บ้านเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีมูลค่าสูงในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทุกคนที่สร้างครอบครัวจึงใคร่ทราบถึง การได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการโอนซื้อขายบ้าน สารพันคำถามสามารถหาคำตอบได้ที่นี่
คำถาม: รัฐให้การสนับสนุนแบ่งเบาภาระภาษีสำหรับผู้กู้ซื้อบ้าน อย่างไรบ้าง
คำตอบ: รัฐได้กำหนดให้ผู้มีเงินได้ มีสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่ชำระไปเพื่อการผ่อนบ้าน โดยลดหย่อนได้ถึงสูงสุดปีละ 100,000บาท
โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
๐ ด้านสถาบันการเงิน
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ จะต้องกู้มาจากผู้ปประกอบกิจการภายในพระราชอาณาจักร ได้แก่ ธนาคาร บริษัทธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ เครดิตฟองซิแอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ ฯลฯ
๐ ด้านวัตถุประสงค์
ต้องเป็นเงินกู้เพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือสร้างอาคารบนที่ดินของตนเอง
๐ การจดจำนอง
ต้องจดจำนองอาคารหรือห้องชุด หรืออาคารพร้อมที่ดิน ไว้เป็นประกันเงินกู้นั้น โดยมีระยะเวลาจำนองตามระยะเวลาการกู้ยืม
๐ การลดหย่อนภาษี
สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี กรณีมีเงินกู้มากกว่า 1 แห่ง สามารถนำมาหักได้ทุกแห่ง แต่รวมแล้วไม่เกิน 1แสนบาท หรือกรณีมีเงินกู้ร่วมกันมากกว่า 1 คน ก็สามารถนำมาหักได้เช่นกัน แต่รวมแล้วไม่เกิน 1 แสนบาทเช่นกัน
คำถาม: ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ มีอะไรบ้าง
คำตอบ: ค่าใช้จ่ายในการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ส่วนใหญ่ผู้ขายเป็นผู้จ่าย ประกอบไปด้วย 4รายการ ได้แก่ ค่าธรรมเนียม ค่าอากร ภาษีเงินได้ และภาษีธุรกิจจำเพาะ ดังนี้
๐ ค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ อัตราร้อยละ 2 จากราคาประเมิน( ซึ่งเป็นราคากลางเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ) ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นหรือการลดหย่อนใด ๆและเพื่อความยุติธรรมจะแบ่งส่วนนี้กับผู้ซื้อและผู้ขายคนละครึ่ง คือฝ่ายละ 1%
๐ ค่าอากรแสตมป์ผู้ขายจะเป็นผู้เสียในการโอนกรรมสิทธิ์
พิจารณาจากราคาประเมินและราคาตลาด โดยใช้อัตราที่สูงกว่ามาคำนวณ ในอัตราร้อยละ 0.5 และจะได้รับยกเว้นกรณีเสียธุรกิจเฉพาะ
๐ ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ผู้ขายที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์น้อยกว่า 5 ปี จะต้องเสียภาษีธุรกิจจำเพาะอัตราร้อยละ 3.3 จากราคาประเมินหรือราคาตลาดแล้วแต่ราคาใดสูงกว่า
๐ ภาษีเงินได้หักณ ที่จ่าย
เมื่อเกิดรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องนำมาเป็นเงินได้พึงประเมินของผู้ขายมาคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายซึ่งจะคำนวณจากราคาประเมินและระยะเวลาที่ถือครอง โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบ
ระยะเวลาถือครอง(ปี) 1 2 3 4 5 6 7 มากกว่า 8
เงินได้นำมาคำนวณภาษี(%) 8 16 23 29 35 40 45 50
สูตร
เงินได้ที่นำมาคำนวณ = (ราคาประเมิน x ร้อยละของเงินได้ตามจำนวนปีถือครอง) /ปีถือครอง
นำจำนวนเงินได้ที่คำนวณไปคำนวณตามอัตราภาษี แล้วคูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง จะได้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายทั้งหมด
คำถาม: กรณีกู้ธนาคารต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกบ้าง
คำตอบ: นอกจากค่าใช้จ่ายข้างต้น แล้ว ยังมีค่าจำนองที่ดิน 1 % ตามจำนวนเงินกู้ที่จดจำนอง
เขียนโดย: มีชัย คงแสงไชย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทย
อดีตผู้จัดการสายสินเชื่อบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจุบันเป็นกรรมการและเหรัญญิก สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย