ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 อยู่ในภาวะที่ต้องระมัดระวัง เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ไม่น่าไว้วางใจ เรื่องนี้อยู่บนโต๊ะที่ผู้บริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตั้งวงถกกันมาเมื่อ 2 ปีก่อน และวางแผนรองรับสำหรับการอยู่ให้รอดอย่างปลอดภัยในยามขับขัน
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มองว่า ดูเหมือนสถานการณ์หลายอย่างเริ่มน่าวิตก ไม่ว่าจะเป็นราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น จากราคาที่ดินที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว จนผู้บริโภคธรรมดาหาซื้อได้ยาก เป็นเหตุผู้ประกอบการต้องหันไปพึ่งกำลังซื้อจากต่างชาติ และยังต้องลุ้นว่าใน 1-2 ปีนี้ ต่างชาติที่ซื้อไปจะโอนได้ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ขณะที่ซัพพลายเข้ามาในตลาดมากมายจนเกินความต้องการในหลายทำเล
ที่สำคัญคือเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มส่งสัญญาณเตือนให้ระมัดระวัง ซึ่งเชื่อว่า ธปท.มองเห็นอะไรบางอย่าง แต่ไม่สมารถสื่อสารออกมาตรงๆ ได้ ซึ่งบริษัทได้คุยกันภายในเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อบรรยากาศในธุรกิจไม่สดใสเหมือน 4-5 ปีก่อนหน้า นำมาสู่การปรับตัวรอตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิขึ้น โดยในปี 2560 เปิดกลยุทธ์ year of shift
“เป็นปีที่บริษัทต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง จากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น กำลังซื้อระดับกลาง-ล่างชะลอตัวลง จึงต้องขยายไปสู่ตลาดระดับบนมากยิ่งขึ้น และถือว่าประสบความสำเร็จโดยสามารถดึงยอดขายกลับมาสู่ภาวะการเติบโตได้อีกครั้งอในปี 2561 จึงมุ่งสู่การเป็น Year of Change โดยการเปิดแบรนด์ใหม่ บ้าน 365 จับตลาดบ้านแนวราบระดับบน ที่สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 50% ในวันเปิดตัว ถือเป็น 2 ปี ที่บริษัท พยายามปรับตัวเองรองรับกับสถานการณ์ที่เริ่มก่อตัวเป็นพายุฝนที่จะซัดกระหน่ำเข้ามาในระยะเวลาอันใกล้”
สำหรับในปี 2562 ยังเป็นแผนที่บริษัทดำเนินการต่อเนื่องมาจาก 2 ปีก่อน โดยการกระจายฐานรายได้ เพื่อลดความเสี่ยง จากที่ผ่านมาธุรกิจของบริษัทมีขาเดียว คือการพัฒนาเพื่อขายในกลุ่มคอนโดมิเนียมกลาง-ล่าง มีรายได้ถึง 98% ของรายได้รวม จึงได้เริ่มกระจายฐานออกไปสู่ตลาดกลาง-บน ส่วนตลาดกลาง-ล่าง แม้ยังมีปัญหาแต่ก็ไม่ทิ้งอย่างเด็ดขาด โดยยอดขายคอนโดจะคงระดับที่ 10,000 ล้านบาท ใน 3 ปีนับจากนี้ ส่วนธุรกิจขาที่สอง คือ การพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบที่มียอดขาย 5,500 ล้านบาท จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าการเติบโตปีละ 20% และธุรกิจขาที่สามคือ ธุรกิจบริการ จากการบริหารโครงการที่จะมีรายได้ 1,300-1,5000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 20%
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายทั้งคอนโดมิเนียม และบ้านแนวราบ 16,500 ล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียม 11,000 ล้านบาท และที่อยู่อาศัยแนวราบ 5,500 ล้านบาท ส่วนรายได้ตั้งเป้า 13,500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขาย 12,000 ล้านบาท เป็นคอนโด 9,000 ล้านบาท และที่อยู่อาศัยแนวราบ 3,000 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจบริการอีก 1,300-1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีสินทรัพย์รอขายที่เป็นคอนโดมิเนียมอยู่อีก 7,000 ล้านบาท จำนวน 5,500 ยูนิต โดยจะเร่งขายผ่านโครงการบ้านล้านหลังประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัท
ส่วนการเปิดโครงการใหม่ในปี 2562 บริษัทมีแผนเปิดโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ 10 โครงการ มูลค่า 8,000 ล้านบาท เป็นบ้านแนวราบราคา 2-3 ล้านบาท ถึง 10 ล้านบาท 8 โครงการ และบ้านระดับบนราคา 15-20 ล้านบาท 2 โครงการ ส่วนโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ 6 โครงการ มูลค่า 12,000 ล้านบาท เป้นคอนโด แบรนด์ลุมพินี เพลส ราคา 2-3 ล้านบาท 4 โครงการ แบรนด์ ลุมพินี วิลล์ ราคา 1.2-1.5 ล้านบาท 1 โครงการ และคอนโดระดับบน แบรนด์ ซีเล็คเต็ด ราคา 4 ล้านบาทขึ้นไป อีก 1 โครงการ และจะมีการเปิดออฟฟิศคอนโดในปีนี้ 1 โครงการ รวมมูลค่าโครงการที่เปิดใหม่ในปีนี้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการที่เปิดในปีนี้จะต้องมั่นใจว่าจะไม่สร้างปัญหาให้เราในอนาคต จึงต้องลงทุนอย่างระมัดระวังทั้งเรื่องทำเล ราคา และโปรดักต์
“ปี 2562 ภาพของสภาวะถดถอยยิ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น บริษัทจึงได้เตรียมแผนรองรับปัจจัยลบต่างๆ ไว้เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10% ด้วยการเปิดตัวโครงการให้ครอบคลุมทั้งกลุ่ม Value และ Standard เพื่อกระจายความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็ระมัดระวังในการเลือกทำเลเปิดตัวโครงการใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพตามกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อให้มั่นใจได้ถึงความสำเร็จของโครงการ” นายโอภาสกล่าว