นิยาม คำว่าบ้าน ของแต่ละครอบครัวมีความหมายต่างกัน และใช่ว่าทุกครั้งที่เลือกบ้านในแต่ละครั้ง แต่ละช่วงเวลาจะเหมือนกัน แต่ในทุกครั้งที่เลือกคนมักมองหาสิ่งที่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิต และพฤติกรรมของครอบครัวอย่างแท้จริง
เมื่อก่อนการวางแผนมีบ้านของตนเอง มักเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในจุดที่อยากเปลี่ยนแปลงชีวิตแบบที่ว่าจะลงหลักปักฐานกับคนที่รัก พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และลูกๆ เพื่อเป็นสถานที่ทำกิจวัตรประจำวัน ใช้เวลาว่างร่วมกัน พักผ่อนยามกลับจากทำงานหรือเรียน แต่ในปัจจุบันมุมมองคำว่า “บ้าน” ของคนรุ่นใหม่ก็อาจกำลังเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะบ้านเริ่มกลายเป็นสถานที่ที่ทำกิจกรรมทุกอย่างได้ทุกที่ ทุกเวลา
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้คนในแต่เจนเนอเรชั่นมีความต้องการและความคุ้นเคยในการใช้พื้นที่การใช้งานในบ้านที่แตกต่างกันออกไป เช่นคนในรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตามยายอาจจะยังคุ้นเคยกับพฤติกรรมแบบเดิม การใช้พื้นที่ห้องแบบแยกส่วน การทำกิจวัตรประจำวันตามเวลา นอนหัวค่ำ ตื่นแต่เช้า ออกไปชอปปิงจ่ายตลาดมาทำกับข้าว ดูข่าวยามเช้า ดูละครหลังข่าวยามเย็นจากโทรทัศน์ ในขณะที่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ต้องการพื้นที่ส่วนตัวห้องเดียวสามารถทำได้ทุกอย่าง กินข้าวซื้อของจากออนไลน์ รับรู้ข้อมูลข่าวสารสาระบันเทิงผ่านอินเทอร์เน็ต นอนเมื่ออยากนอน ตื่นเมื่ออยากตื่น และในยุคโควิดที่ผ่านมา แม้แต่การเรียนและการทำงานยังต้องทำที่บ้าน
จึงทำให้วันนี้การออกแบบบ้านต้องมีแนวคิดที่แตกต่างออกไป เช่น คอนโดมิเนียมมีขนาดเล็กลงและอยู่ในทำเลที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะสะดวก, บ้านสำหรับคนโสด หรืออยู่กันเพียง 2 คน ก็จะอยู่ใกล้แหล่งอำนวยความสะดวก สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษา ขณะที่บ้านสำหรับครอบครัวใหญ่ที่มีคนหลายเจนเนอเรชั่นอยู่ด้วยกัน การจัดการพื้นที่ภายในบ้านต้องมีความยืดหยุ่น ระบบอาคารที่รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอำนวยความสะดวกหลากหลาย เป็นต้น
หนึ่งในแนวความคิดการออกแบบบ้านสำหรับสังคมไทยในยุคนี้ คือการนำบ้านในอดีตที่ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบันมาปรับปรุงใหม่ เนื่องจากรุ่นพ่อแม่มักมีความคุ้นเคยกับการอยู่อาศัยในทำเลเดิม หรือไม่อยากให้ลูกหลานแยกไปอยู่ที่อื่น ในขณะที่ลูกหลานต้องการขยายตัวของครอบครัว ใช้พื้นที่และใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป การหันมาปรับโฉมบ้านเดิมให้มีรูปแบบการใช้พื้นที่ใช้สอยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน แต่หากบ้านไม่สามารถปรับปรุงต่อเติมอาคารได้ การเลือกบ้านมือสองที่อยู่ใกล้บ้านเดิมหรืออยู่ในหมู่บ้านเดียวกันให้กับลูกหลาน จึงน่าจะเป็นอีกแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัยในอนาคตที่จะเกิดขึ้น
โครงการบ้านภัสสร เพรสทีจ คือตัวอย่างของการนำบ้านหลังเดิมที่สร้างขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน และตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุค 90s และยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบด้วย 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว และพื้นที่เปิดโล่งบริเวณชั้นล่างที่กว้างมากพอจะปรับปรุง ที่สำคัญบ้านหลังหัวมุมยังมีที่ดินเหลือเป็นสวนด้านข้างไว้เป็นพื้นที่สีเขียวของบ้าน
สำหรับการสำรวจอาคารและโครงสร้างในการนำบ้านข้ามกาลเวลามารีโนเวทเพื่อใช้งานในยุคปัจจุบัน ส่วนสำคัญที่สุดก็คือความมั่นคงแข็งแรงทางโครงสร้าง ตามมาด้วยงานระบบและองค์ประกอบทุกจุด ในส่วนไหนที่พบว่าชำรุด ทรุดโทรมก็จะต้องมีการเปลี่ยนหรือซ่อมแซม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่การใช้งานใหม่ให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัยในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น(Tropical) แบบประเทศไทย ที่มีทั้งฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาวได้อย่างเหมาะสม
เมื่อพบว่าอาคารมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้เหมือนการสร้างใหม่ได้ ทั้งงานระบบอาคาร ไฟฟ้า ประปา อินเทอร์เน็ต รวมถึงหากต้องการใช้เทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฮม (Smart Home Solution), พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) หรือระบบการถ่ายเทความร้อนในบ้าน (Airflow System) และเปลี่ยนวัสดุปิดผิวให้เป็นนวัตกรรมใหม่หรือวัสดุทดแทนก็สามารถทำได้ตามงบประมาณที่ตั้งไว้
มาดูกันที่ฟังก์ชันของบ้านภัสสร เพรสทีจ โดยเป็นหมู่บ้านจัดสรรที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นครอบครัวที่อยู่อาศัย 4-6 คน และต้องการที่อยู่อาศัยในบริเวณถนนรังสิต-นครนายก มีรายได้ระดับปานกลาง-สูง จึงเลือกมองหาบ้านที่มีความสวยงาม คุ้มค่า สถาปนิกจึงออกแบบทางเดินโดยรอบบ้านเชื่อมโยงการใช้งานจากหน้าบ้านถึงหลังบ้าน โดยเพิ่มพื้นที่ใช้งานทั้งเฉลียงด้านข้างไปสู่พื้นที่พักผ่อนในสวน และลานซักล้างพร้อมหลังคาด้านหลังบ้านสำหรับการใช้งาน นอกจากนั้นยังเพื่มหลังคาด้านหน้าเป็นกันสาดป้องกันฝนที่อาจจะสาดเข้ามาถึงบริเวณที่จอดรถ โดยเฉพาะระแนงไม้เทียมบริเวณระเบียงห้องนอนใหญ่ชั้น 2 องค์ประกอบสำคัญที่เป็นทั้งการสร้างความเป็นส่วนตัวและเอกลักษณ์ให้กับตัวอาคาร
1. ทางเดินจากด้านหน้าบ้านไปยังด้านหลังบ้าน โดยที่ไม่ต้องผ่านเข้าไปในตัวบ้าน
2. เฉลียงด้านข้างบ้าน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตภายนอก ท่ามกลางสวนในบ้าน
3. ลานซักล้าง ด้านหลังบ้านที่มีขนาดเพียงพอกับการใช้งานจริง
4. กันสาดด้านหน้า ครอบคลุมที่จอดรถ ตลอดจนคลุมทางเดินไปยังทางเข้าด้านหน้าบ้าน
5. ระแนงไม้เทียมบริเวณระเบียงชั้น 2 ส่วนของห้องนอนใหญ่ เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวจากมุมมองของบ้านฝั่งตรงกันข้าม และสร้างเอกลักษณ์ให้กับบ้าน
6. กันสาดบริเวณส่วนทางเดินด้านข้างบ้านที่ต่อเชื่อมจากส่วนรับประทานอาหารในบ้าน ไปยังพื้นที่เฉลียงในสวน
7. หลังคาคลุมพื้นที่ส่วนซักล้าง เพื่อช่วยให้สามารถใช้งานในกรณีที่มีฝนพรำ และในวันที่แดดจัด
8. ออกแบบให้มีตู้ไปรษณีย์ที่สามารถรองรับกล่องพัสดุ ที่มีขนาดใหญ่กว่าซองจดหมายเอกสารทั่วไป ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันที่นิยมซื้อของออนไลน์
ในส่วนของการจัดการพื้นที่ใช้ว่างในอาคารเดิมให้เกิดการใช้งานที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้มีความยืดหยุ่น รองรับกิจกรรมได้หลากหลาย จึงเลือกออกแบบ Mood Tone ของอาคาร และเลือกใช้เฉดสีของวัสดุ และตัวอาคารในโทนขาวเทาดำ กับสีของวัสดุธรรมชาติ คือ ไม้ ให้เหมาะกับการอยู่อาศัย พร้อมหน้าต่างกว้างที่เปิดสู่สวน เพื่อให้ผู้อยู่รับรู้ถึงความโปร่งโล่ง สบายตา ไม่อึดอัดแม้อยู่ภายในตัวบ้าน มาพร้อมกับความเป็นส่วนตัวสูงที่แม้จะอยู่ในห้องนอนใหญ่ที่มีหน้าต่างบานกว้าง แต่ก็ยังมีความเป็นส่วนตัวสูงได้ด้วยระแนงไม้เทียม เพื่อให้เกิดประสบการณ์การใช้ระเบียงที่แตกต่างไปจากเดิม
สำหรับพื้นที่ชั้นล่าง ออกแบบให้มีขนาดกว้าง โล่งโปร่ง เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าของบ้านสร้างสรรค์การใช้งานเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นที่พักผ่อน รับประทานอาหาร ทำงาน หรือใช้สอยแบบอเนกประสงค์นั่นเอง
ทราบแนวคิดการออกแบบและรีโนเวทบ้านภัสสร เพรสทีจกันไปแล้ว ใครอยากจะไปชมบ้านจริงๆ หรือสนใจอยากจะเป็นเจ้าของสามารถโทร. 097-998-0402 หรือคลิก go.baania.com/f3b40c48/242 ได้
----------------------------------------
ผู้เขียนบทความ
มัลลิกา จงศิริ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต