Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ทุนยักษ์ใหญ่อสังหาฯ ไทย - ต่างชาติสนร่วมลงทุน เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

“คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี” เผยทุนยักษ์ใหญ่อสังหาฯ ไทย-ต่างชาติ สนร่วมลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยใน “เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง” หลังรัฐบาลผลักดัน EEC หนุนโครงการเป็นไปได้สูง คาดพัฒนาแล้วเสร็จภายใน 5 ปี

ดร.ขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ กรรมการบริหาร บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด หรือ COT เปิดเผยถึง “โครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง”ว่า แนวคิดดังกล่าวบริษัทได้นำเสนอกับสภาอุตสาหกรรมและเทศบาลบ้านฉาง เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่า ที่ผ่านมา พื้นบริเวณใกล้เคียง อ.บ้านฉาง คือ มาบตาพุด ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลากหลายอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ สิ่งแวดล้อมไม่ดี จึงต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการสร้างเมืองอัจฉริยะขึ้นมา ดังนั้น จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวไปเสนอหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรม เทศบาลตำบลบ้านฉาง ซึ่งเทศบาลฯ ได้เสนอที่ดินบริเวณบ้านพยูน หมู่ 4 เขต ต.บ้านฉาง จำนวน 1,885 ไร่ ที่ยังมีระบบนิเวศน์ที่ดี ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนในพื้นที่ โดยมีผู้ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 60 ราย

จากการสำรวจพบว่า พื้นที่ดังกล่าวเหมาะสำหรับการสร้างเป็นเมืองใหม่มาก เพราะอยู่ในทำเลที่ดีมีความพร้อมด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการคมนาคมที่สมบูรณ์ เช่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) สนามบินอู่ตะเภา ท่าเทียบเรือน้ำลึกมาบตาพุด โครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก หวังจะสร้างให้เป็นซีบีดีของบ้านฉาง และให้เป็นเมืองแห่งอนาคต ที่จะมีบทบาทภายใต้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคอื่นของโลก ส่งผลให้เมืองใหม่ฯ เป็นศูนย์กลางของธุรกิจ 

ด้านนายสิทธิศักดิ์ ปฐมวารี นักผังเมืองอาวุโส COT กล่าวว่า การจัดรูปที่ดินในโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉางทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี ต้องมีการออกโฉนดที่ดินใหม่ ซึ่งเจ้าของที่ดินทุกแปลงจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ดินด้วย โดยแต่ละแปลงอาจจะนำมาใช้บางส่วน หรือตั้งแต่ 10% ขึ้นไป แล้วแต่ความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดรูปที่ดิน ทั้งนี้ ที่ดินทั้งหมดจะมีบางส่วนที่มีหน้ากว้างติดทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบในการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะ ประมาณ 10,000 ล้านบาท

โดยงบประมาณจะมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. จากการจัดตั้งในรูปแบบของสหกรณ์ ที่เจ้าของที่ดินจะมีส่วนร่วมด้วย และสามารถแสวงหาผลกำไรในการลงทุนจากการพัฒนาเมืองใหม่นี้ 2. การระดมทุนของภาคเอกชน ด้วยการนำเสนอให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในส่วนของที่พักอาศัยแนวราบเท่านั้น เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้ดี และเพื่อไม่ให้เกิดความต่างระดับทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีสัดส่วนมากถึง 44% ซึ่งที่ผ่านมา ได้เสนอไปยังกลุ่มซีพี ที่คาดว่าน่าจะให้บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาพัฒนา และบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท อีสเทิร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) ให้ความสนใจ และยังมีบริษัท อสังหาฯ ในท้องถิ่นให้ความสนใจอีกหลายราย อีกทั้งยังมีกลุ่มนักลงทุนจากเกาหลีก็สนใจเข้ามาลงทุน รวมไปถึงญี่ปุ่น ที่เจรจาผ่านสถานทูต โดยให้ความสนใจที่จะเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินอู่ตะเภา ไปยังเมืองใหม่อัจฉริยะนี้ด้วย ทั้งนี้ ยังไม่ได้เจรจาในรายละเอียดว่าจะให้ลงทุนในส่วนไหนบ้าง

“เราคิดโมเดลนี้เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนใน 3 จังหวัดเขตระเบียงเศรษฐกิจ หรือ EEC เมื่อปีที่ผ่านมา ยิ่งส่งเสริมให้โครงการเมืองใหม่นี้มีความเป็นไปได้มากขึ้น และทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการทั้งเจ้าของที่ดิน และหน่วยงานต่าง ๆ มีความมั่นใจ และพร้อมที่จะผลักโครงการให้เป็นรูปธรรม คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาทั้งโครงการประมาณ 5 ปี ปัจจุบัน COT ได้ใช้งบลงทุนเองทั้งหมดไปแล้ว 15%” นายสิทธิศักดิ์ กล่าว

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ ได้ชู 3 ประเด็นหลัก คือ 1. เมืองใหม่ที่พัฒนาบนพื้นที่สีเขียว สามารถออกแบบระบบสาธารณูปโภคได้ใหม่ทั้งหมด ตามมาตรฐานที่ต้องการ 2. เป็นเมืองที่เกิดจากความต้องการของท้องถิ่น และความร่วมมือของประชาชน และ 3. เป็นเมืองที่สมบูรณ์ มีประชากรทุกสาขาอาชีพ มีการพักอาศัย และประกอบธุรกิจเป็นเมืองภายใต้การบริหารของเทศบาลตำบลบ้านฉาง ที่ในอนาคตจะกลายเป็นต้นแบบให้เทศบาลอื่นสามารถนำไปใช้ได้

ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไปก็จะดำเนินการจัดรูปที่ดินเป็นลำดับถัดไป ซึ่งที่ผ่านมา ได้เสนอเรื่องไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว และได้รับความเห็นชอบในระดับหนึ่ง คาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2560 นี้

ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีกับองค์กรภาคเอกชน มีการพัฒนาระบบข้อมูลเปิด (Open Data) ให้คนเข้าถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแหล่งธุรกิจ และรองรับการเติบโตของประชากรในอนาคต มีการผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจากระบบผลิตไฟฟ้า และความร้อนร่วม และระบบผลิตจากโซลาร์ฟาร์ม และบริหารจัดการโดยระบบโครงข่ายอัจฉริยะที่ควบคุม และจัดการการผลิต และใช้พลังงานในพื้นที่ตนเอง ติดตั้งระบบการจัดเก็บพลังงานแบบผสมผสาน (Hybrid Solar-Wind Power with battery system) ลดการใช้พลังงานให้ต่ำกว่าเกณฑ์ ให้มีอาคารสมดุลพลังงาน (Net Zero Energy Building) และบริการรถไฟฟ้าสาธารณะที่ให้บริการแก่คนทุกกลุ่ม (Universal Design) สนับสนุนการเดินทางด้วยทางเดินเท้า และทางจักรยานภายในเมืองที่ประหยัดพลังงาน และส่งเสริมสุขภาวะแก่ผู้อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐานใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ IoT และโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง บรอดแบรนด์เพื่อการติดต่อสื่อสาร และบริหารจัดการอย่างทั่วถึงแก่ผู้รับบริการ ทุกกลุ่มทุกเวลา ให้มี Free WiFi ที่มี WiFi ความเร็วสูงให้ใช้ในย่านธุรกิจ และท่องเที่ยวในเมือง และการควบคุมการจราจรจะถูกควบคุม และบริหารจัดการด้วยนวัตกรรม OCR : Optical Character Recognition และยังเป็นระบบรักษาความปลอดภัยของเมืองด้วย

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ที่จะเป็น แหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรมวิชาชีพ และตามอัธยาศัย และการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนด้วย Social Network, Application และ Web Portal การออกแบบ และควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อการรักษาระบบนิเวศให้สมดุลกับการดำรงอยู่ของเมืองให้เป็นเมืองใหม่เชิงนิเวศ (eco new town) การบริหารจัดการขยะมีระบบถังเก็บขยะอัจฉริยะที่เก็บ ข้อมูลปริมาณขยะและความถี่ในการรวบรวมขยะ และใช้เทคโนโลยีการจัดการ และเก็บกลับคืนทรัพยากรจากขยะจากแหล่งธุรกิจ และพักอาศัย เพื่อนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ และลดอัตราการเกิดขยะมูลฝอย น้ำเสียจะถูกรวบรวม และบำบัด จนถึงระดับตติยะภูมิ (tertiary treatment) เก็บกักในบึงประดิษฐ์ที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก ข้อมูลด้านระบบนิเวศในเมืองจะถูกเก็บรวบรวม และปรับปรุงข้อมูลใหม่ เพื่อติดตามตรวจสอบรักษา และเรียนรู้อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของพลเมืองในทุกระดับ โดยจะสร้างกลไก และแพลตฟอร์ม ให้เป็นเวที สำหรับให้พลเมืองร่วมแสดงความคิดเห็นในโครงการพัฒนา และกิจกรรมต่าง ๆ ของเมือง และเสนอความต้องการผ่านระบบเว็บพอร์ทัลตลอดเวลา

ที่มาและภาพประกอบ : manager

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร