จังหวัดเชียงใหม่นอกจากเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษาและด้านสุขภาพแล้ว ด้วยปัจจัยข้างต้นกอปรกับการเตรียมเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทำให้ผู้คนและกลุ่มทุนให้ความสนใจพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับการเคลื่อนตัวของกลุ่มคนจึงขยายตัวรวดเร็วเช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือการคมนาคมในเขตชุมชนที่แออัด และเริ่มขยายตัวตามการเติบโตของเมือง ถนนหลายสายชำรุดทรุดโทรมไม่เอื้อต่อการใช้รถใช้ถนน
บางครั้งก่อให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด ทีมงาน HBG มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณก้องเกียรติ จันทร์หิรัญ” ผู้อำนวยการ สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่) ถึงแผนการพัฒนาและปรับปรุงถนนทางหลวง จุดตัด ทางแยกต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและแม่ฮ่องสอน) ให้เกิดความสะดวก สะอาด สวยงามและปลอดภัยอย่างยั่งยืน
แนวทางการดำเนินงานการพัฒนาเส้นทางเป็นอย่างไร
สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่) สังกัดกรมทางหลวง มีพื้นที่ในความรับผิดชอบทั้งหมด 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและแม่ฮ่องสอน ระยะทางรวมประมาณ 4,700 กิโลเมตร ประกอบด้วย 6 แขวงการทางและ 1 สำนักงานบำรุงทางในสังกัด ได้แก่ แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 1, แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 2, แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 3, แขวงการทางลำพูน, แขวงการทางลำปาง, สำนักงานบำรุงทางลำปางที่ 2 และแขวงการทางแม่ฮ่องสอน
มีภารกิจในการดูแลรักษาปรับปรุงพัฒนาเส้นทางสายหลักและจุดตัดทางแยก ถนนที่เชื่อมต่อกับทางหลวงสายหลัก ถนนระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดสองข้างทางให้สวยงามและร่มรื่น ทั้งนี้กรมทางหลวงจะมีสำนักแผนงานที่ทำหน้าที่สำรวจ ศึกษาการเจริญเติบโต-ปริมาณการจราจร ก่อนจะมีการจัดสรรงบประมาณการก่อสร้างหรือขยายเส้นทาง
การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 และแผนในปีงบประมาณ 2557 เป็นอย่างไร
ในปีงบประมาณ 2556 ที่ผ่านมา สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่) ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้สำนักแผนงาน กรมทางหลวงได้วางแผนการพัฒนาเส้นทาง และนำมาปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น จังหวัด และทิศทางความเจริญของแต่ละพื้นที่ จนเป็นแผนพัฒนาเส้นทางหลวง มีโครงการก่อสร้างและปรับปรุงทางหลวงขนาดใหญ่แบ่งออกเป็น 4 ช่วงคือ
1) โครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างปัจจุบัน (ปีงบประมาณ 2556) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางหลวงหมายเลข 121 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 107 หน้ากองพันสัตว์ต่าง ทางที่จะไปอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน งบประมาณ 600 ล้านบาท ดำเนินการแล้วร้อยละ 10, โครงการขยายถนนจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 1317 (ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง)ระยะทางกว่า 12 กิโลเมตรงบประมาณ 300 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 70 และโครงการขยายถนนจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 108 (จอมทอง-ฮอด) ระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร งบประมาณ 600 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นเปิดให้ใช้งานแล้ว
2) โครงการที่อยู่ในงบประมาณปี 2557 อยู่ในระหว่างหาผู้รับจ้าง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ทางหลวงหมายเลข 11 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 1001 งบประมาณ 420 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางหลวงหมายเลข 11 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 121 งบประมาณ 1,200 ล้านบาท
3) โครงการที่อยู่ในงบเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เป็นการบูรณะเส้นทางหลวงจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการบูรณะทางหลวงหมายเลข 1 (ตาก-พะเยา) ตอน 3+4 ระยะทาง 156 กิโลเมตร งบประมาณ 2,250 ล้านบาท, โครงการบูรณะทางหลวงหมายเลข 1095 (ทางแยกตลาดแม่มาลัย-แม่ฮ่องสอน) ระยะทาง 87 กิโลเมตร งบประมาณ 1,200 ล้านบาท และโครงการขยายถนนจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ตอน 1-4 ระยะทาง 109 กิโลเมตร งบประมาณ 5,800 ล้านบาท
คุณก้องเกียรติ จันทร์หิรัญ ผู้อำนวยการ สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่)
ทั้งนี้งบเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีจึงต้องชะลอโครงการไว้ก่อน แต่ทั้งนี้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการใดมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น เป็นย่านชุมชนหรือการจราจรมีความหนาแน่น ต้องมีการจัดสรรให้เข้าไปอยู่ในปีงบประมาณ 2558 เป็นต้น
4) แผนพัฒนาโครงการในอนาคต จำนวน 15 โครงการ อาทิ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีโครงการขยายถนนจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 1001 (สันทราย-พร้าว) ระยะทาง 50 กิโลเมตร งบประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือโครงการขยายถนนจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 121 (ทางเลี่ยงเมืองตอน 1 วงแหวนรอบที่ 3) ระยะทาง 29 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท เป็นต้น
โดยแผนพัฒนาทั้ง 15 โครงการจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2559-2561ทั้งนี้ด้วยงบประมาณของประเทศที่มีค่อนข้างจำกัดอาจทำให้บางโครงการต้องขยายเวลาดำเนินการออกไป แต่จะพิจารณาจากความจำเป็นเร่งด่วนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และหากโครงการใดดำเนินการเสร็จก็จะส่งมอบให้กับสำนักทางหลวง และแขวงการทางในพื้นที่ดูแลรักษาให้คงสภาพการใช้งานอย่างยั่งยืนต่อไป
แนวโน้มการพัฒนาเส้นทางกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร
ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มขยายตัวออกไปตามถนนวงแหวนรอบกลางและรอบนอกมากขึ้น โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการพัฒนาที่รวดเร็วไม่น่าเป็นห่วงเท่าปริมาณสิ่งก่อสร้างที่มีมากเกินความต้องการ อยากให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์คำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างปริมาณที่อยู่อาศัยและความต้องการให้มากขึ้น
อีกด้านหนึ่งเมื่อมีการพัฒนาด้านที่พักอาศัยเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาถนนหนทางเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนนั้นก็เพิ่มขึ้นตาม ปัจจุบันถนนในหลายพื้นที่การจราจรเริ่มติดขัดและยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุง ทั้งนี้การดำเนินการที่ถูกต้องนั้นการพัฒนาทางหลวงจะต้องรุดหน้ากว่าการเติบโตของเมือง ต้องมีการศึกษาและพัฒนาเส้นทางก่อนจึงตามมาด้วยชุมชนที่เกิดขึ้น แต่การพัฒนาปัจจุบันค่อนข้างล่าช้าจากงบประมาณของประเทศที่มีจำกัด ทำให้ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จะดำเนินตามแผนที่วางไว้อย่างดีที่สุด
นอกจากปัญหาเรื่องงบประมาณแล้วยังมีปัญหาการรุกล้ำเขตทางหลวง โดยเฉพาะเขตชุมชนในเมือง ทั้งกีดขวางทางจราจร การทำทางเข้าออกปิดกั้นทางระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามมา อีกปัญหาหนึ่งคือการวางป้ายประกาศโฆษณาบนเขตทางหลวง ทำให้ปกปิดป้ายบอกเส้นทางของกรมทางหลวง อีกทั้งดูรกรุงรังไม่สวยงามแก่ผู้พบเห็น ยิ่งเปิด AEC มีชาวต่างชาติผ่านไปมาก็คงเป็นภาพที่ไม่น่ามองมากนัก
สำนักทางหลวงฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงรุกกับชุมชน ในการพูดคุยตักเตือนกระทั่งดำเนินการตามกฎหมายในรายที่มีการขัดขืนหรือไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งนี้จึงอยากขอความร่วมมือจากประชาชน ชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกันรักษาความเป็นระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ถนนทุกสายสามารถอำนวยความสะดวกต่อพี่น้องประชาชน รวมถึงเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสวยงามอีกด้วย
จากงบประมาณที่มีจำกัดแม้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเส้นทางคมนาคม เพื่อใช้รองรับการเติบโตของเมืองเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ จะทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ที่ถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเตรียมแผนในการพัฒนาเส้นทางเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง จึงมีความสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องและทันท่วงที