หลังจากมีข่าวการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตอนนี้ได้มีข้อสรุปออกมาเป็นที่เรียบร้อย
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
โดยนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ช่วงที่ 1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรนั้นจะสามารถเดินหน้าได้ตามแผนที่กำหนดโดยจะเร่งจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) และรฟท. ก่อนวันที่ 21 ธ.ค. เพื่อให้กรมทางหลวงสามารถเปิดหน้างานเริ่มก่อสร้างได้ตามกำหนดการ สำหรับประเด็นด้านวัสดุที่จะใช้ก่อสร้างในช่วงแรกนั้นจะเร่งหารือกับฝ่ายจีนให้ได้ข้อสรุปภายในกลางเดือน ธ.ค.นี้ โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนของวัสดุที่จะใช้ในงานก่อสร้างว่าจะนำเข้าจากจีนเท่าไหร่และจะใช้วัสดุของไทยเท่าไหร่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมั่นใจว่าในการก่อสร้างระยะแรก 3.5 กิโลเมตร จะใช้วัสดุจากจีนเพียง 5% เพื่อก่อสร้างช่วงแรก 3.5 กิโลเมตรเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นงานดินถมที่เน้นวัสดุจำพวก คอนกรีต หินและดิน ซึ่งวัสดุของไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าตามที่จีนกำหนดไว้ในรายละเอียดการออกแบบโครงการ โดยวัสดุของจีนที่จะนำเข้ามาใช้นั้นเป็นวัสดุที่ไทยผลิตไม่ได้ อาทิเช่น วัสดุแผ่นใยสังเคราะห์สําหรับงานดิน (GEOTEXTILES) เป็นต้น
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง
ด้านนายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ช่วง ระยะทาง 3.5 กม.ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้จะมีการวางศิลาฤกษ์จุดที่จะเริ่มก่อสร้างระยะแรก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ลงพื้นที่ดูพื้นที่ก่อสร้างแล้ว พบว่าต้องมีการปรับปรุงพื้นที่เบื้องต้น รวมทั้งการรื้อย้ายรางรถไฟระยะทาง 700 เมตร ดังนั้นจึงคาดว่าการก่อสร้างระยะแรก 3.5 กิโลเมตรนั้นจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้ทางกรมทางหลวงได้แบ่งทีมงานก่อสร้างออกเป็น 3 ชุด อยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการโครงการเพื่อสะดวกในการดำเนินงานได้เร็วขึ้น ซึ่งกรมทางหลวงได้เตรียมความพร้อมในการก่อสร้างไว้แล้ว
ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร
ด้าน ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ได้กล่าวว่า ความคืบหน้าการทดสอบวิศวกรจีนที่จะเข้ามาทำงานในโครงการรถไฟไทย-จีนนั้น ปัจจุบันได้ดำเนินการทดสอบวิศวกรจีนเป็นรุ่นที่ 3 โดย มีจำนวนวิศวกรจีนทดสอบรวมกันหมด 226 คน สำหรับวิศวกรจีนที่ยังเหลือค้างอยู่อีกประมาณ 70 กว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง ยังต้องรอความชัดเจนจากจีนว่าจะพร้อมให้เข้ารับการอบรมและทดสอบเมื่อไหร่
อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศจีนนั้น เบื้องต้นทางไทยต้องการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จำเป็นและสำคัญอยู่ 2 ด้าน คือ
1. ด้านการเดินรถและซ่อมบำรุง (operation and maintenance)
2. ด้านการออกแบบ (design)
เพื่อให้บุคลากรของ รฟท.มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน การบริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูง และการซ่อมบำรุงดูแลรักษาทั่วไปได้ด้วยตนเองในอนาคต
ที่มา : koratstartup
ภาพประกอบ : coe, doh, posttoday, viralposme