วันนี้ขนาดเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ในปี 2558 มีมูลค่าถึง 184,132 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ร้อยละ 58 หรือ 102,491 ล้านบาท และสูงเป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ
ขณะที่วิสัยทัศน์ของจังหวัดเชียงใหม่ปักธงมุ่งสู่ "นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง" เป็นเข็มทิศชัดเจนว่า จังหวัดเชียงใหม่ในอนาคตกำลังพัฒนาก้าวไปสู่ศูนย์กลาง 5 ด้าน คือ 1.เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการระดับสากล 2.ศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการคมนาคมขนส่ง 3.เมืองแห่งเกษตรปลอดภัย 4.ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติสู่สากล และ 5.เมืองน่าอยู่ ซึ่งรวมถึงการก้าวสู่การเป็นเมืองมรดกโลกในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม การเติบโตและฐานเศรษฐกิจหลักของเชียงใหม่ต้องพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่มีสัดส่วนมากกว่า 40% ของจีพีพีจังหวัด สร้างรายได้แตะ 1 แสนล้านบาท
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของเชียงใหม่คือการมุ่งต่อยอดภาคการท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และนำศักยภาพในพื้นที่มาตอบสนองนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าจีพีพีในอนาคต ทั้งการพัฒนาสู่สมาร์ทซิตี้ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดสินค้าการเกษตร การต่อท่อเศรษฐกิจการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา และการพัฒนาสู่ศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)
ท่องเที่ยวหัวใจเศรษฐกิจ
เชียงใหม่นับเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือมีศักยภาพพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้หลากหลายกลุ่มจำนวนท่องเที่ยวในปี2558 ที่เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนกว่า 9 ล้านคน และมีรายได้ประมาณ 79,000-80,000 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง 12,004,016 คน และสร้างรายได้รวมจำนวน 90,503.19 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของจังหวัดเชียงใหม่จะเติบโตไม่น้อยกว่า 7-10% หรือมากกว่า 10 ล้านคน คาดว่าจะมีรายได้ทางการท่องเที่ยวกว่า 90,000-100,000 ล้านบาท
ขณะที่ภาคเอกชนเชียงใหม่ก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ผลักดันการพัฒนาการท่องเที่ยว 3 ด้านหลักที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด ด้านแรก คือ พัฒนาการท่องเที่ยวสู่ศูนย์กลาง Medical, Health & Wellness City ของอนุภูมิภาครองรับผู้สูงอายุนานาชาติ คาดว่าจะมีถึง 80,000-100,000 คนภายในปี 2560 ซึ่งผู้สูงอายุที่มาพักผ่อนในระยะยาวจะต้องเกิดการใช้เงินหมุนเวียนอยู่ในประเทศนับหมื่นล้านบาท
ด้านที่สองคือการท่องเที่ยวเชิงMICE ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์มาเชียงใหม่กว่า 600,000 คน จากการจัดงานมากกว่า 500 งาน ประเมินว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559-2560 จะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์แตะที่ 1 ล้านคน จากจำนวนงานมากกว่า 700 งาน รายได้หมุนเวียนเพิ่มถึง 5,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันเชียงใหม่ยังขาดบุคลากรที่จะเติมเต็มธุรกิจท่องเที่ยวด้านนี้สูงมาก หอการค้าฯจึงได้ผลักดันให้มีการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องใน Supply Chain เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์มากขึ้นผ่านการนำเสนอโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่อไป
ด้านที่สามคือการท่องเที่ยวเชิงฮาลาล(Halal Tourism) ซึ่งมีแผนแม่บทแล้วและพร้อมผลักดันให้เกิดการลงทุนพัฒนาการบริการด้านท่องเที่ยวเชิงฮาลาลมากขึ้น เฉพาะในอาเซียนมีประชากร 600 ล้านคน เป็นมุสลิมถึง 46% โดยคาดว่าภายในปี 2030 จะมีจำนวนมุสลิมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านคน ซึ่งจะทำให้ตลาดการท่องเที่ยวสินค้าฮาลาลขยายตัว สิ่งที่จะผลักดันคือ การพัฒนาบุคลากรเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Spa Halal) ในระดับภูมิภาค เพื่อกระตุ้นธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวฮาลาล ซึ่งจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางและอาเซียนในอนาคต
ศูนย์กลางธุรกิจการเงินลุ่มน้ำโขง
นายสิงห์ชัยบุณยโยธินผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า ศักยภาพเชียงใหม่สามารถเป็น Hub หรือศูนย์กลางทางธุรกิจและการเงินของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) ได้ เนื่องจากความพร้อมของบุคลากร การลงทุนของบริษัทส่วนกลางที่ใช้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงขยายสู่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงได้ เชียงใหม่สามารถขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ เพื่อให้เกิดการจ้างงานในอนาคตได้
ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจกลุ่ม GMS ขยายตัวถึงร้อยละ 7 มีประชากรมากถึง 300 ล้านคน โดย ธปท.มีโครงการร่วมกับกระทรวงการคลัง ส่งเสริมให้ธุรกิจตั้งศูนย์บริหารเงิน (Treasury Centers) และ International Headquarters เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในกลุ่ม GMS สามารถบริหารเงินจากการประกอบธุรกิจในหลายประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจุบันได้ให้ใบอนุญาตไปแล้วจำนวนหนึ่งกับบริษัทจากหลากหลายประเทศและถือว่าเชียงใหม่มีทำเลที่มีความเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจการเงินในอนาคตเมื่อเทียบกับเมืองคุนหมิงแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ แต่ค่อนข้างห่างไกลจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาและลาว ซึ่งเชียงใหม่มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงินมากกว่า
ทุนส่วนกลางยึดตลาดอสังหาฯ
ขณะที่ภาคการลงทุนที่มีความคึกคักในช่วงที่ผ่านมาก็คือภาคอสังหาริมทรัพย์โดยมีกลุ่มทุนพาเหรดเข้ามายึดทำเลทองในทุกมุมเมืองของเชียงใหม่
จากข้อมูลของสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์-ลำพูนจังหวัดเชียงใหม่ล่าสุดมีโครงการบ้านจัดสรรซึ่งอยู่ระหว่างการขาย135 โครงการ มีจำนวนหน่วยรวมกัน 15,100 หน่วย เหลือขาย 5,040 หน่วย (เทียบกับปีก่อนหน้ามี 123 โครงการ หน่วยในผัง 13,100 หน่วย เหลือขาย 5.1 พันหน่วย) ซึ่งโครงการบ้านจัดสรรกระจายอยู่ใน 4 อำเภอหลัก คือ อำเภอสันกำแพง 31 โครงการ 4,100 หน่วย (เหลือขาย 2,030 หน่วย) อำเภอเมืองเชียงใหม่ 29 โครงการ 1,930 หน่วย (เหลือขาย 1.1 พันหน่วย) อำเภอสันทราย 28 โครงการ 2,450 หน่วย (เหลือขาย 790 หน่วย) อำเภอหางดง 27 โครงการ 2,750 หน่วย (เหลือขาย 1,030 หน่วย) อำเภอสารภี 11 โครงการ 1,650 หน่วย (เหลือขาย 610 หน่วย) อำเภอดอยสะเก็ด 9 โครงการ 980 หน่วย (เหลือขาย 210 หน่วย) อำเภอแม่ริม 4 โครงการ 460 หน่วย (เหลือขาย 160 หน่วย)
นายนนท์ หิรัญเชรษฐ นายกสมาคมผู้ค้าอสังหาริมทรัพย์ เชียงใหม่-ลำพูน เปิดเผยว่า อสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ยังคงเติบโตได้ กลุ่มทุนจากส่วนกลาง หรือบริษัทมหาชน จะมีสัดส่วนการตลาดมากกว่า 80% และในปี 2560 จะเห็นภาพการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันการประกาศบังคับใช้ผังเมืองถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพราะมีข้อจำกัดต่างๆมากมาย เช่น ในเขตเมืองแม้จะเป็นพื้นที่สีแดง สามารถใช้ที่ดินด้านพาณิชยกรรม แต่ก็ถูกบล็อกไปหลายจุดด้วยข้อปลีกย่อยไม่สามารถก่อสร้างอาคารหรือคอนโดมิเนียมสูงเกิน 12 เมตรได้
นักท่องเที่ยวทะลัก 9 ล้านคน
ในส่วนของภาคบริการ ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเติบโตแบบก้าวกระโดด ล่าสุดในปี 2558 มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 จากปี 2557 เป็น 8.36 ล้านคน และในปี 2559 มีตัวเลขผู้โดยสารแล้ว 9 ล้านคนต่อปี
โดยคาดว่าในปี 2573 จะมีผู้โดยสารเข้าสู่เชียงใหม่ 17 ล้านคน จำนวน 122,644 เที่ยวบิน การขนถ่ายสินค้า 27,038 ตัน และในปี 2578 จะมีผู้โดยสารราว 19.7 ล้านคน 138,513 เที่ยวบิน การขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ 30,118 ตัน จึงมีการผลักดันเร่งให้รัฐบาลดำเนินโครงการสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ แห่งที่ 2
ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2559 เป็นผู้โดยสารต่างประเทศ 2,098,385 คน เพิ่มขึ้น 17% ผู้โดยสารภายในประเทศมีทั้งสิ้น 7,109,871 คน เพิ่มขึ้น 13.26% รวมทั้งสิ้น 9,208,256 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 14% คาดการณ์ว่าปี 2562 จะมีปริมาณผู้โดยสาร 14.39 ล้านคน ซึ่งระบบการขนส่งผู้โดยสารเข้าออกสนามบินจะต้องเพิ่มขีดความสามารถและลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ศักยภาพของเมืองเชียงใหม่ในทศวรรษหน้ายังอยู่ในเทรนด์เติบโตแบบก้าวกระโดดผงาดเป็นศูนย์กลางในหลายด้านของภูมิภาคและมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนไม่ขาดสายแต่สิ่งที่สำคัญคือการบริหารจัดการ กำกับดูแลให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและยั่งยืน
ที่มา : prachachat