Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

โตโยต้า เผย สาทรโมเดล คือโครงการที่มาแก้ปัญหาการจราจรบนถนนสาทรอย่างยั่งยืน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

โตโยต้า โมบิลิตี มองเห็นปัญหาว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวในทุกปีๆ ส่งผลให้การจราจรภายในกรุงเทพ ที่มีเส้นทางรวมถึง 469 กม. มีจำนวนรถยนต์ที่มากขึ้น และทำให้เกิดปัญหาการจราจรอันดับต้นๆของโลก โตโยต้า โมบิลิตี จึงเดินหน้าสู่การเป็นผู้สนับสนุน โครงการสาทร โมเดล โดยการให้สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาโครงการ พร้อมส่งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจราจรจากญี่ปุ่นร่วมทีมพัฒนาแผนโครงการสาทรโมเดล

โดยในวันนี้ได้มีการเผยผลการดำเนินงานสู่การแก้ไขปัญหาการจราจร ดังนี้

 

“สาทร โมเดล” เพื่อการแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน

โครงการสาทรโมเดล เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2557 โดยสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาคเอกชน และได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อบรรเทาการจราจรที่ติดขัดบนถนนสาทร

ต่อมาในเดือนเมษายน 2558 มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี ได้สนับสนุนเงินทุนจำนวนประมาณ 110 ล้านบาทให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการสาทรโมเดลให้มีขอบเขตการทำงานที่มากขึ้น  โดยมุ่งยกระดับการดำเนินการทดลอง รวมถึงเชิญชวนให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมสัมผัสประสบการณ์ใหม่ด้วยกันในโครงการนี้

เป็นครั้งแรกที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาจราจร แบบบูรณาการ ทำให้โครงการมีความคืบหน้าไปเป็นอย่างมาก โดยมีการกำหนดมาตรการในบริเวณถนนสาทร ซึ่งผลจากโครงการต้นแบบ พร้อมที่จะนำขยายสู่พื้นที่อื่นซึ่งเพิ่มความสุขในการเดินทางและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

 

มาตรการจอดแล้วจร : เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางสู่ถนนสาทร

โครงการจอดแล้วจร มาตรการเพิ่มทางเลือกสำหรับการเดินทางของประชาชนเข้าสู่พื้นที่ถนนสาทร จากความร่วมมือของสมาคมค้าปลีกไทย, สมาคมห้างสรรพสินค้าไทยและบริษัท นิปปอน ปาร์คกิ้ง ดีเวลลอบเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แบ่งปันพื้นที่จอดรถ รวมถึงได้พัฒนาพื้นที่จอดรถขึ้นมาใหม่ ในทำเลที่เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ 504 คน โดยเฉพาะจำนวนของผู้ใช้จุดจอดแล้วจรกรุงธนบุรีเฉลี่ย  280 คน ต่อวัน

สำหรับความเป็นไปได้ในการพัฒนาจุดจอดแล้วจรในอนาคต ทางโครงการเสนอให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาที่ดินสำหรับจัดทำจุดจอดแล้วจรในบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าที่จะเปิดในอนาคต โดยให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนก่อสร้างและดำเนินการจุดจอดแล้วจรในที่ดินของรัฐ และได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ รัฐควรมีหน่วยงานเจ้าภาพที่สามารถทำหน้าที่การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นให้ให้มีจุดจอดแล้วจรเพียงพอโดยดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจอื่นในบริเวณเดียวกันด้วยเพื่อสร้างรายได้และช่วยลดภาระทางการเงินที่ต้องใช้ดำเนินการจุดจอดแล้วจร

 

มาตรการรถรับส่ง : เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลบริเวณถนนสาทร

ในโครงการฯได้พัฒนาการให้บริการรถโรงเรียน ที่มีความปลอดภัยสูงในรูปแบบ สถานีถึงโรงเรียน ทั้ง 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม และ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยผู้ปกครองมาส่งบุตรหลานตามจุดจอดที่กำหนดไว้ แล้วเดินทางต่อสู่โรงเรียนด้วยรถรับส่งที่โครงการจัดไว้ เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรหน้าโรงเรียน ประหยัดเวลาในการรับส่งบุตรหลาน อีกทั้งยังเป็นการฝึกเยาวชนให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองในการเดินทางมาโรงเรียน

ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมในโครงการทั้งสิ้น 117 คน สำหรับนักเรียนที่ใช้บริการรถโรงเรียนสามารถประหยัดเวลาการเดินทางของผู้ปกครองได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการขับรถยนต์มาส่งถึงหน้าโรงเรียนในตอนเช้า ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้ ปัจจุบันทั้งสองโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนที่ใช้บริการรับส่งจากบ้านถึงโรงเรียนซึ่งบริหารงานโดยทางโรงเรียนเอง จำนวน 665 คนจากโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม และ 801 คน จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

 

มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน : เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน

มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน  เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ที่เข้าสู่พื้นที่ถนนสาทรในชั่วโมงเร่งด่วน ด้วยความร่วมมือของบริษัทเอกชนที่มีสำนักงานในบริเวณถนนสาทร และสีลม โดยใช้ข้อมูลการเดินทางของพนักงานที่ได้จาก Linkflow Application เพื่อใช้ออกแบบวางแนวทางการใช้มาตรการเหลื่อมเวลาทำงานใน  แต่ละบริษัทที่เข้าร่วม ซึ่งส่งผลดีโดยตรงต่อพนักงานคือ สามารถวางแผนการเดินทางเพื่อเข้าทำงานหรือเลิกงานได้เหมาะสม มีส่วนช่วยลดความแออัดบนท้องถนนลงได้ โดยมีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 4,300 คน จาก 12 บริษัท

 

ผลการดำเนินโครงการ “สาทรโมเดล”

จากผลการดำเนินงานพบว่า สภาพการจราจรบนถนนสาทรเหนือขาเข้าจากบริเวณสี่แยกสาทร ถึงสี่แยกวิทยุ ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าคล่องตัวมากขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยปริมาณการระบายรถเพิ่มขึ้น 422 คันต่อชั่วโมง หรือร้อยละ 12   ความยาวรถที่ติดสะสมจากสะพานตากสินไปจนถึงฝั่งธนบุรีลดลงจากปกติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมือที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนสนับสนุนพร้อมกัน

ตลอดระยะเวลา 3 ปี โครงการสาทรโมเดลได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานราชการและเอกชน รวมถึงประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน จนได้ผลการดำเนินงานผ่านการเรียนรู้และวิเคระห์สรุปผลนำสู่แผนที่นำทาง(Roadmap) ตามมาตรการที่สำคัญ ได้แก่

​1. สนับสนุนให้มีการทำแผนแม่บทการจอดแล้วจรและนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับการขยายแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะในอนาคต เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพเป็นจุดจอดรถ การลดอุปสรรคด้านข้อกฎหมายในการใช้ประโยชน์จากพื้นที

2.ปริมาณการจราจรที่มากช่วงเวลาเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนใหญ่ที่ผู้ปกครองใช้รถยนต์ส่วนตัวรับส่งบุตรหลาน สภาพปัญหาการจราจรหน้าโรงเรียนจึงแตกต่างกันไปตามลักษณะการเดินทางของเด็กนักเรียน จึงจำเป็นต้องวางแนวทางที่เหมาะสมแต่ละโรงเรียน โดยเริ่มจากการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางของนักเรียนและผู้ปกครอง วิเคราะห์เพื่อเสนอทางเลือกในการเดินทาง  เช่นโครงการรถรับส่ง หรือโครงการใช้รถร่วมกัน จากนั้นกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกับนักเรียนและผู้ปกครอง และประชาสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มผู้มีส่วนร่วม ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกอันดีงามแก่เยาวชน ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนและเข้าร่วมอย่างจริงจังจากผู้บริหารโรงเรียน อันจะเป็นการช่วยลดปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างมีนัยสำคัญ

3.ส่งเสริมให้มีการจัดทำข้อตกลงโดยสมัครใจร่วมกันระหว่างภาครัฐฯและองค์กรหรือสมาคมธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทสมาชิกแต่ละบริษัท นำมาตรการเหลื่อมเวลาทำงานไปประยุกต์ใช้กับพนักงานอย่างทั่วถึง รวมถึงการเพิ่มทางเลือกใหม่ในการเดินทางแก่พนักงาน

 

ที่มา : marketeer

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร