ระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นอีกหนึ่งโครงการเร่งด่วนในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้รับงบประมาณเพื่อใช้ในการก่อสร้างด้วยเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) โดยก่อสร้างสัญญาที่ 1 (สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) ปัจจุบันมีความคืบหน้า 47.26% และสัญญาที่ 2 (งานโยธาช่วงบางซื่อ-รังสิต) คืบหน้า 67.73% และสัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า สำหรับช่วงบางซื่อ – รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มีความคืบหน้า 0.83% คาดว่าจะเปิดใช้งานได้จริงประมาณต้นปี 2563 โดยช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันอาจจะใช้งานได้ก่อนเพราะมีความพร้อมรองรับไว้แล้ว
แนวเส้นทางมีระยะทางรวม 26.3 กิโลเมตร เริ่มจากบริเวณแยกประดิพัทธ์ที่ห่างจากสถานีกลางบางซื่อไปทางทิศใต้ประมาณ 1.8 กิโลเมตรขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวเขตทางรถไฟสายเหนือไปสิ้นสุดที่รังสิต จังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ยังมีแผนจะต่อขยายแนวเส้นทางไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยก่อสร้างเป็นทางยกระดับจากช่วงบริเวณถนนประดิพัทธ์-ดอนเมือง ระยะทาง 19.2 กิโลเมตร และลดระดับลงมาเป็นทางระดับพื้นดินไปจนถึงสถานีรังสิต ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร มีจำนวน 10 สถานีเริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะฯ สถานีดอนเมือง สถานีหลักหก และสถานีรังสิต
ดังนั้นหากรถไฟสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการจะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศไทยรวมทั้งเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้บริการอย่างครบครันทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน(Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูง คาดว่าเมื่อเดินรถจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 3.06 แสนคน/วัน (ในปีที่เปิดดำเนินการ) และเมื่อขยายแนวเส้นทางไปถึงชุมทางบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มเป็นประมาณ 4.49 แสนคน/วัน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 – 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559
ที่มา : thansettakij