ช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมาสภาวะเศรษฐกิจของไทยเกิดความผันผวน หลายธุรกิจที่ต้านแรงเสียดทานไม่ไหวต้องปิดตัวไป บางธุรกิจปรับตัวได้ทันเตรียมรับมือความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นรอเวลาฟื้นกลับ หลายธุรกิจจึงกลับคืนมาอีกครั้งรวมถึงธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้อาจเพราะสถาบันการเงินเปิดกว้างการปล่อยกู้และสินเชื่อต่างๆ
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หน่วยงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ขาดโอกาสสามารถดำเนินการและขยายธุรกิจได้อย่างมีเสถียรภาพ HBG ขอต้อนรับศักราชใหม่โดยได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณดำริ ขวัญสุวรรณ ผู้จัดการอาวุโส บสย.สาขาเชียงใหม่ ถึงนโยบายและแผนในการให้การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ในอนาคต
ผลการดำเนินงานของ บสย.สาขาเชียงใหม่เป็นอย่างไร
จากผลการดำเนินงานของ บสย.สาขาเชียงใหม่ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 มีการค้ำประกันสินเชื่อสะสมรวมทั้งสิ้น 2,115 ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 6,200 ล้านบาทเป็นการค้ำประกันแก่ผู้ประกอบการ SMEs 3จังหวัดแรกได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 736 ราย, วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 2,108 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดเชียงราย 386 ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 1,348 ล้านบาท และจังหวัดลำปาง 264 รายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 686 ล้านบาท
ขณะปี 2557 (ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557) การค้ำประกันสินเชื่อในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือลดลงจากปี 2556 กว่าร้อยละ 50 เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมือง ทั้งนี้การค้ำประกันสินเชื่อในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือสะสมรวมทั้งสิ้น 1,128 ราย วงเงินค้ำประกัน 3,848 ล้านบาทเป็นการค้ำประกันแก่ผู้ประกอบการ SMEs 3 จังหวัดแรกได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 524 ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 1,354 ล้านบาท
รองลงมาเป็นจังหวัดเชียงราย 310 ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 803 ล้านบาท และจังหวัดลำพูน 173 ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 496 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจที่ขอค้ำประกันสินเชื่อ 4 อันดับแรก ได้แก่ เกษตรกรรม ร้อยละ 18, อาคารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 17, ธุรกิจบริการ ร้อยละ 15 และการผลิตร้อยละ 14 ตามลำดับ
ส่วนแนวโน้มปี 2558 คาดว่าการค้ำประกันสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 หากสถานการณ์ทางการเมืองและสภาวะเศรษฐกิจคงที่ ประกอบกับปัจจัยการขยายตัวด้านธุรกิจท่องเที่ยว, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์, ระบบสาธารณูปโภค ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีการขยายตัวตามไปด้วย
แนวโน้มการให้ค้ำประกันสินเชื่อ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างไร
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา บสย.ให้บริการด้านการค้ำประกันสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน, เติบโตได้อย่างมั่นคง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยยังคงสนับสนุนกลุ่ม SMEs ทุกประเภททุกธุรกิจ ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย มีสินทรัพย์ถาวรสุทธิไม่เกิน 200 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี
ทั้งนี้การให้ค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวได้รวมถึงกลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ถือว่ามีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมายังไม่มีธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เข้ามาขอค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่มีการลงทุนสูงและเป็นกลุ่มทุนที่มีศักยภาพทางการเงินอยู่แล้ว แต่จะมีกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่เข้ารับบริการ เช่น กลุ่มธุรกิจเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะต่างๆ ปัจจุบันมีกว่า 61 ราย วงเงินค้ำประกันกว่า 118 ล้านบาท, กลุ่มธุรกิจไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้กว่า 13 ราย วงเงินค้ำประกันกว่า 29 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความประสงค์จะลงทุนธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น ตึกแถว, อาคารพาณิชย์, ทาวน์โฮม, คอนโดมิเนียม เป็นต้น หากผ่านการพิจารณาจากสถาบันการเงินและอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น บสย.ก็พร้อมให้การสนับสนุนและสามารถเข้ามาปรึกษาและขอคำแนะนำได้
คุณดำริ ขวัญสุวรรณ ผู้จัดการอาวุโส บสย.สาขาเชียงใหม่
แผนและนโยบายการดำเนินงานของ บสย.ในปี 2558 เป็นอย่างไร
ในปี 2557 บสย.มีผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อประเภทต่างๆ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.โครงการ Portfolio Guarantee Schem ระยะที่ 5 (PGS5) วงเงินค้ำประกันรวมทั้งประเทศจำนวน 240,000 ล้านบาท เน้นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทุกประเภท ในวงเงินค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ผู้ขอค้ำต้องมีหลักประกันอย่างน้อยร้อยละ 30 ของสินเชื่อรวม โดยอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหม่ (New/Start-Up SMEs) วงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มทำธุรกิจหรือผู้ที่จดทะเบียนการค้าไม่เกิน 3 ปี ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เป็นคนไทย ต้องการทำธุรกิจภายในและต่างประเทศในวงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 2 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 7 ปี มีอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี
3.โครงการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน เสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชนด้วยวงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท ให้การค้ำประกันสูงสุด 3 ล้านบาทต่อรายรวมทุกธนาคาร ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 7 ปี โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี
4.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs รายย่อย (Micro SMEs) ด้วยวงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท เหมาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยพ่อค้า แม่ค้า ค้ำประกันตั้งแต่ 10,000 บาท ไม่เกิน 200,000 บาทต่อรายรวมกันทุกธนาคาร ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 10 ปี โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี
โดยทุกโครงการจะฟรีค่าธรรมเนียมในปีแรก สิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หรือวงเงินค้ำประกันครบแล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน ทั้งนี้จะบรรจุทั้ง 4 โครงการดังกล่าวไว้ในแผนการดำเนินงานปี 2558 และคาดว่าจะมีโครงการเพิ่มเติมอีก 2-3 โครงการเพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้มากที่สุด
การเตรียมความพร้อมของ บสย.สาขาเชียงใหม่สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
บสย.สาขาเชียงใหม่ได้กำหนดและดำเนินการเชิงรุก โดยจัดตั้งคลินิกค้ำประกัน เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและแนะนำการขอสินเชื่อ รวมถึงการจัดมหกรรมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างโอกาสให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน
นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมพบปะระหว่างกลุ่มลูกค้าใหม่กับธนาคาร และธนาคารกับเจ้าหน้าที่ของ บสย.(Orientation) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและแนะนำบริการของ บสย. นอกจากนั้นในปี 2558 บสย.สาขาเชียงใหม่จะย้ายสำนักงานจากปัจจุบันในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ไปยังอาคารบริเวณสี่แยกข่วงสิงห์ประมาณเดือนกุมภาพันธ์
ปัจจุบันสถาบันทางการเงินหลายแห่งเปิดกว้างในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ และมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น แต่การเข้าหาแหล่งเงินทุนได้ง่ายก็ยิ่งต้องศึกษารายละเอียดของการใช้สินเชื่ออย่างเข้าใจ เพื่อป้องกันปัญหาต่อผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน หรือผู้ค้ำประกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้