Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

หอการค้ายื่นหนังสือแก้ไข พิจารณายกระดับรถไฟรางคู่ รฟท.ยันออกแบบดีแล้ว

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

โคราชยังมีความพยายามเดินหน้าในการขอแก้ไขรถไฟรางคู่ให้ยกระดับ ล่าสุดประธานภาคธุรกิจหอการค้าและประธานสภาอุตสาหกรรม ลุยพบแม่ทัพภาคที่ 2 และพ่อเมืองโคราช ขอให้ช่วยผลักดันให้มีการแก้ไขรูปแบบ ชี้ประชาพิจารณ์ไม่ละเอียด ซ้ำยังพบว่าก่อกำแพงสูง 2 เมตร ทำให้สัญจรไปมาระหว่างสองฝั่งลำบาก ผลกระทบอื้อ ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยืนยันออกแบบเหมาะสมแล้ว

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาเข้ายื่นหนังสือขอแก้ไขการออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนครราชสีมา ต่อพลโทวิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 โดยมีนายสหพล กาญจนเวนิช ในฐานะรองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมชี้แจงรายฃอละเอียดและผังการยกระดับรถไฟทางคู่แบบใหม่ ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2

สำหรับหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาตอนหนึ่งชี้ว่า รูปแบบในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงสถานีชุมทางถนนจิระ-สถานีขอนแก่นจะมีการยกเลิกจุดตัดซึ่งเป็นถนนข้ามทางรถไฟเชื่อมต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน และชุมชนขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง โดยถาวรและให้ใช้ถนนเลียบทางรถไฟและทางต่างระดับหรือสะพานข้ามทางรถไฟที่กำหนดไว้แทน

หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ตระหนักกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จึงขอให้มีการแก้ไขออกแบบ โดยให้มีการยกระดับรางในช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมาแทนและยืนยันว่าหากยังทำแบบเดิมประชาชนจะได้รับผลกระทบแน่นอน โดยนายชัชวาล กล่าวว่า การสร้างทางเกือกม้าจะทำให้การสัญจรยากขึ้น โดยอาจจะต้องย้อนเป็นระยะทาง 400-500 เมตรเพื่อกลับรถ ทำให้เป็นปัญหารถติดต่อไป อีกทั้งพาหนะประเภทสามล้อ หรือรถเข็น ก็จะยิ่งยากในการประกอบอาชีพสร้างปัญหาของประชาชนในระดับล่าง

ด้านนายสหพล กาญจนเวนิช รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาและรองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า เทศบาลนครฯ ขออนุญาตปรับแบบเพื่อให้เหมาะสมกับเมืองคือ อยากให้มีลักษณะการยกสูงแบบ Airport Rail Link ตลอดแนวแทนการกั้นรั้ว ยกตัวอย่างให้เห็นที่ถนนราชดำเนินจะเห็นว่าการข้ามจากจวนผู้ว่า ไม่ได้ลงมานอกค่ายสุรนารีแล้วตรงเข้ามาในค่ายได้เช่นเดิม ปัจจุบันได้มีการทำหนังสือไปยังการรถไฟเพื่อขอแบบเพิ่มเติมที่มีการปรับปรุงแล้ว

นายชัชวาล กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมายังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ดังนั้น หากมีการทบทวนการก่อสร้างก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความล่าช้าแต่ประการใดและข้อเรียกร้องในครั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนจากผลพวงที่จะตามมา

ด้านนายอานนท์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ยืนยันถึงการออกแบบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นนั้น ตัวโครงการถูกออกแบบให้เป็นทางรถไฟระดับดินเช่นเดียวกัน ยกเว้นช่วงที่ผ่านตัวเมืองขอนแก่น เนื่องจากช่วงดังกล่าวมีจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับในบริเวณเดียวกันถึง 5 แห่ง จึงได้ออกแบบให้เป็นทางรถไฟยกระดับข้ามถนนเดิมยาวตลอด เนื่องจากมีความคุ้มค่ามากกว่าการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟเป็นแห่งๆ อีกทั้งยังไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการยกระดับทางรถไฟ

ส่วนจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับจุดอื่นๆ ในจังหวัดนครราชสีมานั้น มีระยะห่างกันค่อนข้างมากไม่คุ้มค่าที่จะออกแบบเป็นทางรถไฟยกระดับตลอดสาย การรถไฟฯ จึงออกแบบให้มีสะพานข้ามทางรถไฟหรือถนนลอดใต้ทางรถไฟ หรือสร้างถนนคู่ขนานทางรถไฟแล้วสร้างสะพานกลับรถรูปเกือกม้าทดแทนจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับเดิมทุกแห่ง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนโดยที่ประชาชนสองข้างทางรถไฟยังสามารถสัญจรไปมาผ่านทางรถไฟได้เหมือนเดิม ซึ่งรฟท.ขอยืนยันว่าการออกแบบดังกล่าวได้คำนึงถึงหลักวิศวกรรมความปลอดภัยและการแก้ไขปัญหาจราจรและความคุ้มค่าของการลงทุนเป็นสำคัญ

 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่  Koratdaily

ขอบคุณภาพประกอบจาก Koratstartup, Koratdaily

 

บทความแนะนำ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร