ปัญหาจราจรเป็นเรื่องที่เมืองใหญ่ทั่วโลกประสบกันแทบทุกแห่งเช่นเดียวกับจังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจึงจำเป็นอย่างมากเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ (ทน.เชียงใหม่) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการเมือง โดยคุณ “ทัศนัย บูรณุปกรณ์” นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้มีแนวความคิดแก้ไขปัญหาและดำเนินโครงการปรับปรุงขนส่งสาธารณะเมืองเชียงใหม่ ด้วยการใช้รถมินิบัสขนาด 20 ที่นั่งออกให้บริการประชาชน ประเดิมเส้นทาง “ขนส่งอาเขต-สนามบิน”เป็นสายแรกด้วยค่าบริการ 15 บาทตลอดสาย พร้อมผุดไอเดียระบบขนส่งทางน้ำแบ่งเบาการจราจรบนท้องถนน
ตอบโจทย์ชาวบ้าน เติมเต็มช่องว่างของสังคม
จังหวัดเชียงใหม่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการหลั่งไหลของคนมาอยู่ในเมืองจำนวนมาก ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคม ทน.เชียงใหม่มีหลายโครงการที่ตอบโจทย์และเติมเต็มช่องว่างให้กับผู้คนในสังคมมากที่สุด โดยเฉพาะการปรับปรุงขนส่งสาธารณะ แม้มีการชะลอโครงการออกไปเนื่องจากไม่มีงบประมาณในการบริหารจัดการ อีกทั้งรถโดยสารมีขนาดใหญ่ทำให้กีดขวางการจราจรในช่วงเร่งด่วน และสภาพตัวรถที่ค่อนข้างเก่าทำให้มีผู้มาใช้บริการน้อย
ทน.เชียงใหม่จึงนำโครงการขนส่งสาธารณะเมืองเชียงใหม่มาปัดฝุ่นอีกครั้ง ซึ่งอยู่ในแผนงบประมาณเพิ่มเติมปี 2557 และ 2558 ใช้งบประมาณกว่า 12 ล้านบาท จัดซื้อรถเมล์ขนาด 20 ที่นั่งชุดแรก จำนวน 6 คันและใช้ชื่อ “รถโดยสารประจำทางเทศบาลนครเชียงใหม่สาย 14” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “รถเมล์สาย 14” เปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
48 จุดขึ้นลงสะดวกสบาย ถึงทุกที่หมายในเขตเมือง
รถเมล์สาย 14 มีเส้นทางเดินรถเริ่มจากขนส่งอาเขต-โรงเรียนดาราวิทยาลัย-โรงพยาบาลแมคคอร์มิค-โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย (ประตู 3)-โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย (ประตู 1)-ตลาดต้นลำไย-ธนาคารกรุงเทพ (ท่าแพ)-วัดบุพพาราม-ข่วงประตูท่าแพ-วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการเชียงใหม่-โรงแรมโฮเทลเอ็มเชียงใหม่-โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย-วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่-วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่-วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ (หอพระ)-วัดพระสิงห์-โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือฯ-สมาคมจีนเตี้ยเอี้ย-สวนบวกหาด-ศูนย์บริการ LG ประตูเชียงใหม่-ถนนวัวลาย (ร้านข้าวสาร)-ถนนวัวลาย (บ้านกิ่งแก้ว)-ถนนวัวลาย (ทิพเนตร)-ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่-เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต-สนามบินเชียงใหม่
ขากลับจากสนามบินเชียงใหม่-กองบิน 41-สุสานหายยา-ถนนวัวลาย (สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลฯ)-ถนนวัวลาย (วัดศรีสุพรรณ)-ธนาคารกรุงไทย (สาขาประตูเชียงใหม่)-โรงพยาบาลสวนปรุง-โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ-โรงพยาบาลมหาราช (สวนดอก)-ถนนอารักษ์-โรงเรียนหอพระ-วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่-โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย-ถนนราชวิถี (อุดมผล)-ตลาดสมเพชร-หน้าวัดชมพู-ถนนช้างม่อย (ธนาคารทหารไทย)-ถนนช้างม่อย (สหพานิช)-ก่อนขึ้นสะพานนครพิงค์-โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย (ศาลาที่ 2)-มหาวิทยาลัยพายัพ (คณะพยาบาลศาสตร์)-โรงเรียนดาราวิทยาลัย-ศูนย์อนุรักษ์ป่าไม้-ขนส่งอาเขต รวมทั้งหมด 48 จุดจอด
เด็กนักเรียน 10 บาทตลอดสาย ให้บริการเช้าจรดเย็น
การให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. รถออกทุกๆ 40นาที โดยวันจันทร์-ศุกร์มี 18 เที่ยว ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์มี 12 เที่ยว เหตุที่ปรับตารางการเดินรถเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากวันปกติจะมีผู้ใช้บริการมากกว่าวันหยุด อีกทั้งมีแผนที่จะปรับตารางการเดินรถทุกๆ 3 เดือนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ช่วงปิดเทอมอาจลดรอบเดินรถลง หรือเพิ่มจำนวนเที่ยวช่วงเทศกาลท่องเที่ยว เป็นต้น โดยค่าบริการบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 15 บาท เด็กนักเรียน พระภิกษุ สามเณร 10 บาทตลอดสาย
เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ
ระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาถือเป็นช่วงทดลองระบบพบว่ามีผลตอบรับดีขึ้น จากการทดลองนั่งสังเกตการณ์ช่วงเริ่มโครงการตั้งแต่สถานีขนส่งอาเขตถึงปลายทางสนามบินเชียงใหม่ พบว่ามีผู้ใช้บริการ 50-60 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน ดังนั้นจึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น
ทน.เชียงใหม่คาดหวังให้คนที่มาใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย เข้าถึงระบบได้ง่าย โดยรักษาคุณภาพการบริการ การเข้าจอดทุกป้าย วิ่งตามเวลาโดยเกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด ในอนาคตหากมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นก็พร้อมจะเพิ่มจำนวนรถและเส้นทาง ตั้งเป้าหมายเพิ่มอย่างน้อยปีละ 1 เส้นทาง สำหรับผลกำไรขาดทุนไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ แต่การที่ได้บรรเทาปัญหาการจราจรและสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่นั้นคือหัวใจหลัก
ทัศนัย บูรณุปกรณ์
เพิ่มเส้นทาง-จำนวนรถหวังลดยวดยานบนถนน
ทน.เชียงใหม่มีแผนแก้ไขปัญหาจราจรไว้หลายด้าน โดยเฉพาะการลดปริมาณรถและระยะเวลาที่ใช้บนท้องถนนให้น้อยลง โครงการขนส่งสาธารณะที่ดำเนินการแล้วมีแผนเพิ่มจำนวนรถเมล์จำนวน 6 คัน ขยายเส้นทางการเดินรถ 1 เส้นทางภายในปีนี้ คาดว่าจะเป็นเส้นทางขนส่งอาเขตถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานขนส่งและนักวิชาการเพื่อสรุปเส้นทางที่เหมาะสม
อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงเส้นทางการเดินรถในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ อาทิ การปรับเส้นทางเดินรถบริเวณด้านหน้าหน้าเทศบาลให้เป็นการเดินรถทางเดียว แม้จะทางไกลกว่าเดิมเล็กน้อย แต่รถสามารถวิ่งได้เร็วขึ้นใช้เวลาเดินทางน้อยลง ขณะนี้กำลังหารือกับตำรวจและจราจรเพื่อกำหนดเส้นทางที่จะปรับปรุงต่อไป
แผนผลักดันระบบขนส่งทางน้ำ ลดปัญหาจราจร พร้อมเสริมด้านท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอโครงการระบบขนส่งทางน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้รถแก่คณะกรรมการขนส่งสาธารณะ โดยทดลองใช้การขนส่งทางเรือในแม่น้ำปิง เริ่มต้นที่เทศบาลป่าแดดสิ้นสุดที่ตลาดบ้านท่อ งบประมาณไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยจะขอความร่วมจากผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม อำนวยความสะดวกเรื่องท่าน้ำ หากสามารถดำเนินการได้จริงจะช่วยลดปริมาณรถบนท้องถนนได้กว่า 100 คันต่อวัน อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง หากคณะกรรมการเห็นชอบและร่วมผลักดันจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2560
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในระดับท้องถิ่น ที่พยายามสร้างทางเลือกให้ประชาชนทุกระดับหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดปัญหาจราจรบนท้องถนนและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนในสังคม เพราะหากปล่อยปัญหาจราจรเกิดขึ้นโดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไข สุดท้ายอาจเกินกำลังที่ใครจะสามารถเยียวยาได้