร้านแรกที่เปิดบริการในเชียงใหม่ ยังไม่นับรายการไอศกรีมมากมาย ที่เริ่มรู้ว่ามีแบบธรรมดาและแบบซันเดย์ที่เพิ่มส่วนประกอบอื่น เช่น เยลลี่ สลัดผลไม้ เป็นต้น

ประสบการณ์เรื่องอาหารฝรั่งทำให้ผมไม่อดอยากเวลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ ประสบการณ์ช่วยงานที่ร้านทำให้ผมรู้วิธีหารายได้เสริมจากการไปรับจ้างเป็นรายชั่วโมง ทำงานในห้องอาหารฝรั่งหลายครั้งหลายหน   ประสบการณ์เรื่องครัวและที่นั่งรับประทานทำให้รู้วิธีออกแบบ และเข้าใจขบวนการทำงานและความต้องการของผู้ใช้ และทำให้ผมได้ร่วมงานออกแบบร้านอาหารจานด่วนอย่างไก่ทอดเคเอฟซี เบอร์เกอร์คิง ไอศกรีมบาสกิ้น รอบบิ้นส์ ฯลฯ รวมทั้งโรงแรมระดับห้าดาวของกลุ่มเซ็นทาราในเวลาต่อมา

แม้ว่ากิจการร้านดำเนินไปด้วยดีตามกระแสและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อพี่สาวเสียชีวิต พี่เขยจึงเลิกกิจการ ร้านเฟิร์สคอฟฟี่เฮาส์จึงกลายเป็นเพียงบันทึกหน้าหนึ่งของผมและของเมืองเชียงใหม่

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร