Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

2557 ปีแห่งการตรวจสุขภาพของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ยามเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรื่องก็จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวก็จะได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วเช่นกัน ต้องบอกว่ารวดเร็วทั้งด้านบวกและลบ

ในงานสัมมนาเรื่อง “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2557” ที่จัดโดยสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากการพูดคุยสะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบทางการเมืองที่ยังหาคำตอบไม่ได้ส่งผลถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลไม่น้อย 

หัวข้อสัมมนาโดยรวมเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ และนโยบายภาครัฐที่มีผลกระทบกับสำหรับผู้ประกอบการ รวมทั้งการวิเคราะห์ภาพรวมตลาดทุน ตลาดสินเชื่อ ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคนตั้งใจฟังเป็นอย่างมาก เพราะน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยสำหรับภาวการณ์เช่นนี้ แต่หัวข้อที่ดูน่าสนใจที่สุดคือหัวข้อสุดท้าย  ทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2557

วิทยากรคือผู้ประกอบการที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี โดยคัดจากกลุ่มบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ขนาดใหญ่มากยอดขายระดับหลายหมื่นล้านอย่าง บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ขนาดใหญ่ยอดขายระดับหมื่นล้าน บมจ.ศุภาลัย และขนาดกลางระดับพันล้าน บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ที่มาแนะนำการเตรียมตัวในภาวการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาข้อมูลภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ การปรับตัวในเรื่องการบริหารองค์กรที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบโครงการ ความยืดหยุ่นของทีมงาน การเปิดตัวโครงการ พร้อมแนวทางการขยายตัวสู่ภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวสูง แถมยังมีบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์อย่างกานดา กรุ๊ปที่มีประมาณการยอดขายในปี 2556 กว่า 1,200  ล้านบาท มีโครงการทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีรูปแบบใกล้เคียงกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย

คุณอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บจ.กานดา กรุ๊ป และอดีตนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้แสดงความคิดเห็นว่าปี 2557 สำหรับบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์เป็นปีสำหรับแห่งการตรวจสุขภาพ โดยหัวข้อสำหรับการตรวจสุขภาพ 5 ข้อแรก ให้หาสาเหตุว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจ การเมือง หรือจากการบริหารงานของเราเอง ข้อหนึ่ง ยอดขายและสัดส่วนการขายที่ลดลง ข้อสอง ยอดปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่สูงขึ้น ข้อสาม ยอดรายจ่ายและต้นทุนด้านต่างๆ ที่สูงขึ้น และข้อสี่ กระแสเงินสดลดลงหรือไม่ เพราะอะไร รวมทั้งปัญหาการชำระเงินระหว่างเรากับเจ้าหนี้ ระหว่างลูกค้ากับเราว่าเป็นปัญหาเฉพาะลูกค้าบางราย บางกลุ่ม บางระดับราคาหรือทุกกลุ่ม  ข้อห้า สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับโครงการส่งสัญญาณชะลอการให้สินเชื่อ เพิ่มสัดส่วนหลักประกันต่อสินเชื่อหรือไม่ ส่วนสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อรายย่อยแก่ลูกค้าโครงการลดสัดส่วนหลักเกณฑ์อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน ว่าระหว่างเรากับบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกันเหมือนเรา ดีกว่า หรือแย่กว่าเรา นับเป็นหัวข้อการตรวจที่น่าสนใจมาก

ในภาวการณ์เช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจอื่นๆ ก็คงต้องหันมาตรวจสุขภาพกันทุกบริษัท พร้อมทั้งหาแนวทางรักษาสุขภาพกันล่ะค่ะ เพราะถ้าร่างกายไม่แข็งแรงจริงๆ ในช่วงภาวะอากาศแปรปรวนแบบนี้คงแทบเอาตัวไม่รอดแน่ๆ

ผู้เขียน  : อัญชนา วัลลิภากร

มีประสบการณ์ในแวดวงสื่อด้านอสังหาริมทรัพย์มานาน

ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ (เชียงใหม่) จำกัด

อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยรังสิต และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร