ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ภาพรวมยังอยู่ในสภาวะที่ต้องจับตามองอย่างระมัดระวัง
บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย เผยทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2560 ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโต 3.4% สำหรับในการลงทุน เนื่องจากกำลังซื้อยังชะลอตัว ระดับรายได้ของอุปสงค์ใหม่ยังไม่สูงพอ หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารมีสูง อัตราการปฏิเสธสินเชื่อยังคงแนวโน้มที่สูงโดยเฉพาะบัดเจ็ต คอนโด (Budget Condo) พื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกยังต้องระมัดระวัง
สำหรับพื้นที่เสี่ยงจะอยู่ในย่านถนนรัตนาธิเบศร์ ติวานนท์ เนื่องจากมีปริมาณอุปทานคงเหลือมาก การแข่งขันทางการตลาดสูง อัตราการดูดซับต่ำ กำลังซื้อมีน้อย อาจมีผลให้ระดับราคาขายลดลง ส่วนพื้นที่น่าจับตามองจะอยู่ในแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สายสีเขียวอ่อน หมอชิต–คูคต สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ซึ่งยังมีปริมาณอุปทานในปัจจุบันน้อย น่าจะยังมีกำลังซื้อที่ดีอยู่ แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะอุปทานที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาได้มีอยู่มาก
ส่วนตลาดคอนโดมิเนียม ซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่กรุงเทพฯ ชั้นในกำลังซื้อยังมีต่อเนื่อง และมีโครงการใหม่เปิดต่อเนื่อง ระดับราคาขายปรับสูงขึ้น สืบเนื่องจากราคาที่ดินที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปริมาณอุปทานที่ดินที่มีจำกัดตลาดอาจมีการเก็งกำไรค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในโครงการที่มีขนาดพื้นที่ห้องขนาดเล็กอัตราการขายอาจค่อนข้างช้า เพราะราคาขายต่อยูนิตมีราคาสูง ตลาดเพื่อการลงทุนมีจำกัด เนื่องจากราคาห้องชุดแพงทำให้ผลตอบแทนการเช่าต่ำ และตลาดเช่ามีขนาดเล็ก สุขุมวิทยังคงเป็นทำเลที่ตั้งหลักที่มีความต้องการสูง
ด้านตลาดอาคารสำนักงาน ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5-4% ปริมาณอุปทานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดยังมีปริมาณน้อย ต่ำกว่าความต้องการหรืออุปสงค์ใหม่อัตราค่าเช่ายังคงเป็นขาขึ้น เป็นตลาดของผู้ให้เช่า
ส่วนตลาดพื้นที่อุตสาหกรรม ปัจจัยบวกมาจากภาพรวมภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง จะเป็นปัจจัยกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาลในพื้นที่ จ.ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางจิระ-ขอนแก่น จะทำให้ระบบโลจิสติกส์ในภาคอีสานเปลี่ยนไป ขอนแก่นมีโอกาสการลงทุนพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ ในภาคอีสานตอนบน การเพิ่มขึ้นของนักลงทุนอุตสาหกรรมจากประเทศจีน จะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในตลาด
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นภาวะการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมืออาจทำให้การลงทุนในภาคการผลิตมีข้อจำกัด ประกอบกับการส่งเสริมการลงทุนของประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตราค่าจ้างที่ถูกกว่ามากจะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมไทย
ขณะที่ตลาดโลจิสติกส์ แวร์เฮาส์ การแข่งขันยังสูง โดยเฉพาะจากนักพัฒนารายใหญ่จะยังทำให้อัตราค่าเช่าไม่เพิ่มขึ้น พื้นที่สีม่วงย่านบางนา-ตราด เป็นพื้นที่หลักของโลจิสติกส์ แวร์เฮาส์มีจำกัด ปัจจุบันมีราคาขายตั้งสูงเกินระดับราคาที่ผู้ลงทุนจะซื้อและได้ผลตอบแทนการลงทุนให้เช่ามีอัตราที่เหมาะสม การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ใหม่มีอัตราต่ำ
ตลาดมินิแฟกตอรี่ให้เช่า ตลาดมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐยังคงต้องรอความชัดเจนในการปฏิบัติ มีโอกาสที่การลงทุนในโรงงานขนาดเล็กให้เช่าจะขยายตัวดีขึ้นในภาคตะวันออกของประเทศ อัตราค่าเช่ายังคงมีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจปรับตัวลดลงในบางพื้นที่
ที่มา: posttoday