“สมาร์ทซิตี้” ในช่วงปีที่ผ่านมาไทยเรามีการพูดถึงกันมาก เพราะเป็นการขยายและพัฒนาเมืองรองให้ทัดเทียมกับเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพฯ และไม่เพียงเท่านั้น หากเรามองให้กว้างขึ้น มองไปประเทศที่พัฒนาแล้วในแถบเอเซียเรา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือจีน จะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาเมืองรองให้เป็นเมืองอัจฉริยะหรือที่เราคุ้นหูในชื่อ “สมาร์ทซิตี้” ไม่ใช่เพียงเพื่อพัฒนาให้ก้าวทันกับเมืองหลวงและประเทศอื่นๆ เท่านั้น แต่สมาร์ทซิตี้ยังมีส่วนให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้นอีกด้วย เพราะเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงสนับสนุนให้เมืองรอง อย่าง ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และอีกหลายเมืองพัฒนาไปสู่สมาร์ทซิตี้ให้ได้
อย่างที่เรารู้กันว่าทั้ง ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้มีแผนพัฒนาพื้นที่มากมาย โดยเน้นไปที่การคมนาคมเป็นหลัก ซึ่งหลายแห่งอยู่ในช่วงดำเนินงาน มีกำหนดเปิดใช้งานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และไม่ใช่แค่เพียงหัวเมืองหลักเท่านั้น แต่เป้าหมายการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของไทย คือดำเนินการให้ครบ 77 เมือง ทั้งการนำเมืองเดิมมาปรับใหม่ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ และการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาเลย
โดยคอนเซปต์เมืองอัจฉริยะต้องเป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมือง การลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมืองประกอบด้วย 6 สาขาอัจฉริยะ ได้แก่
- เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
- ระบบขนส่งและการสื่อสารอัจฉริยะ (Smart Mobility)
- พลังงานและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Energy & Environment)
- ระบบบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
- พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
- การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
นำร่อง 15 เมือง
สำหรับเมืองอัจฉริยะนำร่อง 7 พื้นที่แรกที่รัฐบาลดำเนินการ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร บริเวณศูนย์กลางคมนาคมขนส่งบางซื่อ รวมถึง ภูเก็ต, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ชลบุรี, ระยอง, และ ฉะเชิงเทรา
ในปี 2562 จะดำเนินการอีก 8 พื้นที่ ได้แก่ นครราชสีมา, พิษณุโลก, อุบลราชธานี, อุดรธานี, สงขลา, นครสวรรค์, สุโขทัย, และ ย่านบางรักในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลักเกณฑ์คัดเลือกจะดูที่ความพร้อมของจังหวัดและการเข้ามาร่วมทำงานของภาคเอกชน
โดยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ไม่จำเป็นต้องทำทีละเมือง แต่สามารถทำไปพร้อมกันได้ แต่ต้องพูดคุยกับคนในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายในรูปแบบประชารัฐ ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดภูเก็ตเป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ เนื่องจากได้ดำเนินการล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้หลายปี เช่น การติดตั้งจีพีเอสในรถขนขยะและออนไลน์เข้ามาที่จังหวัด เพื่อใช้ในการมอนิเตอร์รถขยะว่ามีต้นทางและปลายทางที่ใด ป้องกันการลักลอบทิ้งขยะ การพัฒนาสายรัดข้อมือให้นักท่องเที่ยวใช้ระบุตำแหน่งที่อยู่และใช้เป็นกระเป๋าอัจฉริยะ ทำให้ไม่ต้องพกเงินสดเพื่อความปลอดภัย ขณะที่ภาคเอกชนท้องถิ่นได้รวมตัวกันจัดตั้ง บริษัท ภูเก็ต พัฒนาเมือง จำกัด ช่วยพัฒนาเมืองภูเก็ต จัดการจราจรแก้ปัญหารถติด เป็นต้น
ต่อยอดสู่ 77 จังหวัด
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในงานสัมมนา Digital Thailand Big Bang 2018 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต กระจายความเจริญให้กับประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่าคณะกรรมการจึงได้พิจารณาแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่กำหนดเป้าหมายเมืองอัจฉริยะ เป็น 2 กลุ่ม คือ
1.เมืองน่าอยู่ หรือสมาร์ทซิตี้เมืองเดิม
2.เมืองใหม่อัจฉริยะ
โดยกำหนดเป้าหมายพัฒนาจนครบ 77 จังหวัด โดยจะเปิดโอกาสให้เมืองที่สนใจเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งต้องเริ่มจากการประเมินความพร้อมของตนเองก่อน และเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินเมืองตามเกณฑ์ 8 ข้อ จากนั้นจะได้เข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนเป็นเมืองอัจฉริยะ
หวังเลื่อนขั้นสู่ TOP 100 SMART CITIES IN THE WORLD
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทั่วโลกต่างแข่งขันกันสร้างสมาร์ทซิตี้ มีการจัดประกวดอันดับสมาร์ทซิตี้ที่ดี 1 ใน 100 ซึ่งประเทศไทยยังไม่ติดอันดับ แต่เรากำลังดำเนินการใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนในหลายมิติ เพื่อให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมแล้วเหลือเพียงการสร้างความร่วมมือร่วมใจและความพร้อมของบุคลากรที่จะมารองรับและต่อยอดเพื่อให้เมืองน่าอยู่อย่างไรก็ตามการพัฒนาสมาร์ทซิตี้หรือเมืองอัจฉริยะต้องพูดคุยกับคนในพื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายในรูปแบบประชารัฐ
นี่ก็เป็นอีกด้านหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศระยะยาวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถ้าหากประสบผลสำเร็จเป็นจริงขึ้นมา จะทำให้เศรษฐกิจทั้งภาคการท่องเที่ยว การลงทุนต่าง รวมไปถึง GDP ของไทยกระเตื้องขึ้นอย่างมากแน่นอน
ไม่พลาดทุกข่าวสาร ทันทุกเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์กับ Baania ได้ที่ Line Official >> @baania