Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

รัฐจับมือเอกชน ผนึกกำลังบูมถนนพระราม 4

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

พระราม 4 กลายเป็นทำเลที่ถูกจับตามากที่สุด เมื่อทุนใหญ่ได้เคลื่อนทัพเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการระดับอภิมหาโปรเจ็กต์ในรูปแบบมิกซ์  ยูส มูลค่ารวมกันเกือบๆ 200,000 ล้านบาท ทำให้ถนนพระราม 4 กลายเป็นทำเลทองฝังเพชรอีกแห่งของกทม.ที่จะเชื่อมต่อพื้นที่เศรษฐกิจย่านกลางเมือง ได้แก่ สีลม สาทร เพลินจิต ชิดลม ราชประสงค์ ให้กลายเป็น Super CBD (Central Business District)  ในอนาคต

ก่อนที่จะถึงวันนั้น ถนนพระราม 4 กำลังจะเกิดความร่วมมือครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในพื้นที่ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมธนารักษ์ กรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยทางจุฬาฯ รับหน้าที่เป็นแกนนำในการเชิญชวนภาครัฐ และเอกชนเข้ามาร่วมโครงการนี้

ขณะที่ภาคเอกชนที่พัฒนาโครงการขนาดใหญ่บนถนนพระราม 4 ก็มีอยู่ด้วยกันหลายโครงการ เช่น บริษัท บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีโครงการขนาดใหญ่อย่างเช่น สามย่านมิตรทาวน์ ตรงแยกสามย่าน วัน แบงค็อก ตรงแยกวิทยุ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่เตรียมจะรีโนเวตใหม่ทั้งหมด โครงการเดอะ ปาร์ค และโรงแรมเอฟวายไอตรงแยกคลองเตย บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสบริเวณโรงแรมดุสิตธานี

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ เตรียมวางแผนพัฒนาพื้นที่ 2 ฝั่งถนนพระราม 4 ร่วมกัน เพื่อปรับภูมิทัศน์ ยกระดับ ถนนพระราม 4 ให้เป็นถนนในระดับสากล เฉกเช่นถนนออร์ชาร์ด สิงคโปร์ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า

สำหรับแผนเบื้องต้นที่ได้เสนอให้ภาคีเครือข่ายพิจารณา คือ การพัฒนาพื้นที่ 2 ฝั่งถนนพระรามที่ 4 ตั้งแต่แยกหัวลำโพงถึงแยกคลองเตย เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพ จากการเข้าถึงโดยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และการสัญจรเสริมต่าง ๆ ได้แก่ทางจักรยาน ทางเท้า เป็นต้น ที่จะมีขึ้นต่อไปตามรูปแบบการพัฒนาบริเวณเปลี่ยนถ่ายการสัญจร (Transit Oriented Development :TOD) ประกอบกับ การก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสมัยใหม่ตามแบบวิถีชีวิตเมือง (Urban Life Style) โดยการเชื่อมต่อกลุ่มการพัฒนาบริเวณแยกสามย่าน แยกศาลาแดง และแยกวิทยุ เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันที่เท่าเทียมกับการพัฒนาบริเวณแยกปทุมวันและแยกราชประสงค์บนถนนพระรามที่ 1 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริเวณแยกหัวลำโพงและแยกคลองเตย ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตกรุงเทพฯชั้นในและเขตกรุงเทพฯ ชั้นนอก ตามลำดับ

ทั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่การพัฒนาออกเป็น 5 จุด ประกอบด้วย

1.แยกหัวลำโพง มีสถานีกรุงเทพเป็นอาคารทางประวัติศาสตร์ที่มีความงดงามในด้านสถาปัตยกรรม และจะมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน ้าเงิน (บางซื่อ-บางแค) และรถไฟฟ้าสายสีแดง (รังสิต-หัวล าโพง- มหาชัย) จึงอาจพัฒนาให้เป็นพื้นที่ย่านธุรกิจการค้าและการบริการด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ ณ จุดเข้าออกที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อการเดินทางโดยรถไฟไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ การพัฒนาบริเวณแยกหัวลำโพงจะหมายรวมถึงการฟื้นฟูย่านการค้าเดิมในบริเวณพื้นที่โดยรอบ และการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสองฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมให้มีความงดงาม

2.แยกสามย่าน มีพื้นที่ทางทิศเหนือเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทิศใต้เป็นที่ดินของเอกชน อาจพัฒนาให้เป็นย่านพาณิชยกรรมโดยการเชื่อมต่ออาคารสามย่านมิตรทาวน์กับอาคารจามจุรี สแควร์ ทั้งโดยทางเดินยกระดับและทางเดินใต้ดินที่เชื่อมต่อกับทางเข้าออกของสถานีสามย่าน ประกอบกับการพัฒนาและฟื้นฟูย่านการค้าสะพานเหลือง เพื่อให้เป็นทางเข้าออกหลักของโครงการเมืองจุฬาฯอัจฉริยะ (Chula Smart City) ที่จะดำเนินการโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อไป

นอกจากนี้ การพัฒนาบริเวณแยกสามย่านยังควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณศาสนสถาน ซึ่งได้แก่ วัดหัวลำโพง คริสตจักรสามย่าน และคริสตจักรสะพานเหลือง ตลอดจนชุมชนต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบ

3. แยกศาลาแดง มีพื้นที่ทางทิศเหนือเป็นสถานเสาวภา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสวนลุมพินี และทิศใต้เป็นที่ดินของเอกชน อาจพัฒนาให้ทางเข้าออกหลักของย่านธุรกิจและพาณิชยกรรมถนนสีลม ทั้งนี้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรระหว่างสถานีสีลมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับสถานีศาลาแดงของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงอาจดำเนินการให้เป็นไปตามรูปแบบการพัฒนาบริเวณเปลี่ยนถ่ายการสัญจร โดยการสร้างทางเดินยกระดับและทางเดินใต้ดินเพื่อเชื่อมต่ออาคารต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณโดยรอบกับการเข้าออกของสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย

นอกจากนี้ ยังควรดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าความงดงามทางสถาปัตยกรรมของอาคารที่ตั้งอยู่ในสถานเสาวภาและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์ของสวนลุมพินี และบริเวณพื้นที่โดยรอบเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

4. แยกวิทยุ มีที่ดินทางทิศเหนือเป็นสวนลุมพินีและที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทางทิศใต้เป็นที่ดินของเอกชน อาจพัฒนาให้ทางเข้าออกหลักของย่านธุรกิจถนนสาทร และการพัฒนาให้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรโดยการสร้างทางเดินยกระดับและทางเดินใต้ดินเพื่อเชื่อมต่ออาคารต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณโดยรอบกับการเข้าออกของสถานีรถไฟฟ้าสายสีน ้าเงินและสถานีรถไฟฟ้าสายสีฟ้าที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคต 

นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาถึงการเชื่อมต่อถนนสายย่อยต่างๆ เข้ากับถนนโครงการตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครทีเชื่อมต่อจากแยกถนนวิทยุ-สารสินไปยังถนนรัชดาภิเษก ประกอบกับ การพัฒนาพื้นที่โล่งสาธารณะ และถนนคนเดิน (Pedestrian Mall) การปรับปรุงภูมิทัศน์ของสวนลุมพินี เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนรูปด้าน (facade) ของอาคารที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชน

5.แยกคลองเตย มีที่ดินทางทิศเหนือเป็นโรงงานยาสูบ (เดิม) ต่อเนื่องกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สวนเบญจกิติ และที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่กำลังมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และสำนักงาน ส่วทางทิศใต้เป็นที่ดินของการไฟฟ้านครหลวง และของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์เป็นตลาดสดขนาดใหญ่ อาคารพาณิชย์พักอาศัย และอาคารสำนักงาน ต่อเนื่องกับท่าเรือกรุงเทพซึ่งจะมีแผนจะพัฒนาเป็นย่านธุรกิจพาณิชยกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา (Riverfront Development) ต่อไปในอนาคต

การพัฒนาบริเวณดังกล่าวนี้จึงควรส่งเสริมให้เป็นย่านการประชุมและนิทรรศการ (Meetings, Incentives, Conventions, and Exhibitions หรือ MICE) ขนาดใหญ่ในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร และเป็นทางเข้าออกหลักของย่านธุรกิจพาณิชยกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะพัฒนาขึ้นต่อไป ทั้งนี้ควรดำเนินการปรับปรุงย่านพาณิชยกรรมเดิมและตลาดคลองเตยให้มีความทันสมัย และปรับปรุงภูมิทัศน์คลองถนนตรงและทางรถไฟสายปากน้ำ เพื่อสื่อถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เคยมีมาแต่อดีต

หากแผนที่วางไว้ถูกขับเคลื่อนร่วมกันอย่างจริงจัง เชื่อว่า ถนนพระราม 4 จะกลายเป็นอีกหนึ่งทำเลที่มีศักยภาพสูงของกรุงเทพฯที่คนทั่วโลกจะต้องทำความรู้จัก

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร