ในวันที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ครอบครองตลาดร่วมๆ 70% ยังมีความเคลื่อนไหวเล็กๆ ของบริษัทอสังหาฯรายเล็กในการสร้างเข้มแข็งเพื่อที่จะยืนสู้อยู่ในตลาดที่แข่งขันรุนแรงได้อย่างมั่นคง การร่วมพันธมิตรเพื่อปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง คือทางออกที่จำเป็นที่ต้องทำ ณ วันนี้
ล่าสุดบริษัทอสังหาฯ รายเล็ก 3 ราย 3 สไตล์ จาก 3 พื้นที่ มารวมเป็นหนึ่งเดียวในนามบริษัท ตฤณ แอสเสท จำกัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทประกอบไปด้วย
บริษัท ดรีมแลนด์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทพัฒนาที่ดินในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี พัฒนาทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม ภายใต้แบรนด์ดรีม วิลล์-รติรมย์ วิลล์
บริษัท ปกาสิต แอนด์ ซัน แอสเซท จำกัด พัฒนาคอนโดมิเนียม แบรนด์ เดอ โซน แจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี
บริษัท ไวซ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทอสังหาฯ มาไกลถึงเชียงใหม่ พัฒนาบ้านเดี่ยวภายใต้แบรนด์ ไวซ์ ซิกเนเจอร์
ผู้บริหารทั้ง 3 บริษัท ต่างเป็นนักเรียนในคลาส ABC Real: Real Estate Real Deal ของสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (Academy of Business Creativity) มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งโด่งดังเมื่อ 3-4 ปีก่อน ก่อนจะแปรสภาพเป็นหลักสูตร Next Real ในปัจจุบัน และในคลาส ABC Real ได้ช่วยให้ทั้ง 3 สาน connection และต่อยอดมาทำธุรกิจร่วมกันในที่สุด
“ธุรกิจของแต่ละบริษัทก็ยังทำกันอยู่ แต่การมาร่วมกันก็เพราะต้องการทำสิ่งที่สะท้อนความคิด สะท้อนตัวตนของเราได้อย่างเต็มที่ โดยการนำประสบการณ์ความถนัดของแต่ละคนมาช่วยกันในบริษัทที่ร่วมกันตั้งขึ้นมา” ปราชญ์ วงศ์วรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวซ์ พร็อพเพอร์ตี้ หนึ่งในผู้ถือหุ้นของตฤณ แอสเสท และยังเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูลวงศ์วรรณ หลานปู่ ณรงค์ วงศ์วรรณ นักการเมืองชื่อดังในอดีตกล่าว
ขณะที่ ปวิธ ประเสริฐสม ซึ่งรับหน้าที่เป็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตฤณ แอสเสท กล่าวว่า ตฤณเป็นบริษัทน้องใหม่ของวงการอสังหาริมทรัพย์ แต่กลุ่มผู้ถือหุ้น 3 รายล้วนมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มายาวนานและมีแผนที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจอสังหาฯร่วมกัน โดยเน้นการลงทุนพัฒนาโครงการแนวราบระดับบน ในทำเลกลางเมือง โครงการขนาดไม่ใหญ่มาก
“ตลาดลักชัวรีทาวน์โฮม มีคู่แข่งที่เป็นบริษัทรายใหญ่น้อย จะมีก็ผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งเราก็มั่นใจในประสบการณ์ที่แต่ละคนมีอยู่ว่าจะสามารถแข่งขันในตลาดที่มีเรียลดีมานด์อย่างชัดเจนนี้ได้ โดยวางเป้าว่าจะพัฒนาโครงการปีละประมาณ 2 โครงการ” ปวิธ กล่าว
สำหรับโครงการแรกที่ได้มีการพัฒนาคือ โครงการ ดิ ออเธอร์ เป็นโครงการทาวน์โฮมในซอยรัชดา 32 สูง 3 ชั้นครึ่ง เนื้อที่โครงการกว่า 1 ไร่ จำนวน 14 ยูนิต มูลค่าประมาณ 140 ล้านบาท ราคาขายเริ่มต้นที่ 9.9 ล้านบาท โดยจะเปิดให้ชมบ้านตัวอย่างในเดือนก.ค.ที่จะถึงนี้
โครงการ ดิ ออเธอร์
นอกจากจุดเด่นในการเลือกทำเลบ้านในเมืองในราคา 10 ล้านบาทบวกลบ และพัฒนาโครงการขนาดเล็กๆ ที่ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้แล้ว ปัจจุบัน เทคโนโลยี่ต่างๆ ก็ทำให้บริษัทรายเล็กสามารถแข่งขันกับบริษัทรายใหญ่ได้ทัดเทียมมากยิ่งขึ้น
“บริษัทได้มีการนำระบบโฮมออโตเมชั่น หรือ สมาร์ทโฮม เข้ามาใช้ภายในโครงการ โดยได้เลือกใช้เทคโนโลยี โฮม ออโต้เมชั่น มาตรฐานจากอเมริกา โดยการนำระบบสมองส่วนควบคุมที่สามารถสั่งการได้โดยใช้เสียงพูด และยังสามารถเข้าถึงการใช้งานแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ระบบโฮมออโตเมชั่นสามารถเชื่อมต่อได้ทั้งระบบรักษาความปลอดภัย ระบบไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศด้วย”
สำหรับแผนดำเนินธุรกิจของ ตฤณ แอสเสท ในระยะ 5 ปีนับจากนี้ บริษัทตั้งเป้าพัฒนาโครงการใหม่ประมาณ 8-10 โครงการ มูลค่าโครงการละประมาณ 100-400 ล้านบาท โดยเน้นจะเน้นในทำเลรัชดา ลาดพร้าว พระราม 9 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นพนักงานออฟฟิศในย่านดังกล่าว รวมถึงเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาคอนโดมิเนียมด้วย แต่ต้องรอให้ตลาดดีกว่านี้ก่อน
แนะทางรอด-ธอส.หนุนอสังหาฯ หน้าใหม่
คราวนี้มาดูว่า บริษัทอสังหาฯ รายกลาง-รายเล็ก รุ่นพี่ๆ รายอื่นในตลาดมีแนวคิดในการรับมือกับการแข่งขันกับบริษัทรายใหญ่กันอย่างไรบ้าง
อิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อเพอร์ตี้ มองว่า การรุกตลาดของบริษัทรายกลางรายเล็กท่ามกลางบริษัทรายใหญ่ที่แข็งแรงนั้น ต้องอาศัยความเล็กของตัวเองให้เป็นประโยชน์ ซึ่งได้แก่ ความคล่องตัว ต้นทุนที่ถูกกว่า และอย่าทำให้เชนยาว โฟัสในสิ่งที่ตัวเองถนัด
ขณะที่ อนงค์ลักษณ์ แพทยานันท์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เจ้าพระยามหานคร ย้ำว่า ผู้ประกอบการรายขนาดกลางต้องทำในสิ่งที่ตนถนัดที่สุด และต้องทบทวนอยู่เสมอว่าอะไรคือจุดอ่อน ถ้าทำในสิ่งที่ไม่ถนัดก็ควรมีที่ปรึกษาที่เชียวชาญ และทบทวนกระบวนการภายในอยู่เสมอ โดยเฉพาะการเก็บฐานข้อมูลของลูกค้า สิ่งที่สำคัญต้องอาศัยฐานข้อมูลเพื่อให้การดำเนินงานเป็นทิศทางที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ ล่าสุด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เตรียมจะขยายการปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการ หลังจากไม่ได้ปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้มาเป็นเวลานานมาก โดยจะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ หรือเรียกว่าเป็นสตาร์ตอัพในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศที่มีที่ดินเป็นของตนเอง เบื้องต้นจะปล่อยกู้ในวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 1,000 ล้านบาท เป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ในตลาด และเป็นการขยายสินเชื่อรายย่อยของธอส.ได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยในภูมิภาค
เชื่อว่า อสังหาฯ รายเล็กยังมีที่ยืนในตลาดได้แน่ ถ้ารู้จักตัวเองดีพอ ทั้งในแง่ของจุดแข็ง จุดอ่อน และการเสริมสร้างความแข็งแรงให้ตัวเอง ทั้งในเรื่องของสภาพคล่อง การบริหารจัดการ และประสบการณ์ในแต่ละพื้นที ซึ่งการร่วมพันธมิตรกับบริษัทที่เคมีตรงกันจะช่วยเสริมศักยภาพในการอยู่รอดอย่างปลอดภัยได้อีกทางหนึ่ง
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania