บ่อยครั้งที่การซื้อขายบ้าน คอนโดฯ ทำกำไร มักไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดหวังว่าจะทำกำไรได้อย่างมหาศาล แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับขายไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ตามกฎของเมอร์ฟี (Murphy’s Law) ที่ว่า “ทุกสิ่งที่สามารถผิดพลาด จะผิดพลาด (Anything that can go wrong, will go wrong.)” เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ หลายคนมักหาทางออกไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนประเภทจับเสือมือเปล่า หรือนักลงทุนมือใหม่ที่ใช้เงินร้อนมาลงทุน ยิ่งเลวร้ายไปใหญ่ เพราะการขายทำกำไรไม่ได้ อาจหมายถึงจุดจบหรือวาระสุดท้ายสำหรับผู้นั้นเลยก็ว่าได้
จริงๆ แล้วหลักคิดเรื่องการลงทุนอสังหาฯ ในแบบซื้อมาขายไปหรือฟลิป (Flip) กรณีซื้อบ้านหรือคอนโดฯ มาแล้วเกิดขายไม่ออกขึ้นมาก็ยังคงมี “กลยุทธ์ทางออก (Exit Strategies)” ที่อาจใช้เป็นทางหนีทีไล่ได้ถึง 6 กลยุทธ์ ดังต่อไปนี้
เป็นกลยุทธ์อันดับแรกที่พึงต้องนำมาใช้ ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลดราคาแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่เป็นการลดราคาแบบภายใต้รูปกำไรที่ตัวเองมีอยู่ เช่น การตั้งราคาขายบ้านไว้ที่ 3,000,000 บาท หวังกำไรไว้ที่ 600,000 บาท จะเห็นได้ว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ยังคงมีความยืดหยุ่นในการที่จะลดราคาลงได้อีก โดยลดกำไรที่คาดหวังลงเหลือ 200,000 บาท แล้วตั้งราคาเพียงแค่ 2,600,000 บาท ก็จะช่วยทำให้การขายง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งในหลายๆ สถานการณ์ อาจจำเป็นต้องลดราคาขายต่ำลงมากกว่านั้น จนกระทั่งเหลือกำไรเพียงน้อยนิด หลักคิดง่ายๆ ก็คือเพดานต่ำสุดของลดราคา คือลดจนกระทั่งกำไรที่คาดหวังเหลือ 0 บาท หากลดมาถึงจุดนี้แล้ว แต่ยังคงขายไม่ได้อยู่อีกก็ให้หันใช้กลยุทธ์อื่นๆ แทน
ซึ่งจะเป็นการขายบ้านแบบให้เช่าช่วงหนึ่งก่อน อาจเป็น 2-3 ปี แล้วให้สิทธิผู้เช่าสามารถซื้อบ้านหลังนั้นได้ตามราคาและเวลาที่กำหนด โดยยอมให้นำเงินมัดจำและค่าเช่าบางส่วนมาคิดเป็นค่าซื้อบ้านได้ กลยุทธ์แบบนี้ ข้อดีก็คือ จะช่วยดึงดูดใจผู้กู้ซื้อบ้านได้มาก โดยเฉพาะกลุ่มที่สถานะยังไม่พร้อมที่จะซื้อบ้านโดยกู้ยืมเงินแบบปกติได้ และยังสามารถดึงดูดใจลูกค้าที่กำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะซื้อหรือจะเช่าได้เป็นอย่างดี
ปกติเงินที่จ่ายในสัญญาลีสออปชันมักสูงกว่าเงินที่จ่ายเป็นค่าเช่าปกติ ทำให้สามารถช่วยขจัดปัญหากระแสเงินสดติดลบได้เป็นอย่างดี ประโยชน์ข้างเคียงอีกด้านหนึ่ง ก็คือทำให้ผู้เช่ากลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบ้าน จะดูแลรักษาบ้านดีขึ้น ทั้งนี้สัญญาลีสออปชันส่วนใหญ่ จะมีการปัดภาระความรับผิดชอบในการซ่อมแซมบ้านทั้งหมดไปให้ผู้เช่า ดังนั้นสัญญาลีสออปชันจึงมีความน่าสนใจกว่าการปล่อยเช่าปกติมาก
เป็นกลยุทธ์ดั้งเดิมที่คนทั่วไปนิยมใช้กัน เมื่อไม่ต้องการขายบ้าน คอนโดฯ ในราคาต่ำๆ ทั้งนี้การปล่อยเช่าถือเป็นทางออกที่น่าสนใจทางหนึ่ง เพื่อจะได้มีรายได้ค่าเช่าเข้ามา ช่วยค่าผ่อนบ้าน ซึ่งดีกว่าการปล่อยปิดไว้เฉยๆ เป็นไหนๆ ทำให้ไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้และไม่เกิดปัญหาติดแบล็คลิสต์
การให้เช่าเป็นทางหนีทีไล่ที่สำคัญในการฟลิป (Flip) ทำกำไรอสังหาฯ ดังนั้นทุกครั้งที่คิดจะลงทุนบ้านหรือคอนโดฯ ที่ใด จึงจำเป็นต้องทำตรวจเช็คตลาดเช่าในบริเวณนั้นแต่เนิ่นๆ เพื่อให้แน่ใจก่อนว่าเป็นทำเลหรือพื้นที่ที่มีความต้องการเช่าอยู่ด้วยเสมอ
ทางเลือกที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการนำบ้าน คอนโดฯ ไปจำนอง เพื่อกู้ยืมเงินมาใช้ก่อน หรือกรณีติดจำนองอยู่แล้ว อาจนำบ้านหลังเดิมไป “รีไฟแนนซ์ (Refinance)” เพื่อเพิ่มวงเงินในการกู้ยืม หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการชำระคืนและเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยใหม่ โดยเจรจาปรับเปลี่ยนสินเชื่อจากแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Adjustable Rate Mortgage) ที่อัตราดอกเบี้ยสูง เปลี่ยนมาเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Mortgage) ที่อัตราดอกเบี้ยซึ่งต่ำกว่า เพื่อช่วยลดภาระผ่อนชำระรายเดือนให้น้อยลง เพื่อทำให้ค่าเช่าอยู่ในวิสัยที่จะผ่อนชำระตัวเองได้ (Self-finance)
เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ นั่นคือขายต่อเปลี่ยนมือไปให้กับนักลงทุนรายอื่นต่อไปในราคาถูก เพื่อเคลียร์อสังหาฯ ที่ไม่มีสภาพคล่องออก สำหรับไปทำในเคสอื่นๆ ที่คล่องตัวกว่า ทั้งนี้ผู้ซื้อที่เป็นนักลงทุนอาจหาได้ไม่ยาก ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมลงทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่ปัจจุบันมีอยู่มากมาย
ในกรณีที่ผู้ลงทุนอยู่ในสถานะช็อตเงินจริงๆ อาจเลือกใช้วิธีนำบ้านและคอนโดฯ มาขายฝากเพื่อกู้ยืมเงินมาใช้ในระยะสั้นๆ ซึ่งจริงๆ แล้วขายฝากนี้ถือเป็นแหล่งเงินฉุกเฉินชั้นดี ที่สามารถเข้ามาช่วยให้คนกำลังหมดสิ้นหนทางมีทางไป ให้มีเวลาหายใจหายคอได้ เพื่อรอเวลาจนกว่าจะขายบ้านและคอนโดฯ นั้นได้
เขียนโดย: อนุชา กุลวิสุทธิ์
กูรูด้านการเงินและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษาอิสระ วิทยากรและอาจารย์พิเศษ
มีพ็อกเก็ตบุ๊คด้านการเงิน การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์