พูดถึง “บ้านผู้สูงวัย” แทบทุกคนคงจะนึกถึงสภาพบ้านพักสำหรับคนชราผู้เฒ่าผู้แก่ในแบบเดียวกัน
จะเป็นบ้านพักคนชรา เนิร์สซิ่งโฮม สถานสงเคราะห์คนชรา และไม่ว่าจะใช้ชื่อใด หรือมีรายละเอียดแตกต่างกันแค่ไหน คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังรับไม่ค่อยได้กับการเข้าไปอยู่อาศัยในสถานที่เหล่านั้น
แม้ผู้สูงอายุที่มาพักในบ้านพักคนชราต้องมาอยู่ภายใต้เงื่อนไขความสมัครใจ อาจเพราะไม่มีใครดูแล ไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน หรือต้องการกลบความเหงา แต่ถ้าเลือกได้ คนส่วนใหญ่คงไม่อยากไปอยู่
ขณะที่ในสังคม “ญี่ปุ่น” ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุมากเป็นอันดับต้นของโลก ประเทศที่ก้าวสู่ “สังคมผู้สูงวัย” อย่างเต็มรูปแบบ (Super Ageing Society) กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป
เรากำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย
จากสถิติปี 2015 ประชากรผู้สูงอายุของญี่ปุ่นสูงถึง 26% และจะพุ่งไปแตะหลัก 30% ในปี 2030 รองลงมาเป็นสิงค์โปร์ และต่อด้วยไทย ซึ่งปี 2015 จำนวนผู้สูงอายุของไทยอยู่แค่ 10% แต่จากการคาดการณ์ล่าสุดพบว่าจำนวนผู้สูงอายุของไทยจะเติบโตแบบ 2 เท่า ขึ้นไปถึง 19–20% ในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า
ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆ แล้วประเทศไทยเราได้เข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว โดยจำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 7% ของประชากรทั้งหมด และในอนาคตประชากรสูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” เพราะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 14% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 จะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 20%
เทรนด์ผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เหมือนที่ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ล้วนปรับเปลี่ยนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมที่สุดด้านหนึ่งก็คือการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับการดำรงชีวิตของผู้สูงวัยในอนาคต
เมื่อโรคภัยและวัยชรามาเยือน ลักษณะบ้านแบบเดิมๆ จึงไม่ตอบโจทย์ ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะผู้สูงวัยไม่ได้แค่ต้องการแค่เรื่องของ Facility ต่างๆ สำหรับอยู่อาศัยเพียงเท่านั้น ปัจจัยสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างสังคม การได้อยู่กับครอบครัว รวมถึงการออกแบบ และการใช้นวัตกรรมเพื่อผู้อยู่อาศัยทุกเพศทุกวัยก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน รายละเอียดต่างๆ ในการนำมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงต้องคิดให้ครอบคลุมกว่าเดิมไปอีกขั้น
แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อคนสูงวัยของญี่ปุ่น
พักหลังเราเริ่มได้ข่าวคราวบริษัทอสังหาฯ เริ่มหันมาทำคอนโดมีเนียมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยมาบ้างแล้ว ล่าสุด เอพี (ไทยแลนด์) ก็เพิ่งประกาศจะสร้างคอนโดมีเนียมที่เจาะกลุ่มคนสูงวัยรุ่นใหม่ (The Young Old) อายุ 60 - 75 ปี ที่มีจุดต่างด้านทำเลที่ตั้งใจกลางเมืองติดแนวรถไฟฟ้า ตลอดจนวิธีคิด และการออกแบบที่เข้าถึงความต้องการของผู้อยู่อาศัย ผสานความร่วมมือกับกลุ่มมิตซูบิชิเอสเตท (MECG) ส่งต่อองค์ความรู้เฉพาะทางจากความสำเร็จในการสร้างโครงการอสังหาฯ เพื่อผู้สูงวัยในญี่ปุ่น
มร. โทโมฮิโกะ เอกุจิ Director and Executive Officer บริษัท พรีเมี่ยม เรสซิเดนซ์ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่าง เอพี (ไทยแลนด์) และบริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ ในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป – MECG และวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร และการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
เพื่อให้เห็นภาพ Baania ตอบรับคำชวนของ เอพี (ไทยแลนด์) ตามไปดูแนวคิดและนวัตกรรมต่างๆ ที่ถูกพัฒนาเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อคนสูงวัยของคนญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เราเห็นมุมมองในการออกแบบบ้านที่ไร้สิ่งกีดขวางตามกฎหมาย Barrier Free Law (กฎหมายส่งเสริมการเคลื่อนที่และการเข้าถึงอย่างสะดวกสบายของผู้สูงอายุและผู้พิการ) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2006 อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ: Barrier Free Law in Japan
Nursing Home
“Charm Premier Fukasawa”
นี่คือตัวอย่างของบ้านพักผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่น บริหารจัดการโดย Charm Care Corporation ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของบริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ จำกัด บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 มีห้องพักทั้งสิ้น 85 ห้อง ปัจจุบันมีผู้สูงวัยเข้าพักแล้วประมาณ 50% พื้นที่ภายในได้รับการออกแบบให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้สูงวัย โดยมีการจัดสรรให้เป็น ส่วนของห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ให้ทุกวันของการพักอาศัยที่นี่ รู้สึกเหมือนเป็นชุมชนของการอยู่อาศัยที่มีความสุข ภายในประกอบไปด้วย ห้องออกกำลังเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการ โดยภายในอาคารให้บรรยากาศเหมือนแกลเลอรี่ศิลปะเพราะประกอบไปด้วยงานศิลป์ของนักศึกษามากกว่า 100 ชิ้นที่จัดแสดงไว้ให้ผู้สูงวัยได้เสพงานศิลป์เพื่อการผ่อนคลาย ส่วนด้านนอกจัดเป็นสวน พร้อมระเบียงไม้ให้สามารถออกไปนั่งชมสวนในวันที่อากาศดี
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีบริการและกิจกรรมอีกมากมายที่ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคล โดยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้สูงวัยได้ใช้ชีวิตในบ้านพักแห่งนี้ด้วยความสุขอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต การแสดงมายากล ยิมนาสติกเพื่อการฟื้นฟูร่างกาย การออกกำลังกาย กิจกรรมทางวัฒนธรรม หรือแม้แต่เมนูอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และอาหารมื้อพิเศษในโอกาสต่างๆ
Wellness Community
“Wellness Square in Fujisawa SST by Panasonic Corporation”
อาคารพักอาศัยเพื่อผู้สูงวัย ตั้งอยู่ภายในโครงการ Fujisawa Sustainable Smart Town พัฒนาโดย Panasonic Corporation ภายในประกอบด้วย 2 อาคาร คือ North และ South พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี จึงพัฒนาให้สามารถรองรับบุคคลได้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยมีแนวคิดส่งเสริมการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคนทุกเพศทุกวัยเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย โดยพื้นที่หลักของ Wellness Square มุ่งเน้นไปที่การใช้สอยของผู้สูงวัย และยังประกอบไปด้วยบริการอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงคนทุกเพศทุกวัยเข้าไว้ด้วยกัน เช่น บ้านพักผู้สูงวัย คลีนิกตรวจรักษาสุขภาพ ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย ห้องจัดกิจกรรม และอื่นๆ
ในส่วนของคลินิกรักษาสุขภาพมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อบันทึกและเชื่อมโยงทุกข้อมูลของผู้พักอาศัย ทั้งจากโรงพยาบาล ศูนย์กีฬา ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับยา และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นไว้ในฐานข้อมูลที่สามารถนำมาเรียกใช้งานได้ตลอดเวลา เพื่อแก้ปัญหาการขาดความเชื่อมโยงของข้อมูลที่จำเป็นและข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้การรักษาล่าช้า
Renovation Business & Elderly-friendly, Residential Design
“Mitsubishi Estate Home Gallery”
Mitsubishi Estate Home (MEH) ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านและรีโนเวทที่อยู่อาศัยโดยมีมาตรฐานการออกแบบที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงวัย ด้วยความเชี่ยวชาญในธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย ผนวกกับความร่วมมือกับพันธมิตรในการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำมาซึ่งความสะดวก ปลอดภัย และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แน่นอนว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยมีความซับซ้อนมากกว่าการพัฒนาอสังหาฯ ทั่วไป เนื่องจากจำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยในการดำรงชีวิตตามแนวคิดหลักในการออกแบบที่เหมาะกับผู้อยู่อาศัยทุกวัย (Universal Design) เช่น การออกแบบให้มีสิ่งกีดขวางบนพื้นให้น้อยที่สุด การติดตั้งราวจับเพื่อความปลอดภัยในการเคลื่อนไหวของผู้สูงวัย การออกแบบประตูทางเข้าให้มีความกว้างมากกว่าปกติ หรือการจัดวางระบบไฟส่องสว่างทั้งเวลากลางวันและกลางคืน รวมถึงการบริหารจัดการอุณหภูมิภายในบ้านให้เหมาะสมตลอดวัน
1. พื้นที่ระหว่างห้องที่เป็น Barrier Free
2. Barrier Free Floor ไม่มีขั้นบันได เพื่อการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ
1. อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิภายในบ้าน
2. ผนังกันความร้อนผลิตจากแร่ใยหิน ได้รับรางวัล Good Design Award 2013
3. ประตูบานเลื่อนเพื่อการเปิด-ปิดที่สะดวกสำหรับผู้สูงวัย
Materials & Innovation
“NODA SHOWROOM by NODA Corporation”
พื้น Shock Absorbing Floor ลดแรงกระแทก คิดค้นโดย NODA เทียบกับพื้นไม้ปกติ
NODA Corporation บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุปูพื้นชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน และความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยของผู้สูงวัย จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการอยู่อาศัยของผู้สูงวัยขึ้น อันเริ่มต้นจากการทำวิจัยและพัฒนาโดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ และนำความชำนาญของตนในฐานะผู้ผลิตวัสดุปูพื้น มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมวัสดุปูพื้นที่ช่วยลดแรงกระแทก (Shock Absorbing Floor) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัย ด้วยคุณสมบัติพิเศษในการรองรับแรงกระแทกและให้ความอบอุ่นเมื่อสัมผัส
ชุดเครื่องแต่งกาย เพื่อสัมผัสประสบการณ์เสมือนผู้สูงวัย มีในโชว์รูม NODA
อีกหนึ่งไฮไลท์ภายใน NODA Showroom คือการจำลองประสบการณ์สูงวัยให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัส ด้วยการสวมชุดที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ สัมผัสประสบการณ์เสมือนเป็นผู้สูงวัย ที่อยู่อาศัยภายในบ้านที่ออกแบบภายใต้แนวคิดปลอดสิ่งกีดขวาง (Barrier Free) คือการออกแบบทางเดินให้ราบเรียบ ไร้ขั้นบันไดหรือทางต่างระดับ หรือมีบันไดน้อยที่สุด เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยดำเนินชีวิตประจำวันได้สะดวก ช่วยเหลือตนเองได้ ลดอุบัติเหตุและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ พื้นบ้านที่สามารถกันการลื่นหกล้ม และช่วยลดแรงกระแทกหากเกิดอุบัติเหตุ ประตูบ้านที่สามารถผลักออกได้ไม่ว่าจะอยู่ทั้งภายใน และภายนอกห้อง และถึงแม้อยู่ในพื้นที่จำกัดประตูนี้ก็ยังสามารถเปิดได้กว้างและยังสามารถติดตั้งราวจับได้ด้วย ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงวัยที่ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน หรือรถเข็น
1. ประตูที่เปิดแบบสวิงได้ทั้ง 2 ฝั่ง
2, 3 ประตูที่ปรับองศาการเปิดให้ได้ระยะกว้างขึ้นสำหรับผู้ใช้ wheelchair
4. เปรียบเทียบระยะของ corridor ที่เหมาะสำหรับ wheelchair
1. ห้องน้ำที่ปรับระยะให้เหมาะสำหรับผู้สูงวัย และราวจับที่ปรับได้ตามความสูงของคน
2. บันไดที่ปรับให้ความชันลดลง หน้ากว้างมากขึ้น พร้อมแถบเรืองแสงสำหรับยามกลางคืน
3. สวิทช์และปลั๊กไฟ ที่ปรับตำแหน่ง และขนาดให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย หรือผู้ใช่ wheelchair
ทุกวันนี้สถานดูแลผู้อยู่อาศัยสูงอายุไม่ใช่แค่สถานที่สำหรับคนไร้ทางไป แต่มันคือทางเลือก คือบริการ และคือธุรกิจที่กำลังเติบโต Baania ได้ไปเห็นบ้านพักระดับห้าดาว รวมถึงการออกแบบ และเทคโนโลยีที่คิดมาเพื่อทุกเพศทุกวัยอย่างใส่ใจของคนญี่ปุ่นเขาแล้วก็รู้สึกว่าถ้าตั้งใจทำให้ดีมีระดับจริงๆ มันก็น่าอยู่ไม่เบานะครับ