รู้หรือไม่ว่าปริมาณรถยนต์ 1/3 ของการจราจรบนท้องถนนคือ รถยนต์ที่กำลังวนหาที่จอดรถ?
การขับรถวนหาที่จอด นอกจากจะเป็นการเสียอารมณ์ เสียเวลา ยังเป็นการทำให้รถติดมากขึ้น เพิ่มมลภาวะในอากาศ และเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุอีกด้วย ในประเทศไทยเรานี้ปัญหาเรื่องที่จอดรถกลายเป็นปัญหาประจำเมืองมาอย่างนานช้านาน กว่าที่จะได้ที่จอดรถก็ต้องวนไม่รู้กี่รอบ จะไปจอดหน้าบ้านคนอื่น รถก็อาจจะโดนทุบได้ แล้วแบบนี้ต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาเรื่องการค้นหาที่จอดรถได้?
ตอนนี้ในต่างประเทศได้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยค้นหาที่จอดรถแบบ Real Time ที่สามารถแจ้งให้เราทราบได้ว่า จุดไหนของเมืองมีที่จอดรถว่างอยู่ คล้ายๆ กับระบบที่จอดรถอัจฉริยะของห้างสรรพสินค้าที่จะช่วยบอกเราว่า ที่จอดรถจุดไหนกำลังว่างและชั้นไหนเหลือที่จอดรถอยู่อีกกี่คัน หนึ่งในผู้พัฒนาที่กำลังใช้ระบบนี้คือ SIEMENS บริษัทที่ค้นคว้าและพัฒนาเกี่ยวกับเมือง Smart City ในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองด้วยการพัฒนาระบบค้นหาที่จอดรถและการสร้างลานที่จอดรถอัจฉริยะในเมืองต่างๆ
จากการศึกษาพบว่าเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยลดเวลาในการตามหาที่จอดได้ถึง 43% ช่วยลดระยะทางในการใช้รถ (ลดเลขไมล์) ได้ถึง 30% และช่วยลดการจราจรบนท้องถนนได้อีก 8% รวมไปถึงการลดคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) ที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การทำงานของระบบนี้จะใช้การเก็บข้อมูลจากตัวเซ็นเซอร์ที่ฝังไว้ที่พื้น หรือติดอยู่เหนือที่จอดรถซึ่งอาจจะติดกับผนังอาคาร เสาไฟถนน เสาไฟฟ้าได้ ซึ่งตัวเซ็นเซอร์นี้จะใช้การส่งสัญญาณไปยังพื้นที่รอบๆ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ว่าง โดยตั้งค่าให้สามารถแยกแยะระหว่างรถที่มาจอดหรือสิ่งกีดขวางอื่นซึ่งเทียบจากขนาด ทั้งนี้จะไม่มีการเก็บข้อมูลด้วยการบันทึกภาพเพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัว สามารถตั้งค่าได้ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ที่ห้ามจอด เลนจักรยาน หรือช่องทางฉุกเฉินสำหรับรถพยาบาล
เซ็นเซอร์ตัวหนึ่งจะสามารถส่งสัญญาณได้ครอบคลุมพื้นที่จอดรถได้ 5-7 คัน มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ สามารถตรวจสอบความหนาแน่นของการจราจร แจ้งจุดที่เกิดอุบัติเหตุหรือจุดที่จอดรถเกินแนวจอด ทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลการเดินของคนที่เดินผ่านไปมาได้ด้วย ซึ่งหากมีการติดตั้งไว้ทั่วเมืองก็จะสามารถเก็บข้อมูลร่วมกันกับศูนย์ข้อมูลบริการข้อมูลการจราจรในท้องถิ่นเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
สำหรับผู้ขับขี่สามารถจะรับข้อมูลต่างๆ ได้จากระบบช่วยเหลือในการขับขี่ ได้แก่ แอปพลิเคชันบนมือถือสมาร์ทโฟน นาวิเกเตอร์ติดรถยนต์ (Sat-nav) และ ป้ายไฟแสดงที่จอดรถว่างซึ่งติดตั้งอยู่ในเมือง ทั้งนี้ตัวเซ็นเซอร์จะเชื่อมต่อกับศูนย์ข้อมูลบริการข้อมูลการจราจรในท้องถิ่น ทำให้สามารถทราบสภาพการจราจรและข้อมูลในการเดินทางอื่นๆ ผู้ขับขี่จึงสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้ ซึ่งหากพื้นที่ที่ต้องการจะไปไม่มีที่จอดรถ ระบบจะช่วยแนะนำการเดินทางขนส่งมวลชนอื่นๆ พร้อมด้วยเวลาที่ขนส่งมวลชนจะออกให้ด้วย หรือจะเลือกแนะนำที่จอดรถที่อยู่ไกลขึ้นก็สามารถทำได้เช่นกัน
ดูแล้วหากว่าเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาและนำไปใช้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ผู้คนก็คงจะสะดวกในการใช้ชีวิตมากขึ้นนะครับ อย่างไรก็ตามอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดและกฎหมายต่างกัน ซึ่งปัญหาในบ้านเราที่ยังแก้ไขไม่ได้คือ เรื่องการจอดรถแบบผิดกฎหมาย การจอดรถค้างไว้เป็นระยะเวลานาน การจอดรถส่วนตัวไว้นอกบ้าน หรือไม่มีการควบคุมปริมาณที่จอดรถให้เหมาะกับความหนาแน่นของเมือง ทำให้ปัญหาที่จอดรถยังไม่สามารถแก้ไขได้เสียที ซึ่งต่อให้นำระบบนี้มาใช้ที่จอดรถก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่จอดรถ คงต้องค่อยๆ แก้ไขกันไปหลายจุดเลยทีเดียว
ที่มา: https://www.siemens.com