Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 ต้องจ่ายเท่าไรบ้าง

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลายคนคงทราบกันแล้วว่าปีนี้กระทรวงการคลังจะไม่ปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% แบบเมื่อ 2 ปี (พ.ศ. 2563 – 2564) ที่ผ่านมาแล้ว ฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่าครับว่าถ้าต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบเต็มๆ จะต้องจ่ายเท่าไรกันบ้าง เพื่อจะได้เตรียมตัววางแผนการจัดการที่ดินและเงินภาษีไว้ล่วงหน้า

ใครบ้างที่ต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565

1. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน, สิ่งปลูกสร้าง หรือห้องชุด ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีชื่อในโฉนดหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ

2. ผู้ครอบครองทรัพย์สิน หรือทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ อยู่ในวันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้น

อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ต้องจ่ายเท่าไรบ้าง

1. เกษตรกรรม

อัตราภาษีที่ดิน สำหรับเกษตรกรรม หมายถึงการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช, ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ และที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือทำการประมง ซึ่งกำหนดไว้โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น ปลูกกล้วยต้องไม่ต่ำกว่า 200 ต้น/ไร่, การปลูกกาแฟต้องไม่ต่ำกว่า 170 ต้น/ไร่, การปลูกทุเรียนต้องไม่ต่ำกว่า 20 ต้น/ไร่, การเลี้ยงโค 1 ตัว/ 5 ไร่ เป็นต้น ถึงจะนับว่าเข้าเกณฑ์อัตราภาษีที่ดินฯ สำหรับเกษตรกรรม หากปลูกหรือเลี้ยงน้อยกว่าที่กำหนดไว้จะไม่ถือว่าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร

สำหรับอัตราภาษีที่ดินสำหรับประกอบเกษตรกรรมนั้น หากเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาตามบทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จะได้รับยกเว้นภาษีที่มีมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกิน 50 ล้านบาทแรก เป็นเวลา 3 ปีแรก ซึ่งเท่ากับว่าจะเริ่มเสียภาษีจริงๆ ในปี 2566 ครับ แต่หากเป็นนิติบุคคลในปี 2565 ก็จะเสียภาษีในอัตราปกติครับ โดยหากที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 0-75% ล้านบาทจะเสียภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม 0.01% เป็นต้น

2. ที่อยู่อาศัย

อัตราภาษีที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัย หมายถึงที่ดินที่ใช้ในการอยู่อาศัย ซึ่งจะแบ่งได้ดังนี้ครับ

1. ที่อยู่อาศัยหลังที่หนึ่งหรือบ้านหลังแรก เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ที่อยู่อาศัยหลังที่หนึ่งหรือบ้านหลังแรก หมายถึงการเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้สำหรับอยู่อาศัย และจะต้องมีชื่อในทะเบียนบ้าน ในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้นๆ โดยอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มูลค่ารวมไม่เกิน 50 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากมูลค่ารวมอยู่ที่ 50-75 ล้านบาท กำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 0.03% หรือล้านละ 300 บาท และหากมีมูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตราภาษีอยู่ที่ 0.05% หรือล้านละ 500 บาท และหากมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท จะคิดอัตราภาษี 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท นั่นเอง

2. ที่อยู่อาศัยหลังที่หนึ่งหรือบ้านหลังแรก เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง

ที่อยู่อาศัยหลังที่หนึ่งหรือบ้านหลังแรก ที่เป็นแค่เจ้าของสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน โดยต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้นๆ โดยอัตราภาษีหากมูลค่าบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีมูลค่า 10-50 ล้านบาท อัตราภาษีอยู่ที่ 0.02% หรือล้านละ 200 บาท แต่หากมูลค่า 50 - 75 ล้านบาท อัตราภาษีอยู่ที่ 0.03% หรือล้านละ 300 บาท ถ้าหากมูลค่า 75 - 100 ล้านบาท อัตราภาษีอยู่ที่ 0.05% หรือล้านละ 500 บาท และหากมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีอยู่ที่ 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาทครับ

3. ที่อยู่อาศัยหลังที่สองขึ้นไปหรือบ้านหลังอื่น

ที่อยู่อาศัยหลังที่สองขึ้นไปหรือบ้านหลังอื่น หมายถึงเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้สำหรับอยู่อาศัย จะมีอัตราภาษีที่ดินหากราคาไม่เกิน 50 ล้านบาทจะมีอัตราภาษีที่ดินเริ่มต้น 0.02% หรือล้านละ 200 บาท แต่หากมูลค่า 50 - 75 ล้านบาท อัตราภาษีอยู่ที่ 0.03% หรือล้านละ 300 บาท ถ้าหากมูลค่า 75 - 100 ล้านบาท อัตราภาษีอยู่ที่ 0.05% หรือล้านละ 500 บาท และหากมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีอยู่ที่ 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท สำหรับกรณีบ้านเช่า ไม่ว่าจะเป็นปล่อยเช่ารายเดือนหรือรายปี ก็จะถือว่าเป็นการใช้เพื่อที่อยู่อาศัย จะเริ่มคำนวณภาษีในอัตราเริ่มต้น 0.02%

3. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น

อัตราภาษีที่ดินสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น หมายถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ ทั้งใช้ประกอบการพาณิชยกรรม ใช้ทำอุตสาหกรรม เป็นต้น อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถ้าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 0.30% หรือล้านละ 3,000 บาท ถ้ามูลค่า 50-200 ล้านบาท จะต้องเสียในอัตราภาษี 0.40% หรือล้านละ 4,000 บาท และถ้ามูลค่า 200-1,000 ล้านบาท จะต้องเสียในอัตราภาษี 0.50% หรือล้านละ 5,000 บาท และถ้ามูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท จะต้องเสียในอัตราภาษี 0.60% หรือล้านละ 6,000 บาท หากมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสียในอัตราภาษี 0.70% หรือล้านละ 7,000 บาท

4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์

อัตราภาษีที่ดินสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ ดังนั้นจะเสียภาษีในอัตราที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะเสียอัตราภาษีอยู่ที่ 0.30% แต่ถ้าที่ดินนั้นมีมูลค่า 50-200 ล้านบาท อัตราภาษีที่ดินจะเป็น 0.40% ไล่เรียงขึ้นไปเป็นลำดับ โดยถ้ามูลค่าที่ดินเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.70%


ได้ตัวเลขอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันไปแล้ว คงสามารถนำไปวางแผนได้ว่าจะจัดการกับที่ดินของเราอย่างไร ที่สำคัญไม่ต้องกลัวคำนวณไม่ถูกนะครับ เพราะทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้เราอยู่แล้วว่าเราต้องเสียเท่าไรและเมื่อไร โดยสามารถชำระได้หลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. หรือ สำนักงานเขต, ไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ, ธนาคาร รวมถึงผ่านระบบอื่นตามที่มีการทำบันทึกข้อตกลงไว้ ดังนั้นอย่าลืมไปเสียภาษีดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 นะครับไม่เช่นนั้นอาจถูกปรับและจ่ายดอกเบี้ยได้

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร