ปทุมธานีเป็นจังหวัดปริมณฑล ติดต่อตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เป็นประตูทางออกสู่ภาคเหนือ-อีสาน มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและการเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะย่านรังสิต อ.ธัญบุรี, อ.คลองหลวง, อ.ลำลูกกา ที่มีความเจริญเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทมาเป็นสังคมเมืองอีกทั้งยังเป็นแหล่งงานของประชากรจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบกับมีสถานศึกษาหลายแห่ง ทั้งระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ทำให้มีการเดินทางมาศึกษาต่อใน จ.ปทุมธานี กันจำนวนมากนอกจากนี้ยังมีตลาดสี่มุมเมืองตลาดไทที่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้ารายใหญ่ในการค้าส่ง มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ส่งผลให้การจราจรติดขัดรุนแรง กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ
หากย้อนเวลาไปเมื่อราวสามสิบกว่าปี "คลองรังสิตประยูรศักดิ์" ถูกใช้เป็นเส้นทางสัญจรสายหลัก การเดินทางของผู้คนย่านนี้ส่วนใหญ่นั้นใช้เรือโดยสารเป็นพาหนะหลัก กระทั่งถนนรังสิต-นครนายก ตัดผ่าน วิถีชีวิตของคนที่นี่จึงแปรเปลี่ยนไป
นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า จ.ปทุมธานี พยายามแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะชุบชีวิต "คลองรังสิตประยูรศักดิ์" ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเตรียมนำเรือโดยสารมาแล่นรับส่งผู้โดยสาร เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนใช้เดินทาง หวังลดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งกันขวักไขว่บนท้องถนนให้ลดน้อยถอยลงไป โดยกรมชลประทานจะควบคุมระดับน้ำรวมทั้งเทศบาลนครรังสิตจะรับหน้าที่ขุดลอกสภาพคลองไม่ให้ตื้นเขินเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือโครงการเดินเรือคลองรังสิตจึงเป็นทางเลือกให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เดินทางระยะสั้นๆ จะเป็นความหวังช่วยแก้ปัญหารถติด ไม่ต้องทนติดอยู่บนท้องถนน และเปลี่ยนมาใช้บริการทางเรือแทน
แผนงานดังกล่าวหวังแก้ปัญหาการจราจรโดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน มีท่าเรือให้บริการ 14 ท่า รวมระยะทางกว่า 18 กิโลเมตร ตลอดคลอง เริ่มจากตลาดรังสิต-คลอง 8 โดยจะออกเรือทุก14นาทีใน ชม.เร่งด่วน ใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือที่ 1-ท่าเรือที่ 14 ประมาณ 1ชม. 10 นาที ค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาท ซึ่งจะสามารถใช้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระบบราง ที่จะทอดผ่านละแวกนี้ใน 2 เส้นทาง คือรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต) และรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (สะพานใหม่-คูคต) ที่กำหนดจะเปิดให้บริการภายในปี 2562
“ขณะนี้สภาพการจราจรถนนรังสิต-นครนายกติดขัดอย่างมาก โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน นอกจากนี้หาก โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการในอนาคตธุรกิจยิ่งสดใส ผู้โดยสารสามารถขึ้นเรือท่าที่ 1 ต่อรถไฟฟ้าได้ ส่วนท่าที่จะมีผู้ใช้บริการมากที่สุดน่าจะเป็น “ท่าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต” เพราะเชื่อมต่อรถเมล์ และรถตู้หน้าโรงหนังเมเจอร์รังสิต” นายสุรชัย กล่าว และว่า
ท่าเรืออยู่จุดเดียวกับป้ายรถเมล์และใกล้สะพานลอยคนข้าม เพื่อความสะดวกของประชาชน แต่ละท่ามีโป๊ะรองรับผู้โดยสารได้ 25 คน ทั้ง 14 ท่า มีดังนี้ 1. ท่าประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ 2. ท่าโรงเรียนประชาธิปัตย์ 3. ท่าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต 4. ท่าสะพานแดง 5. ท่าคลองสาม 6. ท่าดรีมเวิล์ด 7. ท่าโลตัสคลองสี่ 8. ท่าสะพานพระองค์สาย 9. ท่าหมู่บ้านฟ้าลากูน 10. ท่าวัดมูลจินดาราม 11. ท่าตรงข้ามอำเภอธัญบุรี 12. ท่าตรงข้ามห้างบิ๊กซีคลองเจ็ด 13. ท่าทางแยกลำลูกกา และ14. ท่าเรือฝั่งตรงข้ามห้างโลตัสคลองเจ็ด โดยไม่นานมานี้ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการเดินเรือ “คลองรังสิตประยูรศักดิ์”
นายสุรชัย เพิ่มเติมว่า การนำเรือโดยสารมารับส่งผู้โดยสารในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ นอกจากจะแก้ปัญหาด้านการจราจรแล้ว ยังสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวด้วย โดยได้เตรียมการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวด้วยการเปิดตลาดบริเวณท่าเรือทั้ง 14 แห่ง เพื่อให้เกษตรกรนำสินค้าเกษตร และสินค้าอื่นๆ ของชุมชนมาจำหน่าย รวมถึงจัดให้มีเรือนำเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชนริมคลองรังสิตฯ โดยเฉพาะที่ตลาดน้ำนครรังสิต และร้านก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต ที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป โดยจะมีการทดลองการเดินเรือไวๆนี้
ด้าน นายกฤษฎา หลีนวรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรีกล่าวว่า การนำเรือโดยสารมาแล่นรับส่งผู้โดยสารใน"คลองรังสิตประยูรศักดิ์" เป็นทางเลือกที่ดีในการแก้ปัญหาการจราจรในการเดินทางของประชาชนซึ่งพักอาศัยอยู่ในย่านริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการนำเรือโดยสารมาวิ่งรับส่งผู้โดยสาร เนื่องจากปัญหาการจราจรบนถนนรังสิต-นครนายก ซึ่งติดขัดอย่างหนักในชั่งโมงเร่งด่วน โดยเฉพาะตั้งแต่หน้าห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ตลอดไปจนถึงคลอง 7 หากนำเรือโดยสารมาวิ่งในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จะลดปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี ช่วยลดความแออัดให้กับการจราจรทางบกได้ รวมทั้งเรือหางยาว และเรือต่างๆ ของชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตริมน้ำก็จะกลับฟื้นขึ้นมา นอกจากนี้ยังหนุนการท่องเที่ยวคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองประวัติศาสตร์ สมัยร.5 ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกด้วย
ที่มาและภาพประกอบ : siamrath