ในช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกเกิดการแย่งชิงเชียงใหม่และหัวเมืองอื่นทางภาคเหนือที่เป็นรัฐอิสระอยู่ในตอนนั้น และมีทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่าคือไม้สัก ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างเรือและอาคาร หลังจากอังกฤษเข้าครอบครองพม่าได้แล้วก็มีแผนจะขยายดินแดนมาทางทิศตะวันออก เช่นเดียวกับหลังจากฝรั่งเศสเข้าครอบครองลาวได้แล้วก็มุ่งขยายดินแดนมาทางทิศตะวันตก
คงเป็นเพราะสัมพันธภาพระหว่างสยาม รัฐทางใต้ที่มีมายาวนาน จึงทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่เลือกที่จะส่งเจ้าหญิงแห่งล้านนาไปเป็นพระชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหมือนเป็นการประกาศเลือกข้างและต่อต้านการเข้าครอบครองของอังกฤษและฝรั่งเศส
การก่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มายังเชียงใหม่ จึงเป็นการเสริมให้สัมพันธไมตรีระหว่างสยามประเทศกับภาคเหนือมั่นคงขึ้น เส้นทางการค้าทางลำน้ำปิงระหว่างเชียงใหม่กับพม่าที่เคยคึกคักก็ค่อยๆ ลดลงและหมดสิ้นไปเมื่อการขนส่งทางรถไฟนั้นสะดวกรวดเร็วกว่า
ด้วยแบบแผนของการก่อสร้างทางและสถานีรถไฟที่จะเลือกที่ตั้งให้อยู่ไกลจากชุมชนเดิม เพื่อลดปัญหาการเวนคืนที่ดิน การสร้างความรำคาญ ฯลฯ อย่างเช่น ในกรุงเทพฯ สถานีกรุงเทพฯ หัวลำโพง จึงอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งในเวลานั้นอยู่นอกเขตพระนคร หรือสถานีหาดใหญ่ก็อยู่ไกลจากเมืองสงขลา
สำหรับ “สถานีรถไฟเชียงใหม่” นั้น นอกจากจะอยู่ไกลชุมชนเดิมแล้ว ยังอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำปิง จึงเป็นที่มาของการสร้างสะพานนวรัฐและถนนเจริญเมือง เพื่อเชื่อมสถานีรถไฟกับตัวเมืองและย่านการค้าริมแม่น้ำปิงแต่ยังไม่มีหลักฐานหรือภาพเก่า ทำให้ไม่รู้ว่าตัวอาคารสถานีรถไฟรุ่นแรกเป็นอย่างไร
สำหรับอาคารสถานีรถไฟที่เห็นในปัจจุบันนั้น สร้างในราวปี พ.ศ.2490 เป็นหนึ่งในผลงานออกแบบของหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งที่ยังเป็นสถาปนิกกรมรถไฟหลวง
อาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่เป็นอาคารชั้นเดียวขนาดใหญ่ มีแบบแผนคล้ายอาคารสถานีรถไฟในต่างประเทศ ที่ประกอบด้วยโถงพักคอยและหอนาฬิกาสูง เพื่อการรับรู้เวลาการเข้าออกของรถไฟ ความสามารถของสถาปนิกทำให้สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวางตั้งอยู่ภายในอาคารที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทยได้สัดส่วนสวยงาม และแปลกไปจากสถานีรถไฟอื่นในประเทศและนอกประเทศ
เมื่อครั้งที่ยังเป็นเด็ก รถไฟ สถานีรถไฟและการเดินทางโดยรถไฟเป็นเหมือนการผจญภัยที่เคยรับรู้หรือเคยอ่านแต่ในหนังสือเท่านั้น เพียงแค่มีโอกาสตามผู้ใหญ่ไปรับส่งใครที่สถานีรถไฟก็เป็นเรื่องตื่นเต้นราวกับว่าได้เดินทางไกลไปในดินแดนพิศวง ผู้โดยสาร สัมภาระ พนักงานรถไฟล้วนเป็นตัวละครที่สร้างความตื่นเต้น เท่าที่เด็กน้อยจะจินตนาการได้ ยังไม่นับไก่ทอดหรือไก่ย่างสีแดงที่เคยเป็นอาคารรสเลิศซึ่งทุกวันนี้ถวิลหาอยู่เสมอ
พอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ที่เลือกเดินทางด้วยวิธีอื่นที่สะดวกสบายและรวดเร็วกว่า รถไฟ สถานีรถไฟและย่านสถานีรถไฟจึงเหลือเพียงภาพอดีตในความทรงจำ
วันใดที่การรถไฟแห่งประเทศไทยปฏิรูประบบบริหาร ปรับปรุงสภาพรถไฟ และอาคารสิ่งก่อสร้างให้ทันสมัย สะดวกและรวดเร็วเหมือนกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อมีรถไฮสปีดเทรน การเดินทางโดยรถไฟคงกลับมาเป็นที่นิยมเช่นในอดีต ถึงวันนั้นอาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่ก็จะเป็นอาคารปัจจุบัน ไม่ใช่อดีตอาคารเช่นในปัจจุบัน
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20