“Custom Made or Custom Mass?” คำถามคลาสสิกสำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ควรจะตอบให้ได้ คือโครงการนั้นเป็นรูปแบบเฉพาะ หรือรูปแบบมาตรฐาน? พัฒนาเพื่อลูกค้าเฉพาะทาง หรือเฉพาะกลุ่ม?
ไม่เพียงเฉพาะเจ้าของผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่ต้องควานหาส่วนผสมอันลงตัวเพื่อนำมาปรุงแต่งอาหารจานนี้ แต่ยังหมายรวมไปถึงสถาปนิกผู้ออกแบบ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย ไปจนถึงการแต่งตัวของพนักงานโบกธงโฆษณาริมทางเข้าโครงการว่าจะแต่งกายให้สอดคล้องกับโจทย์ตั้งต้นนี้อย่างไร
หากลองสังเกตจะเห็นว่าโครงการทั้งในและนอกมหานคร หรือหัวเมืองใหญ่อย่างจังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันมีการแข่งขันกันทั้งอย่างเข้มข้น เรียกได้ว่าหากเจ้าไหนคิดแผนส่งเสริมการขาย (Campaign) เป็นจุดเด่นชูโรงให้โครงการได้เปรี้ยงปร้างจนเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง หรือที่ในภาษาโซเชียลมีเดียเรียกว่า “ไวรัล (Viral)” ได้มากกว่ากัน ก็จะเป็นผู้นำในด้าน “ภาพลักษณ์” หรือ “ภาพจำ” ต่อผู้เสพได้มากเท่านั้น
แผนส่งเสริมการขายที่ปรากฏในปัจจุบันมีเนื้อหาใจความที่ต้องการให้ผู้ที่ได้รับสารนั้นเสพเข้าไปก่อน ส่วนจะตัดสินใจว่าจะบริโภคหรือไม่อย่างไรนั้นเป็นเป้าประสงค์ต่อมา หรือเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ (By-Product) แต่หากเป็นท่าทีของผู้ผลิตที่ต้องการสร้างรูปแบบเฉพาะให้เป็นเอกลักษณ์ ทำไมผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ถึงยังรับรู้สิ่งเหล่านี้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง หรือเพียงแต่ยอมรับโดยอารยะขัดขืน แม้จะคิดค้านในใจ แต่ก็ไม่สามารถจะต้านทานความเป็นไปของกระแสนิยมได้
อสังหาฯ ในตลาดก็ไม่ต่างไปจากอาหารหนึ่งจาน ลูกค้าจะเลือกรับประทาน หรือจะเดินไปร้านข้างๆ เพื่อลิ้มรสอาหารแบบเดียวกัน แต่นำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น หากร้านนาย ก. ขายก๋วยเตี๋ยวน้ำธรรมดาทั่วไปแบบเดียวกับร้านอื่นๆ ตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอย ลูกค้าก็คงไม่แปลกใจ และคงนั่งกันตามแต่อารมณ์จะเลือก ร้านต้นซอยก็อาจได้เปรียบอยู่นิดหน่อยตรงทำเลที่ดีกว่า แล้วร้านก๋วยเตี๋ยวนาย ข. ที่กลางซอย หรือร้านก๋วยเตี๋ยว นาย ฮ. ที่ท้ายซอยล่ะ จะเป็นอย่างไร?
ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ปรับตัวได้เท่านั้นที่จะอยู่รอด” เช่นเดียวกันครับ หากร้านนาย ส. เปลี่ยนไปทำการตลาดด้วยลูกชิ้นเนื้อปลากระเบน เสิร์ฟบนชามที่ออกแบบเป็นรูปปลากระเบน และตะเกียบรูปหางปลากระเบน คราวนี้สังคมแชะ แชร์ แชท จะสร้างตลาดให้ร้านนาย ส. อย่างอัตโนมัติแบบ “ไวรัล” ทันที
โครงการอสังหาฯ ที่ขาด “รูปแบบเฉพาะ” ก็ไม่ต่างกันครับ และหากไร้ซึ่งรูปแบบ “เฉพาะทาง” ที่น่าสนใจ หรือที่ภาษาการตลาดเรียกกันว่า “จุดขาย” ก็อาจเจอสถานการณ์เดียวกับร้านนาย ฮ. ท้ายซอยก็เป็นได้
นี่อาจเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามว่าทำไมผู้พัฒนาอสังหาฯ จึงต้องออกแบบให้มีรูปแบบเฉพาะ โดยไม่ทำลาย “รูปแบบมาตรฐาน” ซึ่งเป็นหลักการความต้องการพื้นฐานหลัก นั่นคือบ้านต้องเป็นที่อยู่อาศัย มีความปลอดภัย และก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมที่ถูกต้อง
เหรียญมักมีสองด้านเสมอครับ หากอาหารจานเด่นนั้นใช้ส่วนผสมที่ไม่ได้ “มาตรฐาน” ไร้ซึ่งผู้ปรุง และไร้ซึ่งจรรยาบรรณ ก็จะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคแค่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือบางคราว แค่ครั้งเดียวก็เกินพอ...
เขียนโดย: อัทธา พรสุมาลี
ปริญญาโท : สถาปัตยกรรม MArch ,Design Research Laboratory ,Architectural Association school of Architecture (AA), London
ปริญญาตรี : สถาปัยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน : สถาปนิก บริษัท ฟอร์กซ์ ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด
(Design director, Co-founder ForX Design Studio.Co.,Ltd.)
อาจารย์พิเศษ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย
(Course Master and Lecturer, Urban and regional Planning, Chulalongkorn university)
Contact Info
www.facebook.com/ForxDesignStudio
บทความที่เกี่ยวข้อง:
มั่นใจเรื่องอสังหาฯ มั่นใจ Baania!
ตกแต่งบ้านด้วยสีแห่งปี 2017 จาก Pantone
“บ้านผู้สูงอายุ” แบบไหนน่าลงทุน