Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

สินค้าวัสดุชูนวัตกรรมบุกตลาดยุค 4.0

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เรื่องของสถาปัตยกรรม การออกแบบ ตกแต่ง เป็นอะไรที่หลายๆ คนชื่นชอบ โดยไม่ได้จำกัดวงอยู่กับกลุ่มคนที่มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ และก่อสร้างเท่านั้น คนทั่วไปที่ชอบดูงานออกแบบ ชอบการแต่งบ้าน หรือชอบอัพเดตเทรนด์ใหม่ๆ เกี่ยวกับวัสดุต่างๆ ในบ้าน ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย และเป็นประจำทุกปีที่สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานสถาปนิกขึ้นเพื่อแสดงผลงานด้านสถาปัตยกรรม วัสดุและเทคโนโลยี่ด้านการก่อสร้าง เพื่ออัพเดตความเคลื่อนไหวในแวดวงสถาปัตยกรรม ให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจได้คอยติดตาม

สำหรับงานสถาปนิก’61 ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Vernacula Living  โดยใช้ชื่องานว่า “Beyond Ordinary: ไม่ธรรมดา”  โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและงานออกแบบพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยของสังคมไทย เนื่องจากปัจจุบันสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นต่างๆ กำลังถูกท้าทายด้วยปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง 

งานนี้จึงต้องการสะท้อนถึงกระบวนการที่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการนำเสนอนิทรรศการ การออกแบบที่นำวัสดุต่างๆและวิถีของแต่ละพื้นถิ่นมานำเสนอในงาน ซึ่งดูจากงานหลายๆ ชิ้นที่นำมาจัดแสดงแล้ว ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว ถ้าหากสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดต่อไปได้อย่างถูกทิศถูกทางแล้วเชื่อว่า สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของจะไม่ถูกกลืนกินจนสูญหายไปอย่างแน่นอน

นอกจากในแง่มุมทางวิชาการแล้ว ในงานสถาปนิกแต่ละปีจะมีบริษัทผู้ผลิตและจำหนายสินค้า วัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับบ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมแสดงในงาน โดยเฉพาะการนำเสนอสินค้าใหม่ พร้อมกับนวัตกรรมต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในหลากหลายไลฟ์สไตล์ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์สำคัญของงานสถาปนิกในทุกๆ ปี

ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน นวัตกรรมของสินค้าต่างๆ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในแง่ของนวัตกรรมที่ใช้ในการผลิต การดีไซน์ หรือนวัตกรรมที่ช่วยทำให้การใช้สินค้าต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น ประหยัดขึ้น และรวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ได้มากขึ้น กลายเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตจะต้องมีนำเสนอไม่มากก็น้อยตามศักยภาพของแต่ละบริษัท รวมถึงสินค้าที่ผลิตขึ้นมารองรับสังคมผู้สูงวัย กลายเป็นกระแสที่มาแรง เช่นเดียวกับสินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม  และวัสดุทดแทนต่างๆ ก็ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 
มาดูกันหน่อยว่า ผู้ผลิตและจำหน่ายรายใหญ่ๆ มีอะไรมานำเสนอเป็นไฮไลท์ในงานนี้กันบ้าง 

เปิดตัวหุ่นยนต์'ดินสอมินิ'ดูแลผู้สูงวัย
ขอเริ่มจาก เอสซีจี ปีนี้ใช้พื้นที่ในงานมากที่สุด อนุวัตร เฉลิมไชย Brand Management and Communication Director เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวว่า ในปีนี้เอสซีจีนำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและเทคโนโลยีการอยู่อาศัยมาจัดแสดงภายใต้แนวคิด “Passion for Better Living” แรงผลักดัน…เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า ด้วยกระบวนการค้นหาความต้องการเชิงลึกของลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย ได้แก่ กลุ่มผู้ชื่นชอบเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยในชีวิตประจำวัน (Tech Savvy) กลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องการผู้ช่วยในเรื่องการปรับปรุงบ้าน (Baby Boomer) และกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องความคุ้มค่ากับงบประมาณที่ตรงกับใจ (Smart Saver) 

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ หรือดินสอมินิผู้ช่วยสำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือผู้สูงอายุติดเตียงซึ่งเป็นความร่วมมือกับผู้ผลิตหุ่นยนต์ดินสอในการพัฒนาโปรแกรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ตอบโจทย์ครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุที่มีโรคเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์เพื่อชีวิตประจำวันที่ดียิ่งขึ้น (Activity of Daily Living Products) ที่คัดสรรมาอย่างดีเพื่อเติมเต็มการใช้ชีวิตภายในบ้านของผู้สูงอายุ เป็นต้น

สุขภัณฑ์ไร้คราบ-กระเบื้องกรองอากาศ
มาที่บริษัท ลิกซิล (ประเทศไทย) บริษัทรายใหญ่ที่มีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยอยู่ในมือมากมายหลายแบรนด์ เช่น American Standard, Grohe, INAX และ TOSTEM โดย สิทธิรัฐ วัชราภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลิกซิล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ลิกซิลมาในธีม “Lixil link to good living” เพื่อที่จะเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีแกนหลักสำคัญในการจัดแสดง 2 ส่วนคือ (1) ผลิตภัณฑ์มาตรฐานระดับสากลรุ่นใหม่ล่าสุด (2) นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหนือใครตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายลูกค้าเราทั้งหมด 
ไฮไลท์นวัตกรรมเด่นๆ ของลิกซิล ได้แก่  (1) ‘Aqua Ceramic’ นวัตกรรมทางวัสดุศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ใหญ่ของปัญหาด้านสุขภัณฑ์ คือคราบสกปรกและคราบน้ำ ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยให้สุขภัณฑ์ขาวสะอาด จนกล้าพูดได้ว่า 100 ปียังดูดีเหมือนใหม่  และยังช่วยลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย (2) Comfort Clean เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยี ป้องกันและยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้ออิโคไลน์ที่เป็นสาเหตุหลักของโรคทางเดินอาหาร

GROHE มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นไฮไลท์คือ ‘AquaSymphony’ เรนชาวเว่อร์ขนาดใหญ่พิเศษ 1 เมตร ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบน้ำได้ถึง 6 ฟังก์ชั่น ผสานกับเสียงเพลง แสงไฟหลากสี  INAX สุขภัณฑ์อัจฉริยะจากประเทศญี่ปุ่น นำเสนอ INAX Ecocarat เทคโนโลยี และดีไซน์เกี่ยวกับกระเบื้องที่สามารถผลิตวัสดุกระเบื้องที่มีคุณสมบัติในการกรองอากาศได้ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตให้วัสดุมีรูพรุนขนาดเล็กถึง 1 ส่วนล้านมิลลิเมตร และยังควบคุมความชื้นของตัววัสดุให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ลดปัญหาการก่อเกิดเชื้อรา, สามารถดูดซับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ได้ 

ชูโซโลชั่นก่อสร้างตอบโจทย์ลูกค้า
ด้านบริษัทรายใหญ่อีกรายอย่าง แซง-โกแบ็ง ได้นำสินค้าในเครือ ได้แก่ ผนังและฝ้า เพดานยิปซัม แบรนด์ “ยิปรอค”  ผลิตภัณฑ์กาวซีเมนต์ปูกระเบื้อง กาวยาแนว ผลิตภัณฑ์ป้องกันน้ำรั่วซึม และมอร์ต้าสำหรับงานก่อสร้าง ตราตุ๊กแก และแซง-โกแบ็ง กลาส เอ็กซ์โปรเวอร์ ประเทศไทย  ผู้ผลิตกระจกสำหรับที่อยู่อาศัยและอาคาร นำเสนอโซลูชั่นส์การก่อสร้างที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในเรื่องการบริหารโครงการ การประหยัดพลังงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด Multi Comfort by Saint-Gobain ครอบคลุมการก่อสร้างและการตกแต่งต่อเติมทั้งสำหรับอาคารบ้านพักอาศัย สำนักงาน โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา 

นวัตกรรมผลิตกระเบื้องล้ำสมัย
UMI Group ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและกระเบื้องบุผนัง แบรนด์ดูราเกรส และแบรนด์เซอเกรส นำนวัตกรรมกระเบื้องใหม่ล่าสุดมาถ่ายทอดผ่านแนวคิด ”HOMIE”  รวมถึงนำเสนอนวัตกรรมและเทคนิคในการผลิต เช่น Aqua Effect : เทคนิคการสร้างผิวสัมผัสของกระเบื้องเสมือนมีผลึกแก้วอยู่ด้านบนผิวกระเบื้อง Carving Effect : เทคนิคการสร้างมิติบนกระเบื้อง สร้างลวดลายต่างๆ ด้วยการกัดผิวหน้ากระเบื้องผิวแม็ทให้ลึกลงไปจนเกิดเป็นลวดลายต่างๆ ตามที่กำหนด  Sugar Effect : เทคนิคการสร้างแสงเงาบนกระเบื้อง  ด้วยการเคลือบผิวหน้ากระเบื้องด้วยสารที่เมื่อผ่านการเผาแล้ว  จะทำให้กระเบื้องมีความเหลือบเล่นกับแสงไฟ  เหมือนเคลือบด้วยน้ำตาล เป็นต้น

นอกจากผู้ผลิตและจำหน่ายสัญชาติไทยแล้ว ในงานสถาปนิกช่วงปีหลังๆ มานี้เริ่มมีบริษัทจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งบริษัทในเอเชียนำโดย จีน และบริษัทในยุโรป และอเมริกาก็เข้ามาร่วมงานในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้จัดงาน กล่าวว่า ในปีนี้มีบริษัทต่างประเทศเข้าร่วมงานมากขึ้นกว่า 35% จากปีก่อน ทั้งจากทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา อาทิ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และสาธารณรัฐเช็ค รวมถึง IMAG บริษัทชั้นนำจากประเทศเยอรมนี ผู้จัดงานแสดงสินค้าด้านการก่อสร้างมาแล้วทั่วโลกที่นำเอาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างระดับสูงมาให้ได้ชมกันด้วย

สินค้าจีนรุกหนักปูพรมเจาะรายย่อย
ที่น่าติดตามความเคลื่อนไหวคือ ผู้ผลิตจากจีนที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีนี้มีจำนวนผู้ร่วมงานเพิ่มประมาณ 10-20% โดยรัฐบาลท้องถิ่นของจีนให้การสนับสนุนในการเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศ บางมณฑลออกงบในการดำเนินการ 50-100% เลยทีเดียว และการทำตลาดของสินค้าที่เป็นวัสดุ อุปกรณ์จากจีนเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นสินค้าราคาถูก กลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ ดีไซน์ และการสร้างแบรนด์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ยากที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว
ขณะที่ผู้บริหาร UMI Group กรุ๊ป สมบูรณ์ อุรานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม บริษัทในเครือ UMI Group  ให้ข้อมูลเพิ่มว่า จากการที่รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจากการนำเข้าสินค้ากระเบื้องปูพื้นและทางเดิน กระเบื้อง ปูพื้นเตาหรือติดผนัง ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศจีนส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยมากขึ้น โดยที่สินค้าจากจีนเริ่มหันมาเน้นในเรื่องคุณภาพมากขึ้น และเริ่มเห็นทีมขายของจีนเข้าไปเจาะตลาดร้านค้ารายย่อยตามพื้นที่ต่างๆ นั่นสะท้อนให้เห็นว่า จีนกำลังขยายวงลงลึกไปถึงตลาดรายย่อยมากจากเดิมที่ร้านค้าโมเดิร์นเทรด หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้นำเข้ามาใช้หรือจำหน่ายเป็นหลัก 

“ตลาดกระเบื้องในประเทศมีมูลค่ารวมประมาณ 33,000 ล้านบาท 25% เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศซึ่งจีนมีสัดส่วนสูงถึง 70% และเมื่อดูจากประเทศต่างๆ จะพบว่าสัดส่วนสินค้าจากต่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าจะถึง 50% ภายใน 10 ปีนี้ บริษัทไทยต้องปรับตัวโดยเน้นในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพ การนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ เพิ่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า” สมบูรณ์ให้ความเห็น
เป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการไทยที่จำเป็นต้องเร่งปรับตัว ซึ่งเท่าที่เห็นจากงานสถาปนิกทุกๆ บริษัทก็เริ่มจับในเรื่องของนวัตกรรมมาพัฒนาตัวสินค้าและเป็นจุดขาย ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่อาจจะช่วยให้ สินค้าไทยอยู่รอดได้ แต่จะนานแค่ไหนก็ต้องคอยดู

Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร