ตอนที่ผมยังเป็นเด็กเล็ก แม่ปิงหรือแม่น้ำปิงนั้นดูกว้างใหญ่เหลือเกิน แบบว่ามองจากฝั่งกาดหลวงและกาดเก๊าลำไยเห็นเจดีย์วัดเกตฯ อยู่ไกลลิบ ยิ่งตอนน้ำดอยสีขุ่นเหมือนสีดินลูกรังหลากมาเต็มตลิ่งยิ่งดูเวิ้งว้างและห่างไกลยิ่งนัก
สำหรับเด็กโตแม่ปิงยามนั้นคือเวลาพิสูจน์ความเป็นชาย หรือสถานที่แสดงความเข้มแข็งโดยการกระโดดลงกลางน้ำที่เชี่ยวแรง แต่สำหรับเด็กเล็กอย่างผมต้องรอจนถึงฤดูแล้ง จึงจะเป็นเวลาที่แม่ปิงยอมให้วิ่งเล่นตามหาดทรายริมฝั่งที่ตื้นเขิน ไม่น่าเชื่อว่าแค่การลากทางมะพร้าวเข้าฝั่งเพื่อจับปลาเล็กปลาน้อยก็เป็นเรื่องสนุกสนานอย่างสุดๆ แล้ว
นอกจากนี้สายน้ำและหาดทรายของแม่ปิงยังช่วยให้พวกเราชาวดอยนึกภาพแม่น้ำสายอื่น หรือแม้แต่ทะเลได้ในชั่วโมงเรียนวิชาภูมิศาสตร์
แม้ว่าแม่ปิงจะกว้างใหญ่แต่มิได้เป็นอุปสรรคขวางการเดินทางติดต่อของคนทั้งสองฝั่ง นอกจากจะมีเรือแจวรอบริการส่งคนข้ามฟากตามจุดต่างๆ แล้ว ตรงกาดเก๊าลำไยจะมีสะพานเล็กๆ ให้เดินข้าม เดิมทีนั้นเป็นสะพานไม้สร้างโดยฝรั่งสมัยที่ยังเข้ามาค้าขายไม้สัก แต่สะพานไม้มักจะถูกน้ำและซุงพัดจนพังเสียหายเป็นประจำ ต่อมาชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างสะพานไม้ไผ่ขนาดเล็ก กว้างไม่ถึงสองเมตร ที่ต้องซ่อมเสริมเปลี่ยนใหม่ทุกปีหลังน้ำป่าหลากมา ความโยกเยกยวบยาบของสะพานทำให้ชาวบ้านสูงอายุหรือผู้หญิงไม่นิยม
แต่สำหรับพวกเรานั้นเป็นเรื่องสนุกตื่นเต้นเหลือเกิน การเดินข้ามขัวแตะหรือสะพานไม้ไผ่จึงเป็นการผจญภัยในจินตนาการของเด็กๆ โดยมีสายน้ำที่ไหลเชี่ยว ลมแรงที่โหมกระหน่ำเป็นฉากหลัง และคนพายเรือหรือคนตกปลาในแม่น้ำเป็นตัวประกอบ
ความสนุกสนานค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับระดับน้ำในแม่ปิงที่ลดลงจนเดินลุยน้ำข้ามได้ในฤดูแล้ง เนื่องมาจากการสร้างเขื่อนชลประทานและฝายทดน้ำเพื่อการเกษตรหลายแห่งทางตอนเหนือ เรือข้ามฟากหายไปพร้อมกับสะพานไม้ไผ่ที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะเทศบาลนครเชียงใหม่ยังสร้างขัวใหม่หรือสะพานนครพิงค์ห่างออกไปเล็กน้อย
ในช่วงเวลาเดียวกันเศรษฐีพ่อค้าผ้าเชื้อสายอินเดียได้บริจาคเงิน ให้เทศบาลสร้างสะพานคอนกรีตตรงตำแหน่งเดียวกันกับขัวแตะ สะพานใหม่ที่มั่นคงและแข็งแรง มีรูปแบบเรียบง่ายและตรงไปตรงมาตามหลักการวิศวกรรมและเทคโนโลยีคอนกรีต จึงต่างไปจากสะพานเก่าที่สั่นไหวและยวบยาบ มีรูปแบบซับซ้อนและผูกพันตามกำลังของไม้ไผ่และเครื่องผูก แม้ว่าขนาดสะพานจะกว้างเท่ากัน แต่สูงกว่านั้นทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนว่าสะพานจะเล็กลงกว่าเดิม เมื่อครั้งเกิดเหตุไฟเผาผลาญกาดทั้งสองให้วอดวาย ชาวบ้านหลายคนเชื่อว่าสะพานเป็นดั่งหอกแหลมพุ่งทะลวง นำความหายนะสู่กาดหลวงและกาดลำไย
หลังอัคคีภัยกาดหลวงและกาดเก๊าลำไยเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม แต่สะพานคอนกรีตหรือสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ยังคงอยู่ให้คนทั้งสองฝั่งอาศัยใช้สอย เช่นเดียวกับอาคารบ้านเรือนฝั่งวัดเกตฯ ยังคงสภาพเดิม เจ้าของอาคารช่วยกันอนุรักษ์เรือนไม้ไว้อย่างสวยงาม โดยเปลี่ยนการใช้สอยจากบ้านพักอาศัยเป็นร้านค้าขายของหรือบริการนักท่องเที่ยว ทำให้ย่านวัดเกตฯ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในปัจจุบัน
แม่ปิงยังคงอยู่ กระแสน้ำยังคงไหลหลากตามฤดูกาล เพียงแต่ปริมาณลดลง สะพานคอนกรีตมาแทนขัวแตะ ตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไยมาแทนกาดหลวงและกาดเก๊าลำไย บ้านเมืองเปลี่ยนไป แต่ภาพเก่ามิได้เลือนหายไปจากความทรงจำ...
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20