Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

“ที่ดินทำสวน ทำไร่ และการเกษตร” ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

บริเวณรอบนอกเชียงใหม่ ถ้าสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่ามีที่ดินอยู่เป็นจำนวนมากที่มีสภาพเป็นสวนลิ้นจี่ สวนลำไย หรือเป็นที่ดินทำการเกษตรในลักษณะต่างๆกัน หลายคนอยากลงทุนหรือซื้อที่ดินแบบนี้ แต่ส่วนใหญ่มักลังเล ไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้าต่อกัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการทำสวน ทำไร่ หรือทำการเกษตร ดีพอ ทั้งในเรื่องการดำเนินงาน และผลตอบแทนที่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าเมื่อเข้าถือครองเป็นเจ้าของทำสวนหรือทำไร่ในที่ดินเหล่านี้แล้ว  คนทำอาชีพเกษตรกรจะต้องมีภาษีอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อช่วยให้ผู้คิดลงทุนในที่ดิน เกิดความกระจ่าง สบายใจ และปฏิบัติได้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จึงขออนุญาตพาผู้อ่าน มารู้จักกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำสวน ทำไร่ หรือกิจการการเกษตรต่างๆ หรือภาษีสำหรับเกษตรกรเพื่อดูว่าเวลาถือครองที่ดินประเภทนี้ไว้ จะมีภาษีอะไร ที่ต้องเตรียมตัว รับมือไว้บ้าง

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปกติแล้ว ชาวสวนชาวไร่ที่ขายพืชผลทางการเกษตรที่ไม่แปรรูป เช่น ลิ้นจี่สด ลำไยสด จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากมีการขายผลผลิตทั้งสดและแปรรูป และมีรายได้เกินกว่าปีละ 1.8 ล้านบาทเมื่อไหร่ จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

ซึ่งทำให้เวลานำผลผลิตออกขาย จะต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งนั่นเท่ากับว่าผู้ซื้อเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในการนี้ เรามีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีหรือบิลเงินสดให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐานด้วย

เช่นเดียวกับเวลาซื้อวัตถุดิบใดๆ ราคาสินค้าที่เราซื้อมา ก็มักจะบวกภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว และได้รับใบกำกับภาษีจากผู้ขาย ยกเว้นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่นซื้อเมล็ดพันธุ์ ผลไม้ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เราก็ไม่ต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เราก็ไม่ได้รับเครดิตภาษีซื้อเช่นกัน

ภาษีเงินได้

หากผลผลิต ที่ได้ นำมาใช้บริโภคกันเองภายในครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพียงนำมาแจกจ่ายให้กับมิตรสหาย จะไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะถือว่าไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิดขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี หากมีการขายเกิดขึ้นเมื่อไหร่ รายได้จากการขายผลผลิตในสวน ในไร่ กฎหมายบ้านเราถือว่าอยู่ในข่ายต้องยื่นเสียภาษีเงินได้ จะยกเว้นให้ก็เฉพาะเงินได้ของชาวนาที่ได้จากการขายข้าว อันเกิดจากกสิกรรมที่ตนและหรือครอบครัว ได้ทำเอง เท่านั้น

ซึ่งกรณีเข้าข่ายต้องเสียภาษีเมื่อไหร่ สรรพากรกำหนดให้ผู้มีเงินได้ มีหน้าที่ ต้องยื่นเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง คือในตอนกลางปีและในตอนสิ้นปี

สำหรับเจ้าของที่ดินที่เป็นบุคคลธรรมดา เวลายื่นเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี จะใช้แบบ ภ.ง.ด.94 โดยต้องยื่นภายใน 30 กันยายน และการตอนปลายปีจะใช้แบบ ภ.ง.ด. 90 โดยต้องยื่นภายใน 31 มีนาคมปีถัดไป

ส่วนกรณีเจ้าของที่ดินเป็นนิติบุคคล ภาษีเงินได้กลางปีจะยื่นโดยใช้ ภ.ง.ด. 51 ภายในสองเดือนนับจากวันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี และครั้งที่สองเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี โดยใช้ ภ.ง.ด. 50 โดยต้องยื่นภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

 เป็นที่น่าสังเกตว่า ครรลองปฏิบัติโดยทั่วไป หากเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีการขายผลผลิตให้กับบุคคลธรรมดาทั่วไป แม้อยู่ในข่ายมีเงินได้ ต้องยื่นเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่ปกติจะไม่มีใครยอมเข้าสู่ระบบภาษีกันเลย เพราะถือว่าไม่มีหลักฐานผูกมัดใดๆ สรรพากรยากจะติดตามได้

จะยื่นเสียภาษีเงินได้กัน ก็เฉพาะกรณีที่มีการขายให้กับกิจการที่เป็นนิติบุคคล ที่มีการถูกหักภาษีเงินได้ ณ.ที่จ่ายไว้ เนื่องจากรายรับที่ได้จากการขายแบบนี้ ถือว่ามีหลักฐานผูกมัดค้ำคออยู่ สรรพากรสามารถติดตามได้ โดยตรวจเช็ครายได้ได้จากหลักฐานการหักภาษี ณ.ที่จ่าย ที่หักไว้

ทั้งนี้กฎหมายภาษีในปัจจุบัน กำหนดให้ผู้ปลูกหรือขายสินค้าพืชไร่ 8 ชนิด คือยางแผ่นหรือยางชนิดอื่น มันสำประหลัง ปอ ข้าวโพด อ้อย เมล็ดกาแฟ ผลปาล์มน้ำมัน หรือข้าว ให้แก่บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น จะต้องถูกหักภาษี ณ.ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 0.75 ไว้เสมอ

สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นสวน ไร่ หรือทำการเกษตรต่างๆ ใด หากอยู่ข่ายต้องยื่นเสียภาษีเงินได้เมื่อไหร่ ยังมีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย เพื่อใช้ประกอบการยื่นเงินได้พึงประเมินและค่าใช้จ่ายด้วย

นอกจากนั้นยังมีสิทธิที่จะเลือกหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาจ่ายได้ด้วย โดยหากเป็นเงินได้ที่เกิดจากการเพาะปลูกไม้ยืนต้นหรือสวนยาง หากเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย จะหักได้ 80 % แต่หากเป็นการทำเกษตรกรรมประเภท ไม้ล้มลุกและธัญชาติ  รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ด้วย เงินได้จะสามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ถึง 85%

แต่สำหรับกรณีเจ้าของเป็นบริษัทหรือนิติบุคคล จะไม่มีสิทธิเลือกหักเป็นการเหมาได้ จำเป็นต้องหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยต้องมีการจัดทำบัญชีธุรกิจขึ้นประกอบตามที่กฎหมายกำหนดเสมอ

ภาษีหัก ณ.ที่จ่าย

กรณีที่มีลูกจ้างและคนงานในไร่และในสวนจำนวนมาก ตัวเราในฐานะเจ้าของ เมื่อมีการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการให้กับพนักงาน ลูกจ้างและคนงาน มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ.ที่จ่ายไว้ทุกครั้งเมื่อจ่ายเงิน และนำส่งสรรพากรทุกครั้ง

ปกติภาษีหัก ณ.ที่จ่ายตัวนี้ จะนิยมทำกันเฉพาะกรณีเจ้าของเป็นนิติบุคคลเท่านั้น แต่สำหรับกรณีเจ้าของบุคคลธรรมดา ที่มีลูกจ้างไม่มาก และอยู่นอกระบบภาษีจะไม่นิยมหักภาษี ณ.ที่จ่ายกันแต่อย่างใด

สำหรับการยื่นเสียภาษีนั้น สำหรับเจ้าของที่ดินที่เป็นบุคคลธรรมดา สามารถใช้เลขประจำตัวบัตรประชาชนได้เลย แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลจะต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ใช้เลขเดียวกับเลขทะเบียนนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์เมื่อมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรแล้ว

หวังว่าสาระความรู้เรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำสวน ทำไร่ หรือกิจการการเกษตรต่างๆ หรือภาษีสำหรับเกษตรกร รวมถึงเจ้าของที่ดินที่จะให้ลงทุนซื้อเพื่อให้เช่าที่ต้องเสียมีอะไรกันบ้าง เพื่อจะได้เตรียมตัวและเตรียมเงินให้พร้อมกันครับ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร