ใครที่ผ่านไปแถวถนนรัตนโกสินทร์ ตำบลวัดเกต ที่เชียงใหม่จะเห็นโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ที่ซึ่งมีการเรียนรู้ในหลักสูตรการสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวคิดร่วมกันในชุมชนระหว่าภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสืบสาน อนุรักษ์ภูมิปัญญาและการจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ในบริเวณที่ร่มรื่น มีอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมล้านนารายล้อมอยู่ มีซุ้มประตูที่มีป้ายเล็กๆ “Aka Casa Le Petit Hotel” สะดุดตาที่ทำให้ต้องมองเข้าไปเห็นการจัดภูมิทัศน์ดึงดูดสายตาเข้าไปที่อาคาร 2 ชั้นที่ดูเหมือนบ้านหลังใหญ่มากกว่าโรงแรมอย่างที่ป้ายบอกไว้ แทรกตัวอยู่ในบรรยากาศแบบล้านนา
จริงๆ แล้วอาคารไม่ได้มีความเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา แต่การออกแบบโดยใช้วัสดุ ธีมสี เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งเป็นการออกแบบที่มีวิธีการผสมผสานความทันสมัยกับศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นได้อย่างลงตัว พื้นที่แต่ละมุมที่ออกแบบการใช้งานไว้ ทำให้เกิดเสน่ห์ของที่พักอาศัยแบบบ้าน อย่างที่นักท่องเที่ยวที่ชอบความสงบ เป็นส่วนตัวและมองหาความแตกต่างจากโรงแรมในเมืองอื่นๆ น่าจะหลงใหลได้ไม่ยาก
แนวคิดในการสร้างความลงตัวของการออกแบบตกแต่งที่ใช้ความรู้สึกสรรค์สร้างบรรยากาศที่ไม่ต้องมีหลักการทางวิชาการอะไรมากมาย นอกจากการเลือกข้าวของตกแต่ง เครื่องเรือนที่มีความงดงามและรสนิยม ที่กำหนดโทนสีหลักเป็นสีธรรมชาติที่เน้นเนื้อแท้ของวัสดุ การควบคุมแสงธรรมชาติ หรือแสงจากดวงโคม ตามการใช้งานอย่างเหมะสม เท่านี้ก็ทำให้ผู้มาเยี่ยมเยือนเรือนหลังใหญ่แห่งนี้ ได้รับประสบการณ์อบอุ่นเสมือนหนึ่งพักอยู่ที่บ้าน เห็นมั้ยคะว่าเรื่องของการใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลบางทีก็มีประโยชน์ที่สามารถส่งต่ออารมณ์ดีๆ ให้คนรอบข้างได้อย่างคาดไม่ถึง ลองใช้ความรู้สึกตกแต่งบ้านของเรา โดยใช้หลักการธรรมชาติและสิ่งรอบตัวกับความสุขที่เรามีครอบครัวอยู่ข้างๆ บ้านแสนสวยอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมล่ะค่ะ
ใครที่สนใจการออกแบบศิลปะล้านนา ลองแวะไปเดินชม Aka Casa Le Petit Hotel แถวถนนรัตนโกสินทร์ ตำบลวัดเกต ที่เชียงใหม่ ที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาและการจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกันได้นะคะ
ผู้เขียน : มัลลิกา บุณฑริก
อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
สถาปนิกที่หลงไหลการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้และประสบการณ์ในชีวิต
มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม และภาพลักษณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน