เรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำเมื่อถ่ายทอดออกมาอย่างมีศิลปะ ทำให้ภาพเหล่านั้นยังคงติดตาตรึงใจอยู่ตราบนานเท่านาน โดยเฉพาะการนำเสนอในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบให้ผู้มาเยือนเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมา และบรรยากาศที่ย้อนภาพในอดีต วันนี้เราจะมามาชม hellfire pass memorial museum ที่ช่องเขาขาด พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ กันครับ
บรรยากาศภายนอกมิวเซียม
ที่ “ช่องเขาขาด พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ” จังหวัดกาญจนบุรีแห่งนี้ มีหลากหลายเรื่องราวที่ถูกบันทึกเรียบเรียงบอกเล่าอย่างมีคุณค่าภายในอาคารขนาดไม่ใหญ่ไม่โต แต่ผูกโยงการนำเสนอเข้ากับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการสัมผัสบรรยากาศแห่งความทรงจำ ที่สามารถทำให้คนที่เข้ามาได้ติดตามเรื่องราวและเต็มอิ่มกับร่องรอยที่ยังคงปรากฏอยู่
บรรยากาศภายนอกมิวเซียม
การออกแบบเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างการเล่าเรื่องภายในอาคาร กับการส่งต่อไปยังพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ถูกสร้างบนข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมที่มีความสูงชัน การสร้างทางเดินปรับระดับตามลักษณะทางธรรมชาติ เหมือนเรากำลังแทรกตัวไหลลื่นเข้าไปสู่เรื่องราวที่ได้รับฟังมา ไม่ว่าจะเป็นระยะทางหรือความลาดชันของเส้นทางก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินชม สภาพแวดล้อมที่มีธรรมชาติรายล้อมอย่างนี้กลับยิ่งทำให้เกิดความเพลิดเพลินต่อการเดินมากยิ่งขึ้น
บรรยากาศภายนอกมิวเซียม
เห็น hellfire pass memorial museum อย่างนี้แล้วก็อยากให้ผู้คนให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาความทรงจำในอดีตที่มีคุณค่า เพื่อรำลึกถึงทุกๆ เรื่องราวในทุกๆ ที่ของบ้านเมืองเรา เพื่อการก้าวเดินต่อในอนาคตที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นความสุข บทเรียนอันเจ็บปวด หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ล้วนควรค่าแก่การบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ โดยการออกแบบสถานที่แห่งความทรงจำที่แตกต่างตามอัตลักษณ์ท้องถิ่น บริบทและสภาพแวดล้อม ที่เราสามารถใช้ความทันสมัยผสมผสานกับสิ่งที่เหลืออยู่เข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน เพื่อให้เกิดผลเชิงอนุรักษ์อย่างแท้จริง เป็นการดำรงไว้ซึ่งรากเหง้าของสังคม วัฒนธรรมและประเพณีในอดีตที่มีมาช้านานให้คงอยู่สืบไป
ผู้เขียน : มัลลิกา บุณฑริก
อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
สถาปนิกที่หลงไหลการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้และประสบการณ์ในชีวิต
มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม และภาพลักษณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน