บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยบทวิเคราะห์ศักยภาพทำเลถนนวิภาวดีรังสิต หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 สายดินแดง-บรรจบทางหลวงหมายเลข 1 (อนุสรณ์สถานแห่งชาติ) ซึ่งถือเป็นอีกทำเลหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของศักยภาพของพื้นที่อย่างมากถึง 2 โครงการ
โครงการแรกคือ แผนพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธินหรือสถานีกลางบางซื่อ ให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่ ที่เป็นทั้งศูนย์กลางการขนส่งหลายรูปแบบและศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อไปยังทุกภาคของประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย บนพื้นที่กว่า 2,300 ไร่ ซึ่งมีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Transportation Hub)
สำหรับสถานีกลางบางซื่อจะเป็นสถานีต้นทางของโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต รวมทั้งช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยตัวสถานีมีพื้นที่กว่า 400,000 ตารางเมตร แบ่งการใช้งานเพื่อรองรับการเดินรถไฟประเภทต่างๆ ได้แก่ รถไฟทางไกล, รถไฟชานเมือง, รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน และรถไฟขนาดทางมาตรฐานในอนาคต ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 60% แล้ว คาดว่าแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันภายในปี 2563
สำหรับพื้นที่บริเวณโดยรอบศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งหมด ภาครัฐยังมีแผนจะพัฒนาให้เป็นต้นแบบของ TOD (Transit Oriented Development) ของประเทศไทย โดยใช้สถานีขนส่งสาธารณะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระดับอาเซียนและศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของมหานคร เพื่อรองรับด้านพาณิชยกรรม และที่พักอาศัยที่มีความหนาแน่นสูง โดยเบื้องต้นแบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 8 โซน โดยนำพื้นที่โซน A เนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ ที่อยู่ห่างสถานีกลางบางซื่อ 50-100 เมตร ออกมาออกมาเปิดประมูล ในรูปแบบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุน พ.ศ.2556 เพื่อจัดทำร่างข้อตกลงเบื้องต้น (ทีโออาร์)
ส่วนอีกโครงการที่มีบทบาทสำคัญนั่นคือ โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตซึ่งโครงสร้างอยู่บนแนวถ.พหลโยธินและจุดตัดถ.วิภาวดีรังสิตตรงบริเวณห้าแยกลาดพร้าวระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตรขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าไปมาก มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2563 โดยรถไฟฟ้าสายนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง รวมทั้งรถไฟฟ้า MRT ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการแล้วจะกลายเป็นเส้นทางเชื่อมโยงเข้าสู่ย่านใจกลางเมืองโดยไม่ต้องเปลี่ยนสาย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์(เชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานดอนเมือง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยมีแนวเส้นทางตามเขตการรถไฟเดิม
ในอดีตย่านนี้ถือเป็นแหล่งพักอาศัยแต่เมื่อมีรถไฟฟ้า BTS เข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2542ก็ได้มีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารทหารไทย,อาคารสำนักงานซันทาวเวอร์, อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท.,อาคารเอ็นเนอยี่คอมเพล็กซ์,ยูเนี่ยนมอลล์หรือแม้กระทั่งห้างเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าวก็ยังมีการรีโนเวทปรับปรุงโฉมใหม่ ตลอดจนร้านค้า, อาคารพาณิชย์ต่างๆ มากขึ้น
แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ราคาที่ดินโดยรอบขยับตัวตาม ปัจจุบันราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์รอบปี 2559-2562 ถนน.วิภาวดีรังสิต (ในเขตห้วยขวาง, พญาไท, ดินแดง) อยู่ที่ 220,000 บาทต่อตารางวา, ถนนวิภาวดีรังสิต (ในเขตจตุจักร) อยู่ที่ 150,000-260,000 บาทต่อตารางวาและถนนวิภาวดีรังสิต ในเขตพื้นที่ดอนเมือง อยู่ที่ 120,000 บาทต่อตารางวา แต่ปัจจุบันราคาซื้อขายที่ดินติดถนนในทำเลพหลโยธิน-ลาดพร้าว-วิภาวดีรังสิตได้พุ่งไปมากกว่านั้นหลายเท่าและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อโครงการเมกะโปรเจ็กต์ดังกล่าวแล้วเสร็จ
เช่นเดียวกับแนวโน้มการพัฒนาที่ดินโดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูง ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม High Rise และ Low Rise ที่เกิดขึ้นรองรับศักยภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่บริเวณแนวถนนพหลโยธิน ช่วงหมอชิตเดิม, บริเวณห้าแยกลาดพร้าว และถนนวิภาวดีรังสิตเองก็ตาม ถึงแม้จะไม่มีรถไฟฟ้าพาดผ่านพื้นที่โดยตรง หากแต่มีสถานีรถไฟฟ้าถึง 2 สายที่จะสามารถไปใช้บริการได้อย่างสะดวก ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน (ที่สถานีพหลโยธิน และสถานีจตุจักร) และรถไฟฟ้า BTS สถานีหมอชิต จึงทำให้การเดินทางเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งเข้า-ออกเมือง มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น
ดังนั้น ศักยภาพของพื้นที่ย่านวิภาวดีรังสิตคาดว่าจะมีศักยภาพสูงขึ้น เนื่องมาจากโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธินจะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟธรรมดา, รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนเชื่อมต่อในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่ที่ดินส่วนใหญ่เป็นของการรถไฟฯ จึงเปิดโอกาสให้ที่ดินของเอกชนในย่านวิภาวดีรังสิต สามารถพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม, เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ หรืออาคารสำนักงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่ และกลายเป็นทำเลที่น่าจับตามองอีกแห่งหนึ่งในอนาคต
ล่าสุดนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดตัวโครงการมิกซ์ยูสแห่งแรก ติดริมถนนวิภาวดีรังสิต ด้วยศักยภาพของทำเลที่สามารถเชื่อมต่อไปสู่เขตกรุงเทพชั้นในผ่านถนนพหลโยธิน อีกทั้งยังเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมต่อไปยังภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญและองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่ง
ประกอบกับ ทำเลนี้ยังเหมาะแก่การพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ด้วยตอบสนองความต้องการอาคารสำนักงานของบริษัทจำนวนมาก ซึ่งมีความสะดวกในการติดต่อกับกลุ่มลูกค้า ซัพพลายเออร์และพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่อาจอยู่ในย่านดังกล่าวหรือห่างออกไปในโซนด้านเหนือของกรุงเทพฯ จากเหตุผลดังกล่าวบริษัทจึงได้พัฒนาโครงการให้เป็นลักษณะมิกซ์ยูส มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท จำนวน 4 อาคาร ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน 2 อาคารด้านหน้าและอาคารจอดรถอีก 1 อาคาร โดยอาคารสำนักงาน คือ “ลุมพินี ทาวเวอร์ วิภาวดี จตุจักร” ประกอบด้วย ทาวเวอร์ A เป็นอาคารสำนักงาน สูง 21 ชั้น จำนวน 105 ยูนิต และทาวเวอร์ B อาคารสำนักงาน สูง 17 ชั้น จำนวน 96 ยูนิต 1 ร้านค้า
สำหรับอาคารชุดพักอาศัยภายใต้แบรนด์ “ลุมพินี พาร์ค วิภาวดี จตุจักร” ตั้งอยู่ในซอยวิภาวดีรังสิต 3 พัฒนาภายใต้แนวคิด “Work&Life” เนื้อที่โครงการประมาณ 8 ไร่เศษ เป็นอาคารชุดพักอาศัยสูง 21 ชั้น จำนวน 736 ยูนิต ขนาดห้องชุดประกอบด้วย 24 – 53 ตร.ม. ราคาเริ่มต้น 2.49 ล้านบาท ฟรีเฟอร์นิเจอร์และแอร์ กำหนดเปิดขายในวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2561 และเริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2561 พร้อมเข้าพักอาศัยเดือนธันวาคม 2562
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania