"ห้าง-คอนโด-โรงแรม" ยอมจ่ายซื้ออนาคต บิ๊กเนมแห่ลงทุนบูมเมืองใต้ดิน-สกายวอล์กเชื่อมรถไฟฟ้า "เจริญ" ผุดอุโมงค์ ทางเดินลอยฟ้าทะลุสถานีสามย่าน ลุมพินี บางโพ ดึงคนเข้าโปรเจ็กยักษ์ ซีพีปั้นแลนด์มาร์กสุขุมวิท 101 -ไอคอนสยาม "บิ๊กซี" ยึดสายสีม่วง "เดอะมอลล์-ซีคอน" ปลุกสถานีบางแค-ภาษีเจริญ "เซ็นทรัล-เมเจอร์-SCB" ขอเชื่อมสายสีเขียวใหม่
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ขณะนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้มีการต่อยอดลงทุนเชื่อมโครงการระบบขนส่งมวลชนกันมากขึ้น เช่น "สามย่าน มิตรทาวน์" มิกซ์ยูสมูลค่า 8,500 ล้านบาท พัฒนาโดย บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ย่านพระราม 4 พื้นที่ 13 ไร่ โดยเช่าที่จากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ที่เปิดเกมรุกเพื่อรองรับโครงการในอนาคตที่จะแล้วเสร็จปลายปี 2562
ยึด 2 สถานีสามย่าน-ลุมพินี
โดยทุ่มเงิน 300 ล้านบาท สร้างอุโมงค์ลอดใต้ ถ.พญาไท 200 เมตร เชื่อมรถไฟใต้ดินสถานีสามย่านและจามจุรีสแควร์ เพื่อสร้างเป็นจุดปลายทางแห่งใหม่ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 20,000-25,000 คนต่อวัน รวมถึงเป็นจุดเชื่อมการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างเมืองเก่าเยาวราชและเมืองใหม่สาทร สีลม สยามสแควร์
แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานีสามย่านเป็นที่ของจุฬาฯ ที่รฟม.ขอเช่า 30 ปี มูลค่า 70 ล้านบาท เพื่อสร้างสถานี และเป็นที่ราชการไม่สามารถเวนคืนที่ดินได้ โดยมีข้อตกลงหากจะพัฒนาต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าจะไม่คิดค่าตอบแทน กรณีโครงการสามย่านมิตรทาวน์ทางจุฬาฯ ทำหนังสือมาขอ และ รฟม.ไม่คิดค่าตอบแทน
"ปกติถ้าเอกชนมาขอสร้างทางเดินเชื่อมไม่ว่าสกายวอล์ก หรืออุโมงค์กับสถานี จะคิดค่าตอบแทนแห่งละ 30 ล้านบาท เวลา 15 ปี วันเซ็นสัญญาจ่าย 20% จากนั้นคิดผลตอบแทนเป็นรายปีและปรับเพิ่มปีละ 10%"
ทะลวงสถานีลุมพินี
แหล่งข่าวกล่าวว่า ล่าสุดมีเอกชนติดต่อขอสร้างเชื่อมจำนวนมาก ในส่วนของรถไฟฟ้าใต้ดินนอกจากสถานีสามย่าน บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท ของนายเจริญ ก็ขอสร้างอุโมงค์เชื่อมสถานีลุมพินีหัว-ท้ายทะลุเข้าโครงการ "วัน แบงค็อก" ซึ่งได้สิทธิ์พัฒนาที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พื้นที่ 104 ไร่ มูลค่าโครงการ 1.2 แสนล้านบาท
"ลุมพินีต่อไปจะเป็นสถานีใหญ่เหมือนพระราม 9 ที่เซ็นทรัลเจาะอุโมงค์เชื่อมศูนย์การค้า ทำให้เดินทางสะดวกและทันสมัย ซึ่งสถานีสามย่านจะใหญ่ไม่แพ้กัน"
นอกจากนี้มี "สถานีสุขุมวิท" ฝั่งซอยคาวบอย บจ.บีแอนด์จี ขอทำทางเดินเชื่อมระดับดินเข้าอาคาร 3 ชั้น ซึ่งด้านล่างเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน ชั้นบนสุดเชื่อมกับบีทีเอส
สิงห์-จีแลนด์ปักธง
ขณะที่ "สถานีเพชรบุรี" บมจ. สิงห์ เอสเตท ของตระกูลภิรมย์ภักดี ขอสร้างทางเดินใต้ดินทะลุโครงการสิงห์คอมเพล็กซ์ มิกซ์ยูสมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท แยกอโศก-เพชรบุรีที่ดินสถานทูตญี่ปุ่นเดิม
"สถานีพระราม 9" หลังเซ็นทรัลขอเจาะอุโมงค์เชื่อม ล่าสุดมีโครงการ "ไนน์สแควร์ พระราม 9" ตรงข้ามฟอร์จูน ของ บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (จีแลนด์) ขอสร้างอุโมงค์เชื่อมสถานี และ "สถานีศูนย์วัฒนธรรม" ในอนาคตจะเป็นจุดเชื่อมสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ที่ห้างเอสพลานาด ของกลุ่มสยามฟิวเจอร์ มีแผนจะสร้างทางใต้ดินเชื่อมกับสถานีเช่นกัน
ดุสิตธานีทุ่มสร้างใต้ดิน
นอกจากนี้ยังมีโครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 36,700 ล้านบาท ของโรงแรมดุสิตธานี ที่ร่วมทุน "เซ็นทรัลพัฒนา" พัฒนาที่ดินหัวมุม ถ.สีลม-พระราม 4 ซึ่งได้สิทธิเช่าเพิ่มจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บนที่ดิน 23 ไร่ จะสร้างอุโมงค์เชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสีลมกับศูนย์การค้าใต้ดินเป็นลักษณะไลฟ์สไตล์มอลล์แบบโลว์ไรส์ 2-3 ชั้น อยู่ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ที่จอดรถอีก 2 ชั้น
ห้างชานเมืองแห่ต่อเชื่อม
แหล่งข่าวจากรฟม.กล่าวอีกว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) กลุ่มเซ็นทรัลได้ขอทำทางเชื่อมที่สถานีตลาดบางใหญ่เข้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เวสต์เกต กับเซ็นทรัล พลาซา รัตนาธิเบศร์ เชื่อมสถานีแยกนนทบุรี 1 ส่วนบิ๊กซีขอเชื่อมสถานีตลาดบางใหญ่กับสถานีบางกระสอ แต่โรงแรมริชมอนด์ที่จะเชื่อมสถานีบางกระสอขอชะลอไว้ก่อน
"สายสีน้ำเงินต่อขยาย" บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค กลุ่มเดอะมอลล์บางแค และศูนย์การค้าซีคอน บางแค ขอทำทางเชื่อมเข้าห้างแล้ว เช่นเดียวกับสถานีบางโพ- สถานีเตาปูนที่ศูนย์การค้าเกตเวย์ บางโพของนายเจริญก็ขอสร้างทางเชื่อมเช่นกัน
สายสีเขียวคึกคัก
ขณะที่"สายสีเขียว"แบริ่ง-สำโรง" มีเทศบาลสมุทรปราการขอสร้างทางเดินเชื่อมสถานีสมุทรปราการกับหอชมเมือง มีร้านค้าOTOP อยู่บริเวณทางเดินด้วย
นอกจากนี้มี "ศูนย์การค้าโรบินสัน สมุทรปราการ" ขอเชื่อมห้างกับสถานีแพรกษา และคอนโดมิเนียม "โมโทรโพลิส" จะสร้างทางเชื่อมกับสถานีสำโรง อนาคตจะเป็นจุดเชื่อมต่อกับสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)"สายสีเขียว"หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวขอสร้างทางเดินเชื่อมกับสถานีห้าแยกลาดพร้าว กลุ่มเมเจอร์และธนาคารไทยพาณิชย์ขอสร้างทางเชื่อมกับสถานีรัชโยธิน และตลาดยิ่งเจริญของตระกูล "ธรรมวัฒนะ" ขอสร้างทางเชื่อมกับสถานีสะพานใหม่
แห่เชื่อม BTS ไม่หยุด
สำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอส แม้จะเปิดมาร่วม 17 ปี ขณะนี้ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการขอสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมกับสถานีตามแนวเส้นทางไม่ขาดสาย
แหล่งข่าวจากบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันมีขอสร้างทางเดิน (สกายวอล์ก) 3-4 สถานี ได้แก่ สถานีหมอชิต บีทีเอสลงทุนกว่า 200 ล้านบาท สร้างทางเชื่อมเกาะใต้โครงสร้างรถไฟฟ้าขนานไปกับเกาะกลาง ถ.พหลโยธิน เชื่อมสถานีหมอชิตถึงซอยพหลโยธิน18 เข้ามอลล์ในโครงการเดอะไลน์ หมอชิต-จตุจักร ระยะทาง 480 เมตร ล่าสุดเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาแล้ว จะแล้วเสร็จต้นปี 2561 อนาคตจะสร้างต่อไปยังธนาคารทหารไทย
และมีสถานีชิดลมที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ขอเชื่อมเข้าอาคารสำนักงานใหญ่, สถานีเพลินจิตมีธนาคารกรุงศรีอยุธยาขอเชื่อมสำนักงานใหม่ ตรงหัวมุมถนนวิทยุกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี สถานีนานา มีบมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทล แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ เชื่อมกับโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ และสถานีอโศก มีนักลงทุนญี่ปุ่นขอสร้างเชื่อมเข้าโรงแรมฝั่งตรงข้ามศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21
ซีพีปั้นแลนด์มาร์กใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถานีปุณณวิถี กลุ่ม MQDC (แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น) ของตระกูล "เจียรวนนท์" ขอสร้างทางเชื่อมเข้าโครงการ Whizdom 101 โปรเจ็กต์มิกซ์ยูสมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท จากสถานีบีทีเอสถึงสะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณซอยสุขุมวิท 101/1 พร้อมบันไดขึ้นลง
ขณะที่โครงการ "ไอคอนสยาม" มิกซ์ยูสมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ที่ร่วมทุนระหว่างกลุ่มแมกโนเลียฯ เครือซีพีกับสยามพิวรรธน์ พัฒนาที่ดิน 50 ไร่ ริมเจ้าพระยา พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า พิพิธภัณฑ์ และคอนโดมิเนียมซูเปอร์ลักเซอรี่ โดยทุ่ม 2,000 ล้านบาท สร้างโมโนเรลสายสีทอง เชื่อมบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรีกับไอคอนสยาม
ด้านสี่แยกปทุมวัน มีการโหมสร้างทางเดินลอยฟ้า ทั้งกลุ่มมาบุญครอง สยามดิสคัฟเวอรี่ ลงทุนกว่า 300 ล้านบาท สร้างสกายวอล์กเชื่อม 4 ด้าน มีห้างมาบุญครอง สยามดิสคัฟเวอรี่ หอศิลป์กรุงเทพฯ และโรงภาพยนตร์สกาล่า "กลุ่มย่านราชประสงค์" ลงทุน 300 ล้านบาท สร้างสกายวอล์กจากศูนย์การค้าแพลทินัม ประตูน้ำ ผ่านเซ็นทรัลเวิลด์ แล้วยกข้ามถนนเชื่อมกับบิ๊กซี ศูนย์การค้าเกษร พลาซ่า แล้วเชื่อมกับสกายวอล์กเดิม ที่สร้างไปถึงบีทีเอสสถานีเพลินจิต ปัจจุบันเปิดใช้แล้ว"
ในเดือน ส.ค.นี้ กทม.เตรียมเปิดใช้สกายวอล์กเชื่อมบีทีเอสบางนาและอุดมสุข ระยะทาง 1.7 กม. ค่าก่อสร้าง 450 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในแนวเส้นทางขอสร้างทางเชื่อมเข้ากับอาคารบ้างแล้ว เช่น โครงการเดอะโคสต์ แบงค็อก, ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าไบเทค และโครงการแบงค็อกมอลล์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีเอกชนหลายรายทุ่มเงินสร้างทางเชื่อมกับสถานีบีทีเอส อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลเชื่อมศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี กับสถานีเพลินจิต วงเงิน 100 ล้านบาท, กลุ่มเมอร์คิวรี่ ลงทุน 60-70 ล้านบาท เชื่อมอาคารสำนักงานกับสถานีชิดลม, สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ลงทุน 200 ล้านบาทสร้างทางเชื่อมสยามสแควร์วันกับสถานีสยามสแควร์, ศูนย์การค้ามาบุญครองลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ปรับปรุงทางเดินเชื่อมสถานีสนามกีฬาแห่งชาติใหม่ คอนโดมิเนียมเลอรัก ของ บจ.วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ ของ "วิชัย พูลวรลักษณ์" ลงทุน 70 ล้านบาท เชื่อมสถานีพระโขนง, สถานีพร้อมพงษ์ มีศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรียมของกลุ่มเดอะมอลล์ สร้างทางเชื่อมระหว่างดิ เอ็มโพเรียม 1 และ 2 กว่า 100 ล้านบาท , สถานีช่องนนทรี มีคอนโดฯซูเปอร์ลักเซอรี่ "มหานคร" และทางเชื่อมแยกสาทร-นราธิวาสที่กลุ่มนายเจริญออกเงิน 100 ล้านบาทให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อสร้างเชื่อมเข้าตึกเอ็มไพร์สทาวเวอร์