เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ปีนี้มีแผนเร่งรัดปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพ พื้นที่กว่า 3,000 ไร่ พัฒนาเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 ท่าเรือ คลังสินค้า เดิมพื้นที่ 1,000 ไร่ จะลดขนาดเหลือ 700 ไร่ จะร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ใช้เป็นท่าเรือโดยสารระหว่างประเทศหรือครุยส์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย โซนที่ 2 ติดถนนพระรามที่ 4 ใกล้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะพัฒนาเป็นรูปแบบเชิงพาณิชย์ ขนาด 1,000 ไร่ และโซนที่ 3 พื้นที่ตรงกลางขนาด 1,000 ไร่ แนวคิดจะสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯไม่ว่าจะเป็นศูนย์ไอที นวัตกรรมการเรียนรู้ พาณิชยกรรม
โดยหารือกับกระทรวงคมนาคมจะจัดตั้งบริษัทลูกในการบริหารสินทรัพย์ภายใน 3 เดือนเพื่อพัฒนาโครงการ จะเริ่มพัฒนาที่ดินเปล่าของการท่าเรือ ขนาด 17 ไร่จะเปิดให้เอกชนลงทุนรูปแบบธุรกิจเกี่ยวกับท่าเรือ ออฟฟิศ ศูนย์นาวิกโยธิน ส่วนอีก 15 ไร่จะส่งเสริมการค้าออนไลน์ และพื้นที่ตลาดคลองเตยปัจจุบัน จะเปลี่ยนให้เป็นศูนย์การค้าทันสมัย ขณะที่ชุมชนอยู่ในพื้นที่จะบริหารจัดการ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
เรือเอกสุทธินันท์กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) คาดว่าเดือน ต.ค.นี้จะเสร็จและเริ่มประมูลในต้นปีหน้า ขณะเดียวกันต้องดูเรื่องปริมาณสินค้าให้สอดคล้องกับการออกแบบท่าเรือ เช่น สินค้ามีการเปลี่ยนอุตสาหกรรมการบิน กิจกรรมทางการแพทย์ ไอที และยังศึกษาจัดตั้งท่าเทียบเรือท่องเที่ยวรองรับเรือสำราญ (Cruise Terminal) ภายในท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการคัดเลือกพื้นที่ คาดแล้วเสร็จภายในปี 2561
ที่มา : prachachat