กทพ.เร่งเครื่องด่วนใหม่ “พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก” มูลค่า 2.7 หมื่นล้าน เวนคืน 2 พันล้าน 17 กม. แก้ปัญหารถติด 2 ฝั่งเจ้าพระยา ผุดสะพานใหม่คู่ขนานสะพานพระราม 9 ถกคลังออกอินฟราฯฟันด์ คาดตอกเข็มปีླྀ เล็งขยายไปถึงวังมะนาว
พลเอกวิวรรธน์ สุชาติ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า งานด่วนของ กทพ.ขณะนี้แก้ปัญหารถติดบนทางด่วน ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรหนาแน่นเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 ล้านเที่ยวคันต่อวัน ปัญหาเกิดจากรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น และทางด่วนมีพื้นที่จำกัด เพราะไม่ได้สร้างโครงข่ายใหม่เพิ่ม ดังนั้นปีนี้จะเร่งออกแบบรายละเอียดโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ช่วยลดปัญหาจราจรบนทางด่วนบูรพาวิถี, สะพานพระราม 9, ทางด่วนขั้นที่ 1 และถนนพระราม 2
แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ กม.10+700 ถนนพระราม 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สร้างซ้อนทับตามแนวถนนพระราม 2 จนถึงดาวคะนอง จากนั้นซ้อนทับบนทางด่วนขั้นที่1จนถึงพระราม3ใกล้แยกต่างระดับบางโคล่ และบรรจบกับทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 จุดสิ้นสุดโครงการ
โดยช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะสร้างสะพานใหม่ขนานกับสะพานพระราม 9 ขนาด 8 ช่องจราจร ขณะนี้ กทพ.จ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดแล้ว วงเงินกว่า 69 ล้านบาท ใช้เวลา 10 เดือน มีระยะทาง 17 กม. ใช้เงินลงทุนประมาณ 27,000-30,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 2,200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าก่อสร้าง ตามแผนจะเริ่มเวนคืนและก่อสร้างปี 2560 ใช้เวลาเวนคืน 18 เดือน ตั้งแต่มิถุนายน 2560-พฤศจิกายน 2561 ส่วนการก่อสร้างใช้เวลา 39 เดือน เริ่มจากเดือนพฤษภาคม 2560-กรกฎาคม 2563
ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจะมีการพิจารณาเดือนกุมภาพันธ์นี้ และระหว่างนี้ กทพ.จะทำงานคู่ขนานกันเพื่อให้โครงการได้รับการอนุมัติภายในปีนี้ โดยจะหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สรุปรูปแบบการลงทุน มี 3 ทางเลือก คือ 1.ใช้เงินกู้ 2.ระดมจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ และ 3.ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP โดยให้สัมปทาน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงแหล่งเงินก่อสร้างมาจากกองทุนอินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ เพราะช่วยลดเพดานหนี้สาธารณะของประเทศ และ กทพ.เป็นเจ้าของโครงการและเก็บค่าผ่านทางได้ 100%
“พยายามเร่งให้เกิดการลงทุน ซึ่งทางด่วนเส้นนี้พร้อมที่สุดในขณะนี้ อนาคตมีแผนขยายเส้นทางไปถึงวังมะนาว จ.ราชบุรี จะหารือกับกรมทางหลวง ถึงความรับผิดชอบในการก่อสร้าง อีกทั้งจะเร่งลงทุนทางด่วนกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต มูลค่า 8-9 พันล้านบาท ที่ สคร.จัดให้อยู่ในโครงการ PPP Fast Track”
พลเอกวิวรรธน์กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางด่วนในปัจจุบัน ล่าสุด กทพ.ลงทุน 802 ล้านบาท จ้าง บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ ปรับปรุงทางลงทางด่วนกาญจนาภิเษก บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางบางแก้ว วงเงิน 469 ล้านบาท แก้ปัญหารถติดบริเวณหน้าด่าน จะก่อสร้างทางยกระดับและทางระดับดิน ขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 2.3 กม. และก่อสร้างช่องทางเก็บค่าผ่านทางพิเศษเพิ่มอีก 9 ช่อง ประกอบด้วย บางปะอิน 6 ช่อง เชื่อมด่วนบูรพาวิถี 3 ช่อง และปรับปรุงช่องเก็บค่าผ่านทางที่ด่านเดิมเพิ่ม 4 ช่องจราจรสำหรับรถบรรทุกที่มุ่งหน้าไปบางปะอิน รวมถึงติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางทั้งแบบเงินสดและอัตโนมัติ ก่อสร้างอาคารที่พักพนักงาน และห้องน้ำ จะใช้เวลา 2 ปี แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2561
อีกทั้งลงทุน 333 ล้านบาท จ้าง บจ.สมาร์ท แทรฟิค ติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด บนทางด่วนบูรพาวิถีและทางเชื่อมต่อ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบเก็บค่าผ่านทางทดแทนระบบเดิม จำนวน 101 ช่องทาง ประกอบด้วย ช่องทางขาเข้า 42 ช่อง ช่องทางขาออก 59 ช่อง และปรับปรุงระบบจ่ายบัตรอัตโนมัติและระบบโปรแกรมบนอาคารจำนวน 21 ด่าน รวมถึงศูนย์ควบคุมทางพิเศษบูรพาวิถี จะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี 6 เดือน
ที่มา : housingthailand