ผู้ว่าฯ จังหวัดเชียงใหม่ สั่งการให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสอดส่องดูแลเรื่องหมอกควันและไฟป่าอย่างเข้มงวด เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ "60 วันห้ามเผาเราทำได้ เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน" พร้อมกำชับให้เฝ้าระวังพื้นที่ไหม้ซ้ำซาก
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งการให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสอดส่องดูแลเรื่องหมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วง "60 วันห้ามเผาเราทำได้ เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน" และได้กำชับ 3 ประเด็นหลัก คือ การงดเผาในที่โล่ง และเมื่อเกิดไฟป่าต้องสามารถควบคุมไม่ให้ลุกลาม รวมทั้งการลาดตระเวนต้องทำงานกันอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ว่าเชียงใหม่พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาหมอกควันและไฟป่าในช่วง 60 วันห้ามเผา และให้ระวังพื้นที่ไหม้ซ้ำเดิม โดยเฉพาะพื้นที่อำเภออมก๋อย อำเภอแม่แจ่ม และตามข้างทางที่มีใบไม้และเศษหญ้าแห้ง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อไม่ให้เป็นเชื้อเพลิงในการเกิดไฟป่าตามสองข้างทาง
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ในการช่วยประสานประชาชนห้ามเผาช่วง 60 วัน โดยเข้มงวดชาวบ้านที่มีการเข้าไปหาของป่า เช่น ผักหวานป่า สัตว์ป่า ประกอบกับจัดคนลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่า หมู่บ้านละ 2 คน พร้อมเตรียมอุปกรณ์ในการดับไฟป่า และการติดต่อสื่อสารในการแจ้งเหตุ เพื่อจะได้เข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีงบประมาณค่าเบี้ยเลี้ยง/ค่าอาหาร ให้กับผู้ที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่า อีกทั้งจัดแนวกันไฟในบางพื้นที่ เพื่อบรรเทาการเกิดไฟป่าที่ลุกลาม ตลอดจนคนที่เข้าไปหาของป่าทุกอำเภอให้ขึ้นทะเบียนไว้ โดยมอบให้กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ทำทะเบียนการเข้าป่า เพื่อจะได้รู้ว่าใครเข้าไปในป่าช่วงไหนบ้าง รวมถึงให้เจ้าหน้าที่เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อที่ผิดๆ ในการเผา เพื่อหาของป่า เพื่อจะได้เห็ดถอบ ผักหวานป่า ในปริมาณมากๆ ซึ่งไม่เป็นความจริง
สำหรับสถานการณ์หมอกควันและไฟป่า ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศค่า pm 10 ของสถานีในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ค่า pm 10 สถานียุพราช อยู่ที่ 86 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ 73 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, ดอยสุเทพ 67 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม 88 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งหมดอยู่ในระดับปานกลาง และในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 21 กุมภาพันธ์ 2560 มีจุด hotspot เกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น 134 จุด ในส่วนของปีที่แล้วเกิดขึ้นทั้งหมด 316 จุด
ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดชุดลาดตระเวนบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ป้องกันไฟป่า ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านชุดลาดตระเวนร่วม โดยจะร่วมการลาดตระเวนในพื้นที่รอบดอยสุเทพและจุดล่อแหลมที่อาจเกิดไฟป่าได้ และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว จึงมีประกาศจังหวัดเชียงใหม่ให้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าเป็นวาระของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กำหนดมาเพื่อการควบคุมไม่ให้เกิดการเผาพร้อมๆ กันจนควบคุมไม่ได้ แม้จะสิ้นสุดช่วงห้ามเผาไปแล้ว หากใครจะทำการเผาอะไรก็ตามต้องขออนุญาตจากทางอำเภอก่อน ส่วนช่วง 60 วันแห่งการห้ามเผาทุกชนิดเด็ดขาด มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ซึ่งหากตรวจพบหรือจับได้ว่ามีการฝ่าฝืนจะมีการลงโทษอย่างเฉียบขาด ซึ่งมีการตั้งรางวัลนำจับไว้ด้วย โดยผู้ชี้เบาะแสเพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้ที่ทำการเผาในช่วง 60 วันจะได้รางวัลนำจับรายละ 5,000 บาท แจ้งเหตุได้ที่ศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 053 112236 หรือโทร 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีเศษวัสดุทางการเกษตรที่ต้องเผาทิ้งเป็นจำนวนมาก จึงต้องตระหนักถึงแนวทางที่จะกำจัดเศษวัสดุเหล่านี้อย่างถูกวิธี ไม่ให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม ทางจังหวัดเชียงใหม่จึงเข้าไปส่งเสริมและให้ความรู้แก่ประชาชนในการนำซังข้าวโพดมาแปลงเป็นถ่านอัดแท่ง สร้างรายได้เข้าสู่พื้นที่ พร้อมกับลดปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย ซึ่งปีที่ผ่านมาสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ได้ส่งเสริมให้ใช้เตาเผาถ่าน พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานในพื้นที่ทั้งระดับชุมชน โดยการนำซังข้าวโพดมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง ซึ่งขณะนี้ยังขาดตลาด เนื่องจากได้รับความต้องการจากร้านหมูกระทะ หรือร้านที่ใช้ถ่านอยู่เป็นประจำ ถ่านอัดแท่งนี้สามารถจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน
สำหรับปัญหาหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นทุกปีในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะเดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปี และนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น สาเหตุใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ชีวมวลในที่โล่งแจ้ง ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แพร่กระจายในบรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนอย่างมาก จึงต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ลดปัญหาหมอกควันและไฟป่าในเชียงใหม่ให้หมดไป
แหล่งที่มา
http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=170210164111