แม้จะมีกระแสข่าวกระเส็นกระสายมาตลอดว่า ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจจะประกาศใช้ไม่ทันวันที่ 1 มกราคม 2562 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ เนื่องด้วยมีอำนาจแฝงจากกลุ่มทุนต่างๆ อยากจะล้มกฎหมายฉบับนี้ แต่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีก็ยังยืนยันว่า จะไม่เลื่อนกำหนดประกาศใช้ออกไปอีก
ขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า ยังไม่มีการเลื่อนการประกาศใช้แต่อย่างใด แม้ว่าร่างยังอยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการมาแล้วปีกว่า โดยขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาความเห็นที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยเสนอเข้ามา
อีก 6 เดือนดีเดย์เก็บภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง
หากเป็นไปตามคำบัญชาของนายกฯ และคำยืนยันจากคณะกรรมาธิการฯ นั่นแสดงว่าในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า หรือในวันที่ 1 มกราคม 2562 นี้ ประชาชนคนไทยจะต้องเสียภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะขออัพเดตกฎมายดังกล่าวจากร่างล่าสุดที่เนื้อหาหลักส่วนใหญ่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯไปแล้ว เหลือบางส่วนที่กำลังพิจารณาตามที่ภาคเอกชนเสนอความเห็นเข้ามา
รวมถึงประเด็นที่อนุกรรมาธิการพิจารณาในเรื่องผลกระทบในด้านต่างๆ ซึ่งคณะกรรมาธิการได้มีการพิจารณายกเว้น หรือบรรเทาภาระทางภาษีให้ เช่น ที่ดินที่ถูกรอนสิทธิ์ เช่น ที่ดินที่ถูกบังคับโดยกฎหมายผังเมือง ที่ดินตาบอดที่อยู่ในทำเลที่มีมูลค่าที่ดินสูง แต่นำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาเอกชน สวนสนุก สวนสัตว์ รวมไปถึงธุรกิจที่รัฐบาลควรให้การส่งเสริม เช่น สนามกอล์ฟ ซึ่งถือเป็นกีฬาที่สร้างรายได้เข้าประเทศ แต่เป็นธุรกิจที่ใช้ที่ดินเยอะ มีรายได้ไม่สูงมาก
รวมถึงรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีที่ดินมาก แต่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น ที่ดินที่ใช้สร้างเขื่อน เป็นต้น จะได้รับการบรรเทาภาระทางภาษี ในส่วนของโครงการบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม ที่ดินที่เป็นทรัพย์ส่วนกลาง จัดไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของร่วมตามพ.ร.บ.อาคารชุด รวมถึงที่ดินที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่สีเขียว และสาธารณูปโภค ตามพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน จะได้รับการยกเว้นเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
บ้านเก็บ 0.3% มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านยกเว้น
สำหรับอัตราภาษีที่จะจัดเก็บตามร่างที่แก้ไขโดยคณะกรรมาธิการฯ กำหนดไว้ดังต่อไปนี้
-ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี จากร่างเดิมให้เก็บ 0.2%
ในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นรวมกันในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท
-ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.3% ของฐานภาษี จากร่างเดิมเก็บ 0.5%
ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และใช้สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ให้ได้รับการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท
-ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรม และอยู่อาศัยให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี จากร่างเดิมเก็บ 2%
ที่ดินเปล่าเก็บ 1.2% เก็บเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี
-ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี จากร่างเดิมเก็บ 2%
ในกรณีที่ไม่ทำประโยชน์ 3 ปีติดต่อกัน ให้เรียกเก็บภาษีในปีที่ 4 เพิ่มขึ้นในอัตรา 0.3% จากร่างเดิมเก็บเพิ่ม 0.5% และหากยังทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์เป็นเวลาติดต่อกันอีก ให้เพิ่มอัตราภาษีอีก 0.3% ในทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีที่เสียรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 3% จากร่างเดิมเก็บ 5%
ในส่วนของการลดและการยกเว้นภาษี ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ได้กำหนดไว้ว่า การลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องไม่เกิน 90% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย
ลดภาษี 2-3 ปีแรก บรรเทาภาระภาษี
นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คณะกรรมาธิการยังได้บรรเทาภาระภาษีในช่วงเริ่มต้นของการจัดเก็บภาษี ดังนี้
-การคำนวณภาษี ให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งคำนวณได้ตามการประมูลมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หักด้วยมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น ได้แก่ ที่ดินเกษตรมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท แล้วคูณด้วยอัตราภาษี ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสีย
-ใน 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี ดังต่อไปนี้
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
-มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.01%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 75 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาทให้ใช้อัตราภาษี 0.07%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
-มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 25 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
-มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 40 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.02%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 40 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 65 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 65 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 90 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 90 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่น
-มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.02%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.03%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 75 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.05%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.1%
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัย
-มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.3%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.4%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.5%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.6%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 5,000 บาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.7%
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์
-มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.3% ร้อยละศูนย์จุดสาม
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษีร้อย 0.4%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.5%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้ใช้อัตราภาษี 0.6%
-มูลค่าของฐานภาษีเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใช้อัตราภาษี 0.7%
นอกจากนี้ยังมีการบรรเทาการชำระภาษี ใน 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่
-ยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
-กรณีที่ผู้เสียภาษีได้รับการประเมินภาษีในจำนวนที่สูงกว่าจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องเสียในปีก่อนที่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้
บังคับ ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีตามจำนวนเงินที่ต้องเสียในปีก่อน เหลือจำนวนภาษีเท่าให้ผู้เสียภาษีชำระภาษี ดังนี้
-ปีที่ 1 ชำระ 25% ของจำนวนภาษีที่เหลือ
-ปีที่ 2 ชำระ 50% ของจำนวนภาษีที่เหลือ
-ปีที่ 3 ชำระ 75% ของจำนวนภาษีที่เหลือ
ประชาชนคนทั่วๆ ไป ที่เป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของคอนโด คงจะได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ไม่มากนัก เพราะมีข้อยกเว้นสำหรับบ้านและคอนโด เพื่อการอยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่คนที่มีบ้านมากกว่า 2 หลัง หรือคนที่ซื้อคอนโดไว้เพื่อลงทุน หรือคนที่มีที่ดินเปล่ายังไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่คนที่จะได้รับผลกระทบหนักคงไม่พ้นนายทุนที่มีที่ดินอยู่ในมือจำนวนมากๆ จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับมูลค่าและการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือครองอยู่ จึงมีความพยายามที่จะล้มกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ ซึ่งต้องติดตามกันต่อว่า ใครจะเป็นฝ่ายชนะ
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania