"บอมบาร์ดิเอร์" ยักษ์การบิน/ขนส่งแคนาดา หนุนผุดรถไฟฟ้ารางเบา แก้ปัญหาจราจรเชียงใหม่ ชี้เป็นระบบที่ตอบโจทย์เมืองประวัติศาสตร์ พร้อมแนะรัฐ-เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP มีความเป็นไปได้มากที่สุด ด้านกลุ่มเอกชนบริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมือง เร่งเดินหน้าวางโครงข่ายจัดระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยง4 ย่านสำคัญ
นายเอกสิทธิ์ จุลกิตติพันธ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานทูตพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย ได้ร่วมกับสถานกงสุลแคนาดา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์ทเทชั่น จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้นำด้านการบิน-อากาศยานและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งชั้นนำของโลก ได้ให้ความสนใจในการนำเสนอเทคโนโลยีด้านการขนส่งมวลชนเพื่อแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะเมืองเชียงใหม่ ซึ่งหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และภาควิชาการในจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนรูปแบบขนส่งมวลชนที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่เมืองเชียงใหม่
นายเกรกอรี่ อองจาลแบรท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมราง ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์ทเทชั่น จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจหลักของบอมบาร์ดิเอร์แบ่งเป็นส่วน 2 ส่วนหลักคือ ด้านอากาศยาน มีสัดส่วน 50% และธุรกิจด้านการขนส่งระบบราง สัดส่วน 50% มีพนักงานจากทุกสาขาทั่วโลก 39,400 คน ขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของบอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์ทเทชั่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีพนักงานมากกว่า 450 คน
สำหรับผลงานในประเทศไทย อาทิ วางระบบควบคุมการเดินรถจากเดิมมาใช้เทคโนโลยี CITYFLO ในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส การวางระบบเทคโนโลยีควบคุมระบบราง INTERFLO 200 ในการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ระยะที่ 2 และ 3 จำนวน 4 เส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นผู้วางระบบอาณัติสัญญาณโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีม่วง และโครงการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวส่วนต่อขยาย เป็นต้น
ทั้งนี้ การขนส่งมวลชนระบบรางนับว่ามีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองที่ประชากรขยายตัวรวดเร็ว ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ประชากรสูงอายุมากขึ้น ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 1.7 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเฉลี่ย 14 ล้านคนต่อปี ขณะที่ความหนาแน่นของจำนวนรถเพิ่มมากขึ้น ระบบขนส่งมวลชนจึงมีความจำเป็นมากสำหรับเชียงใหม่
นายเกรกอรี่กล่าวต่อว่า บอมบาร์ดิเอร์ให้ความสนใจจังหวัดเชียงใหม่ และต้องการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชน และด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองประวัติศาสตร์ จึงต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีและเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของเมือง และเห็นว่าขนส่งมวลชนระบบรางมีความเหมาะสมต่อเมืองเชียงใหม่ ที่ไม่บดบังทัศนียภาพและวิถีของเมือง ซึ่งระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) จะตอบโจทย์เมืองเชียงใหม่
สำหรับรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้มากที่สุด ควรเป็นลักษณะของการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชนในรูปแบบ Public Private Partnership หรือ PPP โดยบอมบาร์ดิเอร์ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การร่วมทุนในอนาคต
ด้านนายณรงค์ ตนานุวัฒน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมืองจำกัดกล่าวว่า ปัจจุบันเชียงใหม่ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตรฐาน และการจราจรก็เป็นปัญหาที่หนักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน สภาพการจราจรติดขัดอย่างหนัก ตอนนี้บริษัท เชียงใหม่พัฒนาเมืองฯ พยายามถอดบทเรียนของขอนแก่นโมเดลที่กลุ่มเอกชนราว 20 คนลงทุนร่วมกันราว 100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของเมืองขอนแก่น โดยขณะนี้คณะทำงานของเชียงใหม่พัฒนาเมืองกำลังศึกษารายละเอียดของระบบ รูปแบบ การวางเส้นทาง การเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งมวลชนเชียงใหม่ เพื่อให้ได้รูปแบบและระบบที่เหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้จะวางระบบโครงข่าย 4 ย่านการค้าสำคัญที่จะเชื่อมโยงเข้าหากัน คือ สองฝั่งแม่น้ำปิง ไนท์บาซาร์ คูเมือง และนิมมานเหมินท์ซึ่งเป็นย่านที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เบื้องต้นจะนำรถบัสที่มีอยู่และรถสี่ล้อแดงมาจัดระบบและวางเส้นทางให้ชัดเจน ซึ่งอาจต้องปรับเปลี่ยนสีของรถที่แตกต่างกันไปในแต่ละย่านตามเส้นทางที่กำหนด ส่วนระบบขนส่งมวลชนทางรางก็เป็นหนึ่งในแผนที่ต้องศึกษาว่าจะเริ่มอย่างไร
ดร.บุญทา ชัยเลิศ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เอกชนเชียงใหม่ต้องรวมตัวกันจริงจังในการขับเคลื่อนขนส่งมวลชน และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะถึงเวลาต้องเริ่มแล้ว จะรอให้รัฐมาลงทุนคงเป็นไปได้ยาก โดยสภาพเมืองเชียงใหม่น่าจะเหมาะกับระบบขนส่งทางรางหรือ Tram เชื่อว่าจะแก้ปัญหาการจราจรของเชียงใหม่ได้ดีขึ้น
ที่มา : prachachat