Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ห้องน้ำผู้สูงอายุ ออกแบบอย่างไรให้ปลอดภัยสูงสุด

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลายๆ ครอบครัวอาจจะต้องคำนึงถึง ‘ห้องน้ำผู้สูงอายุ’ ซึ่งหลักการออกแบบควรเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยด้วย บ้านที่มีผู้สูงวัย ห้องน้ำถือเป็นส่วนสำคัญ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในบทความนี้เรามาพร้อมกับรายละเอียดที่คุณควรทราบเกี่ยวกับการทำห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัย

1. ประตูห้องน้ำ

ในส่วนของประตูห้องน้ำผู้สูงวัยนั้น ควรมีความกว้าง 90 เซนติเมตรขึ้นไป เพราะสะดวกกับการเข้าออกเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ ลักษณะประตูควรเป็นแบบบานเลื่อนแบบเปิดออกด้านนอก เผื่อว่าเกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำจะได้เข้าไปช่วยได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนของบานเลื่อนไม่ควรฝืดหรือหนักจนเกินไป เพื่อไม่ต้องให้ผู้สูงวัยใช้แรงมากนัก แต่สำหรับบ้านเก่าที่อยากปรับปรุงประตู ให้ถอดบานเก่าออกแล้วติดตั้งแบบเป็นบานเลื่อนแบบรางแขวนเหนือคิ้วประตูแทน 

โดยไม่ต้องติดตั้งรางบนพื้นป้องกันการสะดุด บานเลื่อนควรเป็นแบบกระจกเพื่อสามารถมองเห็นด้านในได้ เผื่อผู้สูงวัยเกิดลื่นล้มจะได้มองเห็น แต่สำหรับบ้านไหนที่ไม่สามารถเปลี่ยนบานประตูแบบเลื่อนได้ ก็ให้เปลี่ยนลูกบิดประตูมาเป็นแบบก้านโยกแทน จะช่วยให้สะดวกต่อการเปิดและปิดมากขึ้น ไม่ต้องออกแรงหมุนลูกบิด

ประตูห้องน้ำ

2. พื้นห้องน้ำ

การเลือกพื้นห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัยนั้น ควรเป็นวัสดุประเภทที่มีผิวสัมผัสหยาบเล็กน้อย เพื่อป้องกันการลื่นล้ม หลีกเลี่ยงกระเบื้องมันเงา เพราะลื่นง่ายเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ โดยตัวเลือกที่ดีสำหรับวัสดุปูพื้นห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุนั้น ควรมีค่ากันลื่นตั้งแต่ R9-R13 เน้นคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่นและช่วยดูดซับแรงกระแทก ก็จะช่วยให้มีความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น ในส่วนของระดับพื้นห้องน้ำหากเป็นไปได้ ควรสร้างแบบลาดเอียดไปยังท่อระบายน้ำเพื่อลดน้ำขัง

พื้นห้องน้ำ

3. ส่วนแห้งและส่วนเปียก

ห้องน้ำของผู้สูงวัยควรจะแบบโซนส่วนเปียกกับส่วนแห้งแยกกันอย่างชัดเจน แต่ไม่ควรใช้กระจกกั้นเพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำ และให้ใช้เป็นม่านกั้นแทนเพื่อป้องกันน้ำกระเด็นก็เพียงพอแล้ว ในส่วนพื้นที่เปียกควรหากเป็นพื้นกระเบื้อง ก็ควรหาซื้อแผ่นยางมารองอีกชั้นเพื่อกันผู้สูงอายุลื่นล้ม และในส่วนพื้นที่แห้งควรติดตั้งอ่างล้างหน้าและราวจับ หากผู้สูงวัยต้องใช้วีลแชร์ก็ควรมีที่จอดสำหรับรถเข็นด้วย ดังนั้นพื้นที่ส่วนนี้จึงค่อนข้างกินพื้นที่ในห้องน้ำมากสักหน่อย ส่วนพื้นที่เปียกควรติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการอาบน้ำและสุขภัณฑ์เท่านั้น

ส่วนแห้งและส่วนเปียก

4. อ่างล้างหน้า

ความสูงที่เหมาะสมควรห่างจากพื้นประมาณ 80 เซนติเมตร ในส่วนของพื้นที่ใต้อ่างล้างหน้าควรเปิดโล่งเอาไว้ เผื่อไว้สำหรับผู้สูงวัยที่ใช้วีลแชร์ จะทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนเข้าไปสอดข้างใต้ได้ ตัวอ่างล้างหน้าควรมีความแข็งแรงคงทนเผื่อไว้สำหรับรับแรงจากการท้าวแขนของผู้สูงวัย และจะต้องมีการติดตั้งราวจับไว้ทั้งสองข้างเอาไว้ช่วยสำหรับการพยุงตัว ระดับของกระจกควรติดตั้งไว้ไม่สูงหรือต่ำเกินไปให้อยู่ในระดับที่มองเห็นได้ทั้งแบบนั่งและยืน เป็นต้น

อ่างล้างหน้า

5. พื้นที่อาบน้ำ

พื้นที่อาบน้ำก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะอุปกรณ์ในการอาบน้ำสำหรับผู้สูงวัย ควรติดตั้งความสูงจากพื้นประมาณ 25 – 140 เซนติเมตร เพื่อสะดวกกับการใช้งานไม่ต้องก้มหรือเขย่งตัว

  • ฝักบัวอาบน้ำ สำหรับบ้านที่ใช้ฝักบัว สำหรับในห้องน้ำผู้สูงวัยควรเลือกแบบที่มีแรงดันน้ำระดับต่ำและมีความยืดหยุ่นในการปรับแรงน้ำได้ ตำแหน่งที่ติดตั้งจะต้องเหมาะสมกับการใช้งาน หากเป็นห้องน้ำสำหรับทุกคนในครอบครัวที่ใช้ร่วมกัน ควรติดตั้งในตำแหน่งที่ปรับขึ้นและลงได้เพื่อสะดวกกับทุกการใช้งาน
  • เก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำ บางบ้านผู้สูงวัยไม่สะดวกในการยืนและพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการติดตั้งอ่างอาบน้ำ ทางเลือกคือการใช้เก้าอี้นั่งแทน โดยความสูงของเก้าอี้จะต้องอยู่ที่ประมาณ 45-50 เซนติเมตร ส่วนขาไม่ควรฝืดหรือลื่นจนเกินไป หากเป็นเก้าอี้ที่ติดตั้งแบบถาวรแบบก่อปูนขึ้นเองจะทำให้มีความแข็งแรงต่อการใช้งาน แต่หากไม่สามารถก่อเองได้ ควรหาอุปกรณ์ที่กันลื่นมาสวมที่ขาของเก้าอี้ก็จะทดแทนได้เช่นกัน
  • อ่างอาบน้ำ อ่างอาบน้ำที่เหมาะกับผู้สูงอายุนั้น จะมีการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน โดยมากมีขายแบบสำเร็จรูปพร้อมติดตั้ง ความสูงมีขนาดพอเหมาะมีราวจับในด้านทางเข้าเพื่อช่วยพยุง บางอ่างจะมีส่วนต่อเติมเก้าอี้ในอ่างเพื่อสะดวกในการลุกนั่งมากยิ่งขึ้น

พื้นที่อาบน้ำ

6. การเลือกใช้สุขภัณฑ์

สุขภัณฑ์ต่างๆ ควรเลือกให้เหมาะกับการใช้งานของผู้สูงวัย หากว่าบ้านไหนที่ยังเป็นส้วมซึมอยู่นั้น ควรเปลี่ยนใหม่เป็นแบบชักโครกที่สูงจากพื้นระหว่าง 43-45 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกในการลุกและนั่ง ด้านข้างชักโครกควรมีราวจับที่เน้นความแข็งแรงในการใช้งาน เพื่อเป็นส่วนเสริมในการช่วยพยุงตัว ส่วนที่กดน้ำควรเป็นแบบระบบเซ็นเซอร์แต่จะใช้งบประมาณค่อนข้างสูง สำหรับบ้านที่มีงบจำกัดลองเลือกแบบเป็นปุ่มกด หรือคันโยกที่ใช้งานสะดวกก็สามารถทดแทนได้เช่นกัน ในส่วนของสายชำระล้างควรเลือกสายที่ยาวกว่าปกติเล็กน้อยและติดตั้งไว้ในด้านที่เอื้อมมือไปหยิบสะดวก ไม่ต้องเอี้ยวหลังไปเยอะ และที่สำคัญควรมีการติดตั้งสัญญาณฉุกเฉิน เอาไว้ให้ผู้สูงวัยกดใช้เวลาต้องการความช่วยเหลือด้วย

การเลือกใช้สุขภัณฑ์

7. แสงสว่าง

เรื่องแสงกับผู้สูงวัยก็มองข้ามไม่ได้เช่นกัน ในวัยนี้สายตาจะมีความฝ้าฟางกว่าวัยอื่น  จึงควรติดตั้งไฟให้ส่องสว่างจนผู้สูงอายุสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ในห้องน้ำได้อย่างถนัดตา แต่ก็ไม่ควรใช้แสงจ้าจนเกินไปจนทำร้ายสายตา และควรมีช่องหน้าต่างๆ ที่แสงจากธรรมชาติส่องเข้ามาได้อย่างทั่วถึง ยิ่งโปร่งโล่งสบาย ยิ่งทำให้ผู้สูงวัยใช้งานห้องน้ำได้สะดวกขึ้น

แสงสว่าง

8. อุปกรณ์ช่วยเหลืออื่นๆ

สำหรับอุปกรณ์ช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ใช้ในห้องน้ำของผู้สูงวัยนั้น หากว่าไม่สามารถเปลี่ยนพื้นกระเบื้องได้ ก็ควรเลือกใช้อุปกรณ์แผ่นกันลื่นมาวางทับจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ และที่สำคัญจะต้องมีการติดตั้งราวจับเอาไว้ในจุดสำคัญเพื่อช่วยพยุงตัว

อุปกรณ์ช่วยเหลืออื่นๆ

หากเป็นไปได้ควรมีการรีโนเวทให้ ‘ห้องน้ำผู้สูงอายุ’ มีการใช้ที่ง่ายขึ้น แต่หากยังไม่สะดวกก็สามารถปรับแต่งการติดตั้งบางส่วนเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานได้

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร