เชียงรายถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการพัฒนาผังเมืองรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ มีการขยายผังเมืองเดิมออกไปตามการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งถนนเลี่ยงเมืองสายตะวันออกและตะวันตก ที่พัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและช่วยระบายปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี
นอกจากจะขยายเส้นทางในส่วนของพื้นที่ในเขตอำภอเมือง แล้วโครงการก่อสร้างถนนที่เชื่อมไปยังพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆในจังหวัดเชียงรายก็เริ่มมีการพัฒนาขึ้น ได้แก่ ถนนสายชร.1063 เชียงราย - เชียงแสน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ถนนสายนี้จะเชื่อมระหว่างถนนเลี่ยงเมืองตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนน ชร.5023 ที่เชื่อมระหว่างอำเภอเมือง ไปยังถนน ชร.1209 (บ้านเด่น-ท่าข้าวเปลือก) ที่เชื่อมจากอำเภอเมือง ไปยังท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 อำเภอเชียงแสน
โดยเริ่มจากแยกศูนย์ราชการ จังหวัดเชียงราย ตำบลริมกก ผ่านหน้าท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เส้นทางไปสิ้นสุดบรรจบกับถนน ชร.1209 ระยะทาง 9.181 กิโลเมตร ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2556 แล้วเสร็จในเดือน ก.พ.2559 ที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณ 722,953,000 บาท
ขณะที่ถนนเลี่ยงเมืองหรือวงแหวนตะวันตกที่เชื่อมกับถนนหน้าท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ดำเนินการโดยกรมทางหลวง ขณะนี้กำลังก่อสร้างอยู่ เริ่มต้นจากถนนพหลโยธิน ในพื้นที่ ตำบลสันทราย อำเภอเมือง ผ่านหลายพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองฝั่งตะวันตกตามเส้นทางจนถึง ตำบลริมกก และ ตำบลบ้านดู่ ก่อนบรรจบกับถนนพหลโยธินหน้าท่าอากาศยาน ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง ใช้งบประมาณกว่า 1,600 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2562
ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ถนนดังกล่าวเป็นไปตามแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของกรมทางหลวงชนบท เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองเชียงราย รองรับการจราจรขนส่งและท่องเที่ยวจากด้านเหนือสุดบริเวณท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 เชื่อมผ่านทางเลี่ยงเมืองด้านตะวันออกโดยไม่ต้องผ่านตัวเมืองจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดในตัวเมืองได้
นอกจากนี้ยังเป็นการรองรับการเติบโตของเมืองทั้งในด้านเศรษฐกิจ, การการท่องเที่ยว แม้ในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ แม้จะมีการจราจรแตกต่างกัน แต่เมื่อเข้าสู่ประเทศไทยก็จะต้องปฏิบัติตามกฎจราจรของไทย มีใบอนุญาตขับขี่ หนังสือเดินทางระหว่างประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามระบบและลดอุบัติเหตุต่อไป
ด้าน ดร.อนุรัตน์ อินทรประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในอนาคต ถนนสายเชียงราย - เชียงแสน ที่เชื่อมไปถึงท่าเรือเชียงแสน 2 นั้น บริเวณตลอดสองข้างทางจะมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หลากหลายประเทศอาทิ โกดังขนาดใหญ่สำหรับเปลี่ยนถ่ายสินค้า, ร้านค้าอุปกรณ์ก่อสร้าง, ศูนย์รวมสินค้าของฝาก ซึ่งจะช่วยในการรองรับการขนส่งที่เดิมหากจะไป อำเภอแม่สาย, อำเภอเชียงแสน, อำเภอแม่ฟ้าหลวงและ, อำเภอแม่จัน จะต้องใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน เป็นหลัก ทำให้ปริมาณรถจำนวนมาก และติดขัดอยู่ในพื้นที่ อำเภอแม่จัน ซึ่งเป็นจุดแยกไปยังพื้นที่ต่างๆ แต่หากการก่อสร้างถนนเชียงราย-เชียงแสนแล้วเสร็จ นอกจากจะช่วยลดปริมาณรถ ยังสามารถดึงผังเมือง และการพัฒนาการค้าต่างๆ เข้ามาสู่พื้นที่ได้อีกด้วย ซึ่งในอนาคตจุดนี้จะมีการพัฒนาไม่แพ้ถนนสายอื่นๆ ในจังหวัดเชียงรายแน่นอน