ถ้าพูดถึงเครื่อง 3D Printing หลายคนอาจจะคิดถึงการผลิตสินค้าหรือของที่ระลึกชิ้นเล็กๆ ที่ออกแบบด้วยโปรแกรมในคอมพิวเตอร์แล้วทำออกมาเป็นตัวสินค้าจริงๆ ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ แต่รู้หรือไม่ว่า ตอนนี้ในวงการการก่อสร้างได้การพัฒนาเครื่องมือดังกล่าว ให้สามารถผลิตสิ่งปลูกสร้างอย่างสะพานไปจนถึงบ้านเป็นหลังๆ กันได้แล้ว แถมยังสร้างได้เร็วเอามากๆ ลืมภาพการสร้างบ้านที่ต้องใช้เวลาหลายๆ เดือนไปได้เลย เพราะเทคโนโลยีนี้จะทำให้คุณได้บ้านหลังเล็กๆ หนึ่งหลัง ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง
เมื่อเดือนธันวาคม 2016 บริษัท Apis Cor รวมกับบริษัทพาร์ทเนอร์ต่างๆ ได้นำเทคโนโลยี Mobile 3D Printing มาทดลองสร้างบ้านนอกสถานที่เป็นครั้งแรก จากที่ผ่านมาจะเป็นการขึ้นรูปชิ้นส่วนของบ้านในโรงงานแล้วค่อยยกมาประกอบหน้างานอีกที โดยเริ่มก่อสร้างที่ เมืองสตูปิโน่ (Stupino) ประเทศรัสเซีย และใช้อุปกรณ์แบบใหม่ที่สามารถทำงานหน้างานได้
เทคโนโลยีนี้ประกอบไปด้วย เครื่องพิมพ์ก่อสร้าง 3D (Mobile Construcion 3D Printer Apis Cor), เครื่องผสมและจ่ายคอนกรีต (Mobile Automated Concrete Mix and Supply Unit), โปรแกรมสั่งงาน (Proprietary Software), โปรแกรมควบคุม (Control Program), ถังเก็บวัตถุดิบ (Dry Mixture Storage Silo) และต้องใช้คนงานและวิศวกรในการควบคุมการก่อสร้าง
ตัวเครนสามารถใช้รถบรรทุกขนได้ เมื่อติดตั้งแล้วตัวเครนจะสามารถทำงานหมุนได้รอบตัว 360 องศา มีรัศมียืดแขนสูงสุดที่ 6.50 เมตร ฉีดปูนได้เส้นตรงได้ยาวสูงสุด 128.00 เมตร เทปูนได้ระดับสูงจากพื้นที่ 3.30 เมตร และไม่สามารถเทส่วนใกล้กับฐานได้เนื่องจากติดระยะแขนของเครนและไม่สามารถเทใกล้ฐานได้ โดยต้องเว้นระยะไว้ด้านหน้า 4.00 เมตร และด้านข้าง 1.70 เมตร ซึ่งหากต้องการเทปูนที่อยู่เกินระยะที่สามารถเทได้ ต้องใช้เครนอีกตัวเป็นตัวช่วยทำงานพร้อมกัน และหากต้องการทำบ้านที่สูงกว่า 1 ชั้น ต้องใช้การก่อสร้างแบบผลิตชิ้นส่วนและนำไปประกอบหน้างาน
วิธีการก่อสร้างจะมีการเตรียมพื้นที่ฐานรากและปรับระดับพื้นไว้ก่อน และนำตัวเครนมาติดตั้งหน้างาน แต่เนื่องจากการทดสอบที่ขึ้นที่รัสเซียซึ่งมีอากาศหนาวเย็นและมีหิมะตก จึงต้องมีการคลุมเต็นท์เพื่อปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับที่เครื่องจักรและกระบวนการต่างๆ สามารถทำได้ แล้วจึงเริ่มต้นเทปูนตามแบบที่ออกแบบไว้ผ่านระบบ และใช้แรงงานคนในการเติมชิ้นส่วนอย่างเสาและโครงสร้างบางส่วนระหว่างการเทปูนด้วยเครื่อง และเมื่อเทผนังและที่กั้นห้องแล้วเสร็จ จะใช้รถเครนยกต้องเครื่องฉีดปูนออก ซึ่งในส่วนที่ใช้เครื่องจักรทำงานนั้นจะใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง แล้วติดตั้งหลังคาและส่วนประกอบอื่นๆ มาติดตั้งด้วยแรงงานคนอีกที
ตัวบ้านมีพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดอยู่ที่ 38 ตารางเมตร ภายในของบ้าน มีส่วนโถงต้อนรับ ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่นพร้อมด้วยทีวีจอโค้งที่สามารถติดตั้งบนผนังโค้งได้อย่างพอดี และครัวขนาดเล็กพร้อมด้วยตู้เย็นขนาดเล็ก เตาไฟฟ้า ตู้อบไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ และเครื่องล้างจาน ผนังรอบบ้านมีการฉีดโฟมฉนวนกันความร้อน ตกแต่งภายนอกด้วยปูนฉาบและทาสีเหลืองทับ ค่าก่อสร้างของบ้านอยู่ที่ 10,134 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 330,000 บาท คิดเป็นตารางเมตรละ 275 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 9,000 บาท ราคานี้จะรวมค่าวัสดุ และการก่อสร้างทุกอย่างจนแล้วเสร็จ แต่จะไม่รวมราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์
ข้อดีของบ้าน 3D Printing คือ เมื่อเทียบกันกับการก่อสร้างรูปแบบเดิมที่ใช้ผนังก่อด้วยแรงงานคน จะช่วยประหยัดทั้งแรงงานคนและวัสดุมากกว่า โดยการก่อสร้างรูปแบบเดิมนั้นต้องใช้พลังงานในการผลิตวัตถุดิบในการก่อสร้าง การขนส่ง และพลังงานคน ซึ่งการใช้คนในการทำงานยังเสี่ยงต่อความผิดพลาดและใช้เวลาทำงานค่อนข้างนาน
นอกจากนี้ยังสามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอในหลายๆประเทศ และสามารถสร้างบ้านทดแทนสำหรับพื้นที่เกิดภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหวและน้ำท่วมได้ทันทีโดยใช้เวลาไม่นาน และยังดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะช่วยลดการสูญเสียพลังงานระหว่างก่อสร้างและเกิดขยะที่เกิดจากการก่อสร้างน้อยลง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยีนี้อาจจะเข้ามาแทนการก่อสร้างบ้านแบบเดิมๆ ก็เป็นไปได้นะครับ
ที่มาและภาพประกอบ: http://apis-cor.com