“สำนักพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดเชียงใหม่” (สพค.) เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของธุรกิจ ตั้งแต่การจัดตั้งธุรกิจไปจนถึงการจดทะเบียนให้ธุรกิจสิ้นสภาพล้วนแต่ผ่านองค์กรนี้ทั้งสิ้น โดยในแต่ละปีมีการจดทะเบียนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศในช่วงนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
HBG ฉบับนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณกรรณิการ์ มีผล ด้านการพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจจังหวัดเชียงใหม่ในปีที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มปี 2557 ซึ่งมีความน่าสนใจดังนี้
หน้าที่ของสำนักพัฒนาธุรกิจการค้ามีอะไรบ้าง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สังกัดของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจโดยตรง ซึ่งมีภารกิจหลัก 3 ด้าน ประกอบด้วย
ตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจของปี 2556 และแนวโน้มปี 2557 เป็นอย่างไร
ในปี 2556 มีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทจำนวน 1,941 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ร้อยละ 11 หรือ 189 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมของปี 2556 ทั้งสิ้น 3,530 ล้านบาท ลดลงจากปี 2555 ร้อยละ 32 หรือ 5,228 ล้านบาท ทั้งนี้ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนตั้งใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.ประเภทการก่อสร้างอาคารทั่วไป 2.ประเภทการขายส่งสินค้าที่ใช้ในครัวเรือน 3.ประเภทอสังหาริมทรัพย์ได้แก่ ตัวแทนการซื้อขาย-ให้เช่า, การพัฒนาที่พักอาศัย เช่น บ้านพร้อมที่ดินและอาคารห้องชุด, คอนโดมิเนียม, ห้างสรรพสินค้า, โรงภาพยนตร์, สิ่งปลูกสร้างอาคารสำนักงานรวมถึงตลาดอาคารที่เก็บของ 4.ประเภทภัตตาคารร้านอาหาร และ 5.ประเภทโรงแรมที่อยู่อาศัยอื่นๆ ได้แก่ รีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ ที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (โฮมสเตย์) หรือที่พักระยะสั้น มีสัดส่วนร้อยละ 13, 8, 7, 4, 4 ตามลำดับ เป็นทุนจดทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 1,700 ล้านบาท
สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกในปี 2556 มีจำนวน 629 ราย ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11 หรือ 78 ราย และมีทุนจดทะเบียนรวม 1,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10 หรือ 1,126 ล้านบาท โดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนยกเลิกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.บริการนันทนาการอื่นๆ หรือธุรกิจจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล 2.การก่อสร้างอาคารทั่วไป 3.อสังหาริมทรัพย์ 4.การขายส่งสินค้าที่ใช้ในครัวเรือน และ 5.การขายส่งสินค้าขั้นกลางและของไม่ใช้แล้ว โดยมีสัดส่วนร้อยละ 79, 71, 49, 45 แลt 27 ตามลำดับ รวมเป็นทุนจดทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 430 ล้านบาท
สำหรับการจดทะเบียนธุรกิจในปี 2557 ไตรมาสแรกมีผู้ประกอบการขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 505 ราย ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2556 แต่กลับพบว่าทุนจดทะเบียนในปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เป็นมูลค่ากว่า 1,060 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2556 ทั้งนี้ห้างหุ้นส่วนบริษัทที่จดทะเบียนตั้งใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ขายส่ง-ขายปลีก 2.ก่อสร้างอาคารทั่วไป 3.อสังหาริมทรัพย์ 4.ภัตตาคารร้านอาหาร และ 5.ธุรกิจนำเที่ยว มีสัดส่วนร้อยละ 30, 11, 8, 4, 4 ตามลำดับ มีทุนจดทะเบียนรวมกว่า 600 ล้านบาท แนวโน้มการจดทะเบียนในปี 2557 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 20 หากสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวดีขึ้น
ปัจจุบันมีกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาลงในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 558 ราย มูลค่าการลงทุน 836 ล้านบาท 2.จีน จำนวน 453 ราย มูลค่าการลงทุน 1.14 พันล้านบาท และ 3.อังกฤษ มีจำนวน 452 ราย มูลค่าการลงทุน 461 ล้านบาท ทั้งนี้แม้จำนวนนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาจะมีปริมาณมากที่สุด แต่มูลค่าการลงทุนนั้นพบว่ากลุ่มทุนจากประเทศจีนมีมูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับ 1 รองมาเป็นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
การจดทะเบียนธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ปี 2557 เป็นอย่างไร
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 มีการจดทะเบียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 38 รายประกอบไปด้วย ตัวแทนการซื้อขาย-ให้เช่า, กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการต่างๆ เช่น บ้านพร้อมที่ดิน, อาคารห้องชุด, คอนโดมิเนียม, ห้างสรรพสินค้า, โรงภาพยนตร์, สิ่งปลูกสร้างอาคารสำนักงาน รวมถึงตลาดอาคารเก็บของ พบว่ามีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 166 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2556 สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในปี 2557 ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง 21 ราย อำเภอสารภี 5 ราย, อำเภอหางดง 4 ราย, อำเภอสันทราย 4 ราย, อำเภอแม่ริม 1 ราย และอำเภอสันป่าตอง 1 ราย
คุณกรรณิการ์ มีผล ด้านการพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดเชียงใหม่
ปัจจัยที่มีผลต่อการจดทะเบียนธุรกิจของผู้ประกอบการมีอะไรบ้าง
ตัวเลขการจดทะเบียนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง เนื่องจากนโยบายทางภาครัฐ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่สะดุด รวมถึงปัญหาทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศและจังหวัดเชียงใหม่ชะลอตัวลง นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ ส่งผลให้ตัวเลขของการจดทะเบียนธุรกิจลดลง
ทั้งนี้ยังมีปัจจัยบวกที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าการลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ นโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ, การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และนโยบายภาครัฐบาล เช่น โครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 เชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่โตขึ้น
อีกทั้งจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือ เชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น พม่า, ลาว และจีนตอนใต้ รวมทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และการท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อคนหลั่งไหลมายังจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้น ก็ทำให้เกิดการลงทุนส่งผลในการขอจดทะเบียนธุรกิจขึ้น ต่อเนื่องมาถึงความต้องการที่อยู่อาศัยและพื้นที่ในการประกอบธุรกิจ หากสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน
ข้อแนะนำการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจมีอะไรบ้าง
ปัจจุบันมีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการจดทะเบียนธุรกิจโดยใช้ชื่อคู่สมรสคนไทยหรือกลุ่มนักลงทุนแฝง (นอร์มินี) และรูปแบบการจดทะเบียนเป็นบริษัทที่ถือหุ้นร่วมกับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2558 เป็นปีแรกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เชื่อว่าจะทำให้กลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นการที่ชาวต่างชาติจะเข้ามาลงทุนจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อกำหนดกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เพื่อจะได้ทราบแนวทางปฏิบัติอย่างถูกต้อง ส่วนทุนต่างชาติที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ควรศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน เช่น พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 หรือ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 เพื่อจะได้ทราบสิทธิและข้อปฏิบัติการถือครองที่ดินหรืออาคารชุดในพื้นที่ของทุนต่างด้าวได้
ตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจช่วงต้นปีแม้จะมีจำนวนลดลง แต่ยังพบว่าในทุกๆ ปีมีการขอจดทะเบียนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกลุ่มธุรกิจอันดับต้นๆ ที่มีการขอจดทะเบียนตั้งใหม่ ย่อมแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการเติบโต เพียงแต่จะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วยเช่นกัน...