Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เปิดแผน TOD ที่ดินการรถไฟจากบางซื่อถึงบางกอกน้อย

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่มีที่ดินอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก หลายแปลงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีแผนจะนำมาพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับการปรับโหมดการเดินทางจากถนนสู่ราง ซึ่งนอกจากการลงทุนก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนทางรางแล้วจะต้องมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรองรับทั้งด้านที่อยู่อาศัย พื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่จอดรถ เป็นต้น แนวทางการพัฒนาในรูปแบบนี้เรียกว่า Transit-Oriented Development หรือ TOD ซึ่งการรถไฟได้เตรียมแผนจะนำที่ดินในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่อยู่กลางเมือง หรือในทำเลสำคัญๆ ของกรุงเทพฯมาพัฒนา ตามแนวทาง TOD   

ฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรถไฟรับผิดชอบรถไฟฟ้าสายสีแดงเหนือ-ใต้ จากรังสิตถึงบางซื่อและปลายทางอยู่ที่มหาชัย และสายตะวันออก-ตะวันตก ต้นทางอยู่ที่ตลิ่งชัน ซึ่งมีแผนจะขยายเส้นทางไปให้ถึงศาลายา ส่วนปลายทางจะอยู่ที่สถานีหัวหมากและมีแผนขยายเส้นทางไปให้ถึงฉะเชิงเทรา

สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงเหนือ-ใต้ การรถไฟมีที่ดินแปลงใหญ่อยู่บริเวณสถานีบางซื่อ (เนื้อที่ 2,325 ไร่ ตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน จะแบ่งพื้นที่พัฒนา 9 แปลง มีระยะการพัฒนา 3 ระยะ ใช้เวลาพัฒนา 15-20 ปี ในระยะแรกปี 2561-2565 มีโซน A, E, D ระยะที่ 2 ปี 2566-2570 โซน C, F, G และระยะที่ 3 ปี 2571- 2575 โซน B, D, H, I) โดยจะจะเริ่มนำมาพัฒนาแปลงแรกคือแปลง A พื้นที่ 32 ไร่  คาดว่าจะนำมาเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาพัฒนาได้ในปี 2562 วงเงินลงทุนประมาณ 11,721 ล้านบาท ซึ่งเฟสแรกแรกน่าจะเสร็จก่อนปี 2564

ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 บริเวณสถานีบางซื่อที่จะนำมาพัฒนาเป็นแปลงต่อมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันคือ แปลงที่ดินบริเวณบ้านพักการรถไฟกิโลเมตรที่ 11 หรือบริเวณหลังปตท เนื้อที่ 300 ไร่ มีแนวคิดจะพัฒนาโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูส และ ศูนย์จัดประชุม สัมมนา และแสดงสินค้า ที่เรียกว่า ไมซ์ (MICE : Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษารูปแบบการร่วมทุน

ที่ดินอีกแปลงที่จะนำมาพัฒนาอยู่บริเวณสถานีแม่น้ำ บนถนนพระรามที่ 3 ติดกับคลังน้ำมันเชลล์ มีเนื้อที่ 271 ไร่ เป็นพื้นที่ที่อยู่ตรงข้ามคุ้งบางกะเจ้า เป็นที่ดินที่ติดริมน้ำเจ้าพระยาความยาว 1 กิโลเมตร ซึ่งไม่มีที่ดินแปลงไหนในกรุงเทพฯที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยายาวมากขนาดนี้ ผลการศึกษาจะพัฒนาเป็น Gateway ทางน้ำ เนื่องจากในกรุงเทพฯยังไม่มีท่าเรือที่รองรับการท่องเที่ยว โดยจะพัฒนาเป็นท่าเรือครุยส์ขนาดกลาง ที่พักอาศัยคอนโดมิเนียม พื้นที่พาณิชยกรรม วงเงินลงทุน 6-7 หมื่นล้านบาท แต่ยังติดปัญหาเรื่องของการเชื่อมต่อกับเมนหลัก ซึ่งมีบริษัทต่างประเทศเสนอให้เชื่อมต่อไปให้ถึงสถานีมักกะสัน ด้วย โมโนไลน์

สำหรับที่ดินบริเวณสถานีมักกะสัน ซึ่งเป็นแปลงที่อยู่ในความสนใจของทุกคน เดิมมีเนื้อที่ 500 กว่าไร่ เป็นทางด่วน และพื้นที่บึงรับน้ำตามแนวพระราชดำริ ยังเหลือที่อยู่อีกประมาณ 370 กว่าไร่ จะแบ่งการพัฒนาเป็นเฟสๆ เฟสแรกที่จะนำมาพัฒนาก่อนคือ แปลง A อยู่บริเวณถนนรัชดา-อโศก ตรงสถานี Airport Link มักกะสัน เนื้อที่รวม 150 ไร่ ซึ่งจะประมูลไปพร้อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งน่าจะได้ผู้พัฒนาในต้นปี 2562 ส่วนแปลงต่อๆ ไป จะนำมาพัฒนาในภายหลัง ประมาณ 8 ปี พร้อมๆกับการรื้อย้ายโรงงานมักกะสันออกไป

นอกจากนี้ ยังมีที่ดินในย่านฝั่งธนบุรีของการรถไฟอยู่อีก 1 แปลง บริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีบางกอกน้อย เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งมีแนวคิดจะนำมาพัฒนาตามแนว TOD เช่นกัน ทั้งหมดคือที่ดินที่การรถไฟมีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละแปลงยังต้องบ่มเพาะรอเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนารองรับระบบราง ที่เห็นแน่ๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคือ Grand Station ที่บางซื่อ และที่มักกะสัน จะที่เปลี่ยนโฉมการพัฒนาในกทม.ในอนาคตอันใกล้นี้

Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร