นักธุรกิจโคราชเชิญอธิบดีกรมท่าอากาศยานหารือเข้มข้น หวังให้สายการบินมาเปิดบริการ อธิบดีแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ยอมรับสนามบินโคราชมีศักยภาพสูง ย้ำต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดการใช้สนามบิน นำเศรษฐกิจที่ดีมาสู่ท้องถิ่น ประธานหอการค้าฯ ย้ำชัดต้องทำให้เกิดการบินในปีนี้ให้ได้ หากไม่มีบริษัทใดมาลงทุน จะขอระดมทุนชาวโคราชมาลงทุนเอง และเปิดเส้นทางบินโคราช-กรุงเทพฯ และโคราช-เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 เวลา 13.00 น. ณ ท่าอากาศยานจังหวัดนครราชสีมา นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยานได้เดินทางมาเข้าร่วมหารือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในการผลักดันให้จังหวัดนครราชสีมา มีสายการบินพาณิชย์เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยมีนายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายประวัติดวงกันยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา นายมนตรี ปิยากูล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พล.อ.มารุต ลิ้มเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายปรีชา ลิ้มอั่ว ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการ เดอะมอลล์ราชสีมา นางปพิชญา ณ นครพนม ผู้อำนวยการศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21โคราช พร้อมด้วยตัวแทนจากบริษัทการบิน เช่น กานต์แอร์ BAC และบริษัทอุตสาหกรรมการบินเอเชีย จำกัด เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ หลายคน
ผู้ว่าฯ ดึงงบ 79 ล้าน 5 แสน
นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในปีนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (นายวิเชียร จันทรโณทัย) ได้ของบประมาณเพื่อพัฒนาอู่เซอร์วิส และลานวิ่ง จำนวน 79.5 ล้านบาท และขณะนี้สถาบันการศึกษาของไทย นำศิษย์การบินของแต่ละสถาบันเข้ามาทำการฝึกบินร่วมกับ BAC มีการสร้างอาคารที่พักแล้ว 2 อาคาร และที่นี่จะเป็นแหล่งผลิตนักบินจำนวนมาก หากดูแผนที่ของประเทศไทยแล้ว จะเห็นได้ว่าโคราชเป็นจังหวัดที่อยู่ตรงกลางของแผนที่ เป็นศูนย์กลางภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของอาเซียนและในปัจจุบันโคราชมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว อันจะเห็นได้จากการที่มีห้างสรรพสินค้าชั้นนำเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ดังนั้น โคราชจึงเป็นรองแค่กรุงเทพฯ ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คือ การพัฒนาโคราชให้เป็นเมืองคู่แฝดกับกรุงเทพฯ หากมองในลักษณะทางกายภาพของโคราชกับกรุงเทพฯ แล้ว มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทั้งด้านพื้นที่และปริมาณประชากร การขนส่ง โลจิสติกส์ต่างๆ มีความพร้อมในการเชื่อมโยงกัน ทั้งภูมิภาค และอาเซียน ขาดเพียงอย่างเดียวคือ ไม่มีเครื่องบินพาณิชย์ ทำให้ขาดโอกาสในหลายด้าน เช่น การขนส่งสินค้า การขนส่งนักท่องเที่ยว เป็นต้น
BAC ช่วยตอกย้ำความพร้อม
ทางด้านนายปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหารของบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 4 ปี คณะอนุกรรมการคมนาคมได้มีการปรึกษากันเรื่องการบิน และสนามบินนครราชสีมาได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดหลายครั้ง มากกว่าท่าอากาศยานอู่ตะเภา แต่สุดท้ายได้ไปลงที่อู่ตะเภา แต่อย่างไรก็ตามวันหนึ่งต้องมาลงที่จังหวัดนครราชสีมา เพราะจะไม่มีสนามบินใดอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากเท่าสนามบินนครราชสีมาอีกแล้ว ซึ่งเป็นจุดแข็งข้อที่ 1 ส่วนจุดแข็งข้อที่ 2 สนามบินแห่งนี้ไม่มีปัญหาเรื่องมลภาวะ ไม่ว่าจะเรื่องทางเสียงหรืออื่นๆ เป็นการยากที่จะหาพื้นที่ 500 -1,000 ไร่ เพื่อสร้างสนามบินที่ใกล้กับกรุงเทพฯ ได้มากเท่านี้ ดังนั้น จุดแข็งของสนามบินจังหวัดนครราชสีมานั้นมีอยู่แล้ว และพร้อมสำหรับการใช้งาน
สนใจบินโคราช-เชียงใหม่-ภูเก็ต
นายสรคม มะลิอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมการบินเอเชีย จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีอยู่ 2 ส่วน ที่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในสนามบินโคราช คือด้านอุตสาหกรรมการบิน และสายการบิน เหตุผลที่สนใจมาทำศูนย์ซ่อม เนื่องจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่น บริษัทได้ทำวิจัยมาหลายแห่งพบว่า โคราชมีความพร้อมกว่าในเรื่องของการทำ MRO ถ้าโคราชเป็นชุมทางได้ โคราชก็จะเป็นศูนย์กลางการซ่อม และจะมีการจ้างงานในโคราชถึง 10,000 คน ขณะนี้บริษัทมีความพร้อมที่จะดำเนินการในสนามบินโคราช แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างจึงไม่สามารถทำได้ ในส่วนทางสายการบินนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเปิดทำการบินได้หลังเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ตั้งเป้าไว้คือ เส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่ และนครราชสีมา-ภูเก็ต
ต้องมีสายการบินในปีนี้
นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในการจัดการหารือในครั้งนี้มีผลเป็นที่น่าพอใจ ในการตอบรับเกินคาด ในส่วนตัวของอธิบดีกรมท่าอากาศยานแม้จะตอบรับอย่างแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ แต่ก็เห็นความตั้งใจของชาวโคราชแล้ว ซึ่งจะพยายามผลักดันให้มีสายการบินโคราชให้ได้ ส่วนเรื่องของสายการบินที่จะเข้ามาลงทุนนั้น ยังไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าเป็นของบริษัทใด เพราะมีเหตุผลหลายอย่าง ซึ่งในด้านการพยายามผลักดันให้มีสายการบินนั้น หอการค้าฯ จะพยายามให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดคือภายในปีนี้
โคราชมีศักยภาพ
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวสรุปว่า สนามบินนครราชสีมามีความเป็นมาตรฐาน มีความปลอดภัยและมีศักยภาพ ข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน ทั้งแอร์ไลน์ (สายการบิน) หอการค้า ภาคธุรกิจ หรือทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะนำไปดำเนินการเพื่อให้เกิดการบิน ทั้งการใช้พื้นที่ ตั้งศูนย์ซ่อม หรือว่าการใช้ประโยชน์ในทุกด้านและในส่วนต่างๆ เพราะสนามบินนครราชสีมามีพื้นที่จำนวนมาก คิดว่าหลังจากนี้จะประชุมร่วมกัน ส่วนเรื่องความเป็นไปได้นั้น ทางกรมท่าอากาศยานก็ได้มีการวิเคราะห์เบื้องต้นแล้วว่า ในปัจจุบันมีความเป็นไปได้สูงเรื่องการบินในลักษณะเมืองรองไปสู่เมืองรอง ส่วนสายการบินก็ได้มีการวิเคราะห์เส้นทางต่างๆ ที่จะทำการบิน ในส่วนของเส้นทางที่มีกำไร หากกรมฯ สามารถสนับสนุนส่วนใดได้ก็จะสนับสนุน เช่น ในแง่ค่าบริการ การวิจัยต่างๆ ทางกรมฯ จะพิจารณาให้ ในขณะที่ภาคส่วนในจังหวัด เช่น ททท. หอการค้าฯ หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดการใช้สนามบิน นำเศรษฐกิจที่ดีมาสู่ท้องถิ่น เรื่องนี้กรมท่าอากาศยานมีความตั้งใจที่จะทำ และขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจและมาให้ข้อคิดวันนี้ทางกรมฯ น่าจะได้อะไรดีๆ กลับไปเพื่อประกอบการพิจารณา
ยันไม่เพ้อฝันแต่ต้องช่วยกัน
ภายหลังการประชุมแล้วเสร็จ นายชัชวาลยังกล่าวถึงเรื่องของความเป็นไปได้ของสายการบินโคราชแอร์ไลน์ว่า เมื่อหลายปีก่อนนั้นตนเคยมีความคิดเรื่องทำสายการบินของโคราชแต่ส่วนกลางก็ติงมา แต่เมื่อมาถึงวันนี้ ตนมองเห็นศักยภาพว่าสามารถเป็นไปได้สูงมาก และได้ปรึกษากับฝ่ายผู้ประกอบการแล้ว เงินลงทุนที่ทางสายการบินเสนอมานั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะเปิดทำการบินเอง ในกรณีที่ไม่มีสายการบินใดสนใจหรือยังไม่พร้อม เราจะสามารถทำได้อาจจะให้เวลาไม่เกินสิ้นปีนี้ หากไม่มีสายการบินใดสนใจ ตนจะหาวิธีทำให้ได้ โดยเส้นทางการบินแรกที่ตั้งใจไว้คือ โคราช-เชียงใหม่ และโคราช-ภูเก็ตตามลำดับ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องคิดเพ้อฝันแต่ถึงเวลาแล้วที่คนโคราชและนักธุรกิจต้องช่วยกันผลักดันให้พัฒนาต่อไป
หอการค้าฯ ทุ่มทุกด้าน
ทั้งนี้ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาชี้ว่า ศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมา มีความพร้อมสูงมาก หอการค้าฯ ทุ่มในทุกเรื่อง ที่พยายามให้เกิดสายการบินภายในปีนี้ (๒๕๖๐) ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ที่ชาวโคราช ทั้งหมดที่จะต้องช่วยกัน ครั้งนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีเท่าที่ทราบขณะนี้ก็มีสายการบินที่ให้ความสนใจ แต่ก็ตามที่อธิบดีฯ แจ้งให้ทราบว่าต้องขอปิดไว้ก่อนว่าเป็นบริษัทใด เพราะการทำธุรกิจขนาดใหญ่นั้น ข้อมูลยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ตนเชื่อว่าจะได้รับฟังข่าวดีเร็วๆ นี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 นายชัชวาลเปิดเผยว่า “ในเรื่องนี้ผมจะพยายามเต็มที่ เพราะกำหนดไว้ 2 แนวทางคือ ให้สายการบินที่สนใจมาเปิดเส้นทางบิน ซึ่งต้องยอมรับว่ามีสายการบินให้ความสนใจจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นสายการบินใดบ้าง หากเปิดเผยจะเหมือนเป็นการมัดมือชก ส่วนแนวทางที่สอง หากไม่มีสายการบินใดมาลงทุน ทางผมก็จะระดมทุนจากนักธุรกิจโคราชที่สนใจให้มาร่วมลงทุน อาจจะเปิดขายเป็นหุ้น แต่ยังไม่ได้กำหนดว่า มีกี่หุ้น หุ้นละเท่าไหร่ แต่คาดว่า น่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท โดยใช้ชื่อว่า “Korat Airline” เพื่อสื่อว่าเป็นสายการบินของคนโคราช ตั้งเป้าว่า จะเปิดเส้นทางบินโคราช-กรุงเทพฯ และโคราช-เชียงใหม่ ทำการบินทุกวัน ส่วนค่าโดยสารยังไม่แน่นอน แต่คิดว่าประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป เที่ยวละประมาณ 60 ที่นั่งก็น่าจะประสบความสำเร็จได้”
“หากต้องลงทุนเอง ผมก็ไม่ได้ต้องการเป็นหุ้นใหญ่ แต่อยากให้ทุกคนที่สนใจมาร่วมลงทุนด้วยกัน ต้องการให้คนโคราชช่วยกันสนับสนุน ซึ่งผมก็ผลักดันเรื่องนี้มา 2-3 ปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ เพราะช่วงแรกๆ เสียงยังไม่ดังพอ แต่เมื่อมาเป็นประธานหอการค้าฯ ก็จะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง หากภายใน 2 ปีที่อยู่ในวาระการเป็นประธานหอฯ แล้วยังไม่สำเร็จ ก็ขอจบเพียงเท่านี้” นายชัชวาล กล่าวย้ำในท้ายสุด
ขอบคุณข่าวจาก: Koratdaily
ขอบคุณภาพประกอบจาก: Koratstartup
บทความแนะนำ