ยังได้รับการสนับสนุนและผลักดันอย่างต่อเนื่องสำหรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยล่าสุดกรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินงานก่อสร้างและขยายถนนเพื่อสนุบสนุนหวังเชื่ออีอีซีสู่จังหวัดอื่น โดยเริ่มก่อสร้างแล้ว 7 สาย และมีแผนก่อสร้างถนนเพิ่มเติมอีก 11 สาย
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 กรมทางหลวงชนบทจึงได้ดำเนินการก่อสร้างถนนเพื่อสนับสนุน EEC จำนวน 7 เส้นทางด้วยกัน ดังนี้
1.โครงการก่อสร้างขยายถนนทางหลวงชนบทสาย รย.3013 แยกทางหลวงหมายเลข 331 - ทางหลวงหมายเลข 3191 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ระยะทาง 17.324 กิโลเมตร ปัจจุบันผู้รับจ้างได้เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินงานเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจแนวการก่อสร้างและแนวเวนคืน
2.โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยกทางหลวงหมายเลข 3138 - ทางหลวงหมายเลข 344 อำเภอบ้านค่าย, วังจันทร์ จังหวัดระยอง ระยะทาง 32.807 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างชั้นรองพื้นทางลูกรัง ได้ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร,
3.โครงการก่อสร้างขยายถนนสาย รย.5050 แยกตายนิคมสร้างตนเอง สาย 15-บ.ห้วยโป่ง อ.นิคมพัฒนาจังหวัดระยอง ระยะทาง 10.198 กิโลเมตร งบประมาณ 204 ล้านบาท
4.สายแยก ทล.7-ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 10 กิโลเมตร งบประมาณ 1,499 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างปี 63
5.สะพานข้ามแยกถนนสาย ทช.ชบ.3027 เชื่อม ทล.3138 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี งบประมาณ 285 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 63
6.สาย รย.2015 แยก ทล.331 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ระยะทาง 11.465 กิโลเมตร คาดแล้วเสร็จปี 64
7.สาย ฉช.3001 แยก ทล.314-ลาดกระบัง จ.ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ ระยะทาง 20.328 กิโลเมตร งบประมาณ 3,801 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 63
สำหรับในปี 2562 มีโครงการพัฒนาทางหลวงชนบทเพื่อขับเคลื่อน EEC ได้แก่ ถนนสาย รย.2015 แยก ทล.36-ทล.311 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ระยะทาง 11.465 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 715 ล้านบาท, โครงการแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค ได้แก่ ถนนสาย สป. 1011 แยก ทล.3-เทพารักษ์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 3.875 กิโลเมตร งบก่อสร้าง 990 ล้านบาท, โครงการถนนสายแยก ทล.3097-ศูนย์ราชการจังหวัดนครปฐม จังหวัดนครปฐม ระยะทาง 3.217 กิโลเมตร งบก่อสร้าง 584 ล้านบาท ทั้งสามโครงการใช้งบผูกพัน 3 ปี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาโครงข่ายสะพาน ได้แก่ โครงการข้ามคลองมะลัง อ.เมือง จ.สตูล ความยาวสะพาน 801 เมตร งบประมาณในการก่อสร้าง 510 ล้านบาท และโครงการสะพานข้ามคลองดู อ.ละงู จ.สตูล ความยาวสะพาน 1,320 เมตร งบประมาณในการก่อสร้าง 300 ล้านบาท ทั้งสองโครงการใช้งบผูกพันสามปี
พร้อมศึกษารองรับการลงทุนอีอีซี
นายพิศักดิ์ กล่าวว่า กรมมีแผนเข้าไปพัฒนาถนนในอีอีซี เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ว่าเส้นทางไหนบ้างที่จะสามารถนำเข้ามาบรรจุในแผนการพัฒนาอีอีซี ปัจจุบันทางรัฐบาลมีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่อีอีซีไปทางจังหวัดสระแก้วและปราจีน ซึ่งตอนนี้กำลังปรับปรุงแผน และศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปี 62 ทางกรมทางหลวงชนบทจะทำการสำรวจว่ามีเส้นทางใดบ้างที่จะสามารถนำเข้าไปบรรจุในแผนของอีอีซี เช่น บางพื้นที่ผ่านนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ กรมทางหลวชนบทจะเอาเข้ามาพัฒนาและดูรายละเอียดของรถบรรทุกที่วิ่งในเส้นทางของกรม หากมีจำนวนรถบรรทุกวิ่งเป็นจำนวนมากก็อาจจะมีแนวโน้มการขยายช่องจราจรเป็นสี่ช่องจราจร ปัจจุบันกรมมีแผนดำเนินเพิ่มเติมอีก 11 เส้นทาง โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 64 มีสามรายการที่จะนำเข้าสู่แผนการก่อสร้าง
นายพิศักดิ์กล่าวว่า ในปี 2564 กรมมีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้าง 11 สายทาง ขณะนี้ได้มีการเตรียมการเรื่องของออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเวนคืน (พ.ร.ฎ.) เรื่องการเวนคืนที่ดินแล้ว และมีแนวโน้มว่าในปี 63 ตั้งงบประมาณได้ก็จะมีสัก 2-3 เส้นทางที่มีความพร้อมเริ่มก่อสร้างได้ อย่างไรก็ตาม ต้องดูในส่วนของการเวนคืนมีปัญหามากน้อยแค่ไหน หากไม่มีปัญหาก็สามารถดำเนินการในปี 64
"ถือเป็นความโชคดีของกรมทางหลวงชนบทที่ได้มีการศึกษาเจ็ดเส้นทางโลจิสติกส์ไว้แล้ว เมื่อรัฐบาลประกาศพื้นที่อีอีซี ก็นำทั้งเจ็ดเส้นทางบรรจุไว้ในแผนเพื่อให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ของอีซีซีจึงสามารถดำเนินการได้เลย แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องใช้เวลา เพราะต้องมาดูว่าถนนที่มีสองช่องจราจรจำเป็นต้องขยายเป็นสี่ช่องจราจรหรือไม่" นายพิศักดิ์กล่าว
เร่งเวนคืนพัฒนาถนนกระจายความเจริญ
นายพิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมของงบประมาณปี 2562 กรมได้รับการจัดสรรงบ 46,700 ล้านบาท นอกจากเป็นงบผูกพันแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นค่าเวนคืน อาทิ โครงการเชื่อมต่อการขนส่งที่ จ.สมุทรปราการ โดยได้มีการเวนคืนที่สาย สป.4002 แยกทางหลวงสาย 3344 ถึงบ้านบางพลีใหญ่ ระยะทาง 8 กิโลเมตร ค่าเวนคืน 450 ล้านบาท, สายแยก ทล.3452ไปสี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ระยะทาง 25 กิโลเมตร ค่าเวนคืน 500 ล้านบาท ทั้งสองโครงการจะดำเนินการภายในปี 62
"โครงการในปี 62 จะเป็นการเวนคืนโดยส่วนใหญ่ ตรงไหนเวนคืนน้อยก็จะตั้งงบปี 63 ส่วนโครงการไหนเวนคืนมากก็ตั้งงบปี 64 ทำให้ปี 63 กรมจะไม่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการบำรุงรักษาถนนในชนบท และอำนวยความปลอดภัยมากกว่า" นายพิศักดิ์ กล่าว
นายพิศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจราจร ไม่ต้องการให้เป็นการขยายถนนบนถนนเดิมซึ่งมีชุมชนหนาแน่นอยู่แล้ว หรือไปตัดผ่านชุมชนหนาแน่น เพราะทำให้ประชาชนเดือดร้อน และพื้นที่แพงทำให้ค่าก่อสร้างสูง ทำไมเราไปตัดพื้นที่ที่ประชาชนน้อยค่าเวนคืนถูก สิ่งที่ตามมาจะมีการพัฒนาพื้นที่ เกิดการขยายเมืองออกไป จึงถือเป็นการกระจายการจราจรไปอีกด้านหนึ่ง แนวทางนี้ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่า ดังนั้นสิ่งนี้ที่กำลังดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสอดรับในส่วนการแก้ไขปัญหาจราจร
ที่มา...thaipost
ไม่พลาดทุกข่าวสาร ทันทุกเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์กับ Baania ได้ที่ Line Official >> @baania