บอร์ดพีพีพี เดินหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม - ชะอำ ในรูปแบบทางหลวงสัมปทาน มูลค่าเงินลงทุนรวมราว 80,000 ล้านบาท ยกระดับการคมนาคมขนส่งสู่ภาคใต้ พร้อมผลักดัน PPP Fast Track เสนอโครงการภายในปี 2561
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2561 ณ กระทรวงการคลัง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
1. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบในหลักการของโครงการทางหลวงสัมปทานสายนครปฐม - ชะอำ (M8) ของกรมทางหลวง ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track มูลค่าเงินลงทุนรวม 79,006 ล้านบาท ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และร่วมลงทุนในกรอบวงเงินไม่เกินค่างานโยธา จำนวน 55,805 ล้านบาท และภาคเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ค่าก่อสร้างที่พักริมทาง และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ ตลอดจนรับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) รวมถึงการบริหารจัดการที่พักริมทาง ตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กรมทางหลวงกำหนด ในระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี นับจากเปิดให้บริการ โดยเป็นไปตามแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง เพื่อเป็นทางหลวงมาตรฐานสูงสู่พื้นที่ภาคใต้ และช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนเพชรเกษมหรือทางหลวงหมายเลข 4 ทำให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ภาคใต้
2. คณะกรรมการ PPP เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในปี 2561 (ประมาณเงินลงทุนรวม 366,274 ล้านบาท) รวมถึงยังได้ติดตามโครงการระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นของหัวเมืองหลัก
ที่มา..กรุงเทพธุรกิจ