โรงเรียนการบิน BAC ยึดพื้นที่ 13 ไร่ติดสนามบินหนองเต็งโคราช ทุ่มลงทุนกว่า 1,500 ล้าน ผุด "BAC Academy" โรงเรียนผลิตนักบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ลานจอดเครื่องบินกว่า 60 ลำ เล็งผลิตนักบินพาณิชย์ป้อนอุตฯการบินทั่วโลกปีละ 300 คน พร้อมตอกเสาเข็ม ก.พ.นี้ คาด 1 ปีแล้วเสร็จเปิดสอนได้ หวังขึ้นแท่นผลิตนักบินเบอร์หนึ่งโลก
นาวาอากาศโทปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานผู้บริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ BAC ได้ตัดสินใจที่จะสร้างโรงเรียนการบินแห่งใหม่ที่โคราช ซึ่งจะเป็นโรงเรียนการบินใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อรองรับการฝึกบินให้ขึ้นอันดับ 1ของโลก ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างโรงเรียนตั้งอยู่ทางเข้าสนามบินโคราช ขณะนี้มีการปรับพื้นที่ในส่วนของอะคาเดมีแล้ว คาดว่าจะตอกเสาเข็มและเริ่มการก่อสร้างได้ในเดือน ก.พ.นี้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี โดยสามารถผลิตนักบินได้เต็มความสามารถปีละประมาณ 450 คน และสามารถรับฝึกนักบินได้ไม่ต่ำกว่า 300 คน ส่วนปีแรกจะเริ่มผลิต 250 คน โดยมีเป้าหมายฝึกนักบินต่างชาติเป็นหลักด้วย
"BAC ตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่ จ.นครราชสีมา เนื่องจากสนามบินนครราชสีมาเป็นสนามบินที่ใกล้ที่สุด เมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ และการเดินทางของผู้มาเรียนสะดวก ลดเวลาการเดินทางและโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของสนามบินโคราชถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด ซึ่งในมุมมองของประชาชนทั่วไปอาจจะมองว่าตั้งอยู่ไกล แต่มุมมองของโรงเรียนการบินและผู้ที่ทำการบินทางอากาศ มองว่าไม่ไกลและไม่แพ้ใครด้วยความได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ที่มีมากถึง 4,000 ไร่ มีรันเวย์ยาวถึง 2,000 เมตร และสามารถขยายได้อีก ถือเป็นมาตรฐานสากล สามารถนำเครื่องบินขนาดใหญ่ลงจอดได้"
นาวาอากาศโทปิยะกล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BAC ได้นำนักบินมาฝึกบินที่สนามบินนครราชสีมา ปีละไม่น้อยกว่า 50-80 ราย และนำเครื่องบินมาฝึกที่นี่ 10-15 ลำ จึงมีแผนการสร้างโครงการ BAC Academy ปีละ 300 คน โรงเรียนตั้งอยู่บนเนื้อที่ 13 ไร่ อยู่ห่างจากท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง 5 กิโลเมตร ทำให้สะดวกในการเดินทางระหว่างสนามบินและ Academy ซึ่งประกอบไปด้วยห้องเรียน, หอพัก, ห้องประชุม, ศูนย์กีฬา และพื้นที่สันทนาการที่มีความทันสมัย พร้อมเครื่องบินอีก 60 ลำเพื่อใช้ในการเรียน โดยใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1,500 ล้านบาท
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ จ.นครราชสีมา ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก BAC มุ่งเน้นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาฝีมือช่างซ่อมอากาศยาน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาประจำจังหวัด เนื่องจาก BAC ต้องการทีมช่างมากกว่า 100 คน เพื่อรองรับการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องบินจำนวน 40-60 ลำ
นอกจากนี้จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่จังหวัด เนื่องจากศิษย์การบินและครูการบินกว่า 300 คน จะใช้ชีวิตอยู่ใน จ.นครราชสีมา มีการจับจ่ายใช้สอย และจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่
BAC Academy - บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ฯ หรือ BAC จะเริ่มก่อสร้างโรงเรียนผลิตนักบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยานในเดือน ก.พ.นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี โดยอยู่ห่างจากสนามบินนครราชสีมา 5 กิโลเมตร
สำหรับ BAC เป็นโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2545 ตั้งอยู่ที่ จ.นครนายก บนพื้นที่ 120 ไร่ โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และกรมการบินพลเรือน ที่ผ่านมา ผลิตนักบิน CPL จำนวน 1,403 คน หรือปีละ 200-300 คน ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในไทย โดยวางเป้าหมายในการเป็นสถาบันอันดับหนึ่งในการผลิตนักบินสู่ตลาดโลก
ปัจจุบันปริมาณการเจรจาทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สายการบินต่างๆต้องสั่งซื้อเครื่องบินและเพิ่มเที่ยวบินในการให้บริการมากขึ้นส่งผลให้ความต้องการนักบินยิ่งสูงมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ตามรายงานของโบอิ้งพบว่าทั่วโลกมีความต้องการนักบินมากถึง 617,000 คน ภายใน 20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีความต้องการสูงที่สุดถึง 248,000 คน
ที่มา : prachachat