บขส. เตรียมย้ายกลับที่เดิม
แน่นอนแล้ว ในปี 2566 "สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ" ที่ปัจจุบัน "บขส.-บริษัท ขนส่ง จำกัด" เช่าที่ดิน 75 ไร่ย่านบางซื่อของ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" มานานหลาย 10 ปี ต้องย้ายกลับที่ตั้งเดิมบริเวณโครงการคอมเพล็กซ์ 63 ไร่ ที่ "กรมธนารักษ์" กำลังเร่ง "BKT-บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด" หรือซันเอสเดิม ผู้รับสัมปทานออกแบบพัฒนา มูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท หลังติดหล่มกฎหมายร่วมทุนมานานกว่า 20 ปี นับจากปี 2539
ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่าง "ธนารักษ์กับคมนาคม" ทำสัญญาใจไว้แต่แรก พลันที่ให้ "บขส." ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว และให้ย้ายกลับมาหลังโครงการก่อสร้างเสร็จ โดยกันพื้นที่ให้ประมาณ 100,000 ตร.ม.
ให้สถานีขนส่งอยู่ด้านบนของเดโป้บริเวณชั้น 3 และ 4 เลี่ยงรถติด
แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์กล่าวว่า ตามรูปแบบการพัฒนา จะให้สถานีขนส่งอยู่ด้านบนของเดโป้บริเวณชั้น 3 และ 4 นอกจากนี้เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดด้านการจราจร จะสร้างทางยกระดับเชื่อมจากสถานีขนส่งหมอชิตไปยังถนนวิภาวดีรังสิต และฝั่งสวนจตุจักรที่ถนนพหลโยธินและถนนกำแพงเพชร
ด้าน "พิชิต อัคราทิตย์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่ได้รับรายงานจากกรมธนารักษ์ ขณะนี้โครงการพัฒนาที่ดินตรงหมอชิตเก่า จะออกแบบก่อสร้างและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เป็นระยะเวลา 18 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.พ. 2560-ก.ค. 2561 จากนั้นใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี พร้อมเปิดให้บริการในปี 2566 ซึ่งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้สิทธิ์ในการใช้พื้นที่ 112,000 ตร.ม. ที่จะใช้เป็นพื้นที่พัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารของ บขส.แห่งใหม่
"ย่านสถานีกลางบางซื่อการรถไฟฯ แบ่งการพัฒนาเชิงพาณิชย์ไว้ 4 โซน ซึ่งสถานี บขส.อยู่โซนซี หากให้อยู่ที่เดิม จากผลการศึกษาระบุว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการ เพราะบริเวณดังกล่าวจะมีทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์และโครงการบีอาร์ทีจะเป็นฟีดเดอร์รับส่งคนในย่านดังกล่าว ที่สำคัญทำให้เกิดปัญหาการจราจรเพราะคนมาใช้บริการสถานีขนส่งวันละกว่า 2 แสนคน"
แก้ปัญหารถติดโดยใช้รถสายสั้นรับส่งคนที่บางซื่อ ส่วนสายยาวให้ใช้หมอชิตเดิม
เพื่อเป็นการตัดปัญหา "รัฐมนตรีช่วยคมนาคม" ย้ำว่า จะให้ บขส.นำรถวิ่งสายสั้นไม่เกิน 200 กม.มาจอดรับส่งคนที่สถานีบางซื่อที่จะมีพื้นที่ชานชาลาไว้ 6,000 ตร.ม.จำนวน 50 ชานชาลา รองรับได้ 600 คน พื้นที่พักคอย 1,200 ตร.ม. พื้นที่ขายตั๋ว 400 ตร.ม. ให้คนเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะเข้าเมือง เช่น รถไฟฟ้า บีอาร์ที ซึ่งจะมีทางเดินเชื่อมหรือสกายวอล์กเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ส่วนรถโดยสารสายยาวให้ไปใช้บริการที่สถานีหมอชิตเดิม ซึ่งจะมีระบบขนส่งทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสและใต้ดินไว้คอยบริการเช่นกัน
"สถานีกลางบางซื่อ จะมีที่จอดรถส่วนบุคคล 1,600 คัน รถแท็กซี่ 235 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 45 คัน ส่วนรถเมล์ ขสมก.จะย้ายไปอยู่ตรงหน้าศาลเด็กและเยาวชน มีพื้นที่ 8.5 ไร่"
นายพิชิตกล่าวว่า สำหรับการพัฒนาที่ดินของ ร.ฟ.ท.จะมีทั้งหมด 218 ไร่ มูลค่าโครงการรวม 79,669 ล้านบาท จะให้เอกชนลงทุน PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 จะเริ่มได้เป็นแปลงแรก คือ โซนเอ พื้นที่ 35 ไร่ พัฒนาเชิงพาณิชย์ภายใต้คอนเซ็ปต์ "สมาร์ท บิสซิเนส คอมเพล็กซ์" ในลักษณะพื้นที่รีเทล อาทิ โรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้า ร้านค้า ร้านอาหาร และที่จอดรถ มูลค่า 11,573 ล้านบาท ตามแผนจะเริ่มพัฒนาในปี 2561 แล้วเสร็จปี 2565
จากนั้นปี 2561 เป็นโซนดี เนื้อที่ 87.5 ไร่ จะมีสร้างสกายวอล์กด้วย เป็นระบบเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสและสถานีบางซื่อ โรงแรม ร้านอาหาร และรีเทลลักษณะโลว์ไรส์ ส่วนโซนบี 88 ไร่ เป็นแหล่งค้าปลีกค้าส่ง ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม มูลค่า 28,149 ล้านบาท และโซนซี เนื้อที่ 105 ไร่ จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ มีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งงานและการพักผ่อนหย่อนใจ ลงทุน 39,947 ล้านบาท จะเริ่มปี 2562
ขณะเดียวกันทางองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้ศึกษาแผนการพัฒนาที่ดินย่านบางซื่อในภาพรวมให้กับการรถไฟฯด้วย โดยนำรูปแบบของรถไฟความเร็วสูงที่สถานีโอซากามาเป็นต้นแบบพัฒนา เพื่อรองรับกับรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่กำลังร่วมกันศึกษาโครงการ จะมีข้อสรุปเฟสแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลกกลางปีนี้
เป็นความคืบหน้าในห้วงเวลานี้ หลังตกอยู่ในวังวนจะ "ย้าย-ไม่ย้าย" มาแรมปี
ที่มา: bkkcitismart.com