โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (The Royal Coast หรือ Thailand Riviera ไทยแลนด์ ริเวียร่า) เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตก เป็นโครงการที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเขตพัฒนา-ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้จากเมืองหลักสู่เมืองรอง โดยโครงการนี้มีระยะทางรวมกว่า 658 ก.ม. เริ่มจาก จ.สมุทรสงคราม-ชุมพร และหากได้รับการสนับสนุนงบฯ ตามแผน คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปี 67 ซึ่งเส้นทางนี้จะช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเมืองรองตามนโยบายรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
โดยเฟส 2 ถนนเลียบชายฝั่งทะเลใต้ ต่อจากชุมพรไปถึงสงขลา จะมีระยะทางรวมกว่า 578 ก.ม. ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้คาดว่าปลายเดือน ม.ค.62 ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ จ.สมุทรสงคราม, จ.เพชรบุรี, จ.ประจวบคีรีขันธ์, จนถึงจ.ชุมพร โดยแบ่งเป็นถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง 125 ก.ม., การปกครองส่วนท้องถิ่น 19 ก.ม. และเป็นในส่วนความรับผิดชอบของ ทางหลววงชนบท (ทช.) กว่า 514 ก.ม. นั้นขณะนี้ล่าสุดโครงการมีความคืบหน้าไปมากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่า 24 ก.ม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 24 ก.ม. และจะดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2562 อีก 48 ก.ม. ส่วนที่เหลืออีก 177 ก.ม. จะดำเนินการในปีงบประมาณตั้งแต่ปี 2563-2565
นอกจากนี้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า ทย. ได้จัดงบประมาณปี 2562 วงเงิน 6 ล้านบาท เพื่อเตรียมจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานสตูล เนื่องจากก่อนหน้านี้นักธุรกิจภาคเอกชนจากสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมในท้องถิ่นและเรียกร้องให้มีการสร้าง เนื่องจากมีความต้องการในการเดินทางโดยเครื่องบินจำนวนมาก ด้วยจังหวัดสตูลเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง “เกาะหลีเป๊ะ” ซึ่งถือเป็นจุดหมายท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และล่าสุด ยูเนสโก ยังได้ประกาศให้พื้นที่แหล่งธรณีวิทยาของ จ.สตูล เป็นอุทยานธรณีโลก ซึ่งจะเป็นอุทยานธรณีระดับโลกแห่งแรกในไทยอีกด้วย โดยเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวสตูลมากขึ้นหากมีการเดินทางโดยเครื่องบินได้โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ
และในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2561 กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จะเปิดประมูลการพัฒนาท่าอากาศยาน 2 แห่ง วงเงิน 3,800 ล้านบาท
1.ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช วงเงิน 1,800 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่
2.ท่าอากาศยานตรัง วงเงิน 2,000 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และลานจอดเครื่องบิน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสนามบินนครศรีธรรมราช และสนามบินตรัง ที่มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง ซึ่งรัฐบาลเตรียมผลักดันให้เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน กับอ่าวไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และการบริการ โดยหวังเชื่อมโยงการค้า ชายแดนภาคใต้ ที่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างเอเชียตะวันออก กับเอเชียใต้ รวมทั้งเป็นประตูส่งออกไปยังฝั่งตะวันตกภูมิภาค BIMSTEC ที่ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย
ที่มา : ข่าวสด
ไม่พลาดทุกข่าวสาร ทันทุกเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์กับ Baania ได้ที่ Line Official >> @baania