การประกาศแผนลงทุนเมื่อต้นปี 2560 เอสซี แอสเสท คอร์อเรชั่น ได้ประกาศกลยุทธ์ Re-invention 2020 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กรจากการเป็น Develloper สู่การเป็น Living Solution Provider ภายในปี 2563 ถึงวันนี้กระบวนการทุกอย่างกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ตามที่กำหนดเอาไว้
รุกคืบ Living Solutions Provider
ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กล่าวถึงความคืบหน้าในงาน 2nd Half Business Review 2018 ว่า การมุ่งสู่การเป็น Living Solutions Provider มีความคืบหน้าไปแล้วตามแผน ได้แก่ การพัฒนาแอพพลิเคชั่น บ้านรู้ใจ ร่วมกับบริษัท ไฟร์ วัน วัน จำกัด เพื่อเป็นเครื่องในการสื่อสาร และ CRM ระหว่างบริษัทกับลูกค้า ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 4 โดยมี 2 feature สำคัญคือการแจ้งซ่อม และ One-on-One Conversation หลังจากนี้จะมี feature ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาในทุกๆ ไตรมาส
นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจหลากหลายใน Ecosystem นำร่องโดยการจัดสรรพื้นที่จำนวน 6 ไร่ บริเวณด้านหน้าของที่ดินบางกะดี จ.ปทุมธานี ขนาด 240 ไร่ มาพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อยู่อาศัยและชุมชนในย่าน และการปรับปรุงพื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตร บริเวณชั้น 14 ณ อาคารชินวัตร 3 สำนักงานใหญ่ โดยใช้งบ 40-50 ล้านบาท เป็น co-working space เพื่อส่งเสริมการทำงาน (co-creation) ร่วมกับ Startup หรือกลุ่มพันธมิตรธุรกิจต่างๆ พร้อมเปิดใช้ไตรมาส 2/2562 รวมถึงการพัฒนา Future Lab เพื่อการวิจัยและพัฒนา ในเรื่องของการใช้ชีวิตของคนในปี 2030 โดยจะใช้งบปีละ 50 ล้านบาท สำหรับการทำวิจัยในเรื่องต่างๆ
สุดท้ายคือ การร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา Slingshot Group ปรับวัฒนธรรมองค์กร เพื่อรองรับการเติบโตในบริบทใหม่ สำหรับทุกคนในองค์กร และ คนรุ่นใหม่ที่จะเข้าร่วมงานกับบริษัทในอนาคต
"บริบทใหม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของ Landscape ในการทำธุรกิจ SC จะเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน โดยเป็น Living Solutions Provider ผสานนวัตกรรมเข้ากับที่อยู่อาศัย เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคต เราพร้อมปรับตัวเรียนรู้พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอของผู้อยู่อาศัย" ณัฐพงศ์ กล่าว
ขยายธุรกิจปรับปรุง-ขายบ้านมือสอง
นอกจากการ re-invention แล้ว SC กำลังศึกษาธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเป็นการต่อจิกซอว์ ของการเป็น Living Solutions Provider หนึ่งในนั้นคือการเข้าสู่ธุรกิจบ้านมือสอง ซึ่ง ณัฐพล ใช้คำว่า home makeover โดยการเลือกหาบ้านในทำเลดีๆ ที่มีความต้องการ นำมาปรับปรุงและขายออกไป
ณัฏฐกิตติ์ ศิริรัตน์ หัวหน้าสายงานการตลาด บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ขยายความแนวคิดดังกล่าวว่า ให้นึกถึง โตโยต้าชัวร์ ซึ่งเป็นธุุรกิจรถมือสองของโตโยต้า โดยบริษัทจะเข้าไปเลือกหาบ้านมือสองที่อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพนำมาปรับปรุงและขาย ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคนซื้อ ในเบื้องต้นจะเป็นบ้านเดี่ยวราคา 4-8 ล้านบาท ทำเลไม่เกินถนนกาญจนาภิเษก โฟกัสเฉพาะ 3 แบรนด์ชั้นนำในตลาด ซึ่งรวมถึงแบรนด์ของ SC ด้วย โดยจะร่วมทุนกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป
ย้อนกลับมาที่ธุรกิจหลักของบริษัท สำหรับในครึ่งปีหลัง ณัฐพงศ์ มองว่า เศรษฐกิจโดยรวมยังมีการเติบโตได้ดี GDP ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% หนี้ครัวเรือนเริ่มลดลง ขณะที่การเปิดโครงการใหม่ในครึ่งปีแรกมีมูลค่าร่วม 1.84 แสนล้านบาท ที่น่าสนใจคือบ้านระดับราคา 8-10 ล้านบาท มีการเปิดขายมากเป็นพิเศษ แสดงถึง ความต้องการซื้อบ้านในกลุ่มนี้ยังคงแข็งแกร่ง สำหรับในครึ่งปีหลัง บริษัทมีแผนจะเปิดโครงการใหม่เพิ่มอีก 15 โครงการ มูลค่ารวม 1.5 หมื่นล้านบาท รวมกับโครงการที่เปิดขายอยู่ในขณะนี้อีก 36 โครงการ มูลค่ารวม 3.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ในครึ่งปีหลังบริษัทจะมีโครงการที่เปิดขายรวมทั้งสิ้น 51 โครงการ มูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท
ครึ่งปีหลังผุด 15 โครงการ 1.5 หมื่นล้าน
ในครึ่งปีแรกบริษัทมียอดขาย 7,235 ล้านบาท และมีรายได้รวม 6,652 ล้านบาท โดยยังคงเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท และรายได้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาทเช่นกัน จากการขายทั้งโครงการเก่าและใหม่ และ backlog หรือโครงการที่รอรับรู้รายได้ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.07 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นโครงการที่รอโอนภายในครึ่งปีหลังนี้ประมาณ ขณะที่ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก บริษัทมีรายได้รวม 6,652 ล้านบาท เติบโต 44% รายได้หลักมาจากโครงการเพื่อขาย 6,223 ล้านบาท คิดเป็น 94% เป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ 4,522 ล้านบาท เติบโต 49% และโครงการคอนโดมิเนียม 1,701 ล้านบาท เติบโต 49% โดยมีกำไนสุทธิ 704 ล้านบาท เติบโต 107%
สำหรับการแผนเปิด 15 โครงการใหม่ในครึ่งปีหลัง แบ่งเป็น คอนโดมิเมียม 1 โครงการ คือ แชมเบอร์ส อ่อนนุช สเตชั่น มูลค่าโครงการ 1,700 ล้านบาท ราคา 3-5 ล้านบาท ส่วนโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบทุกระดับราคา จำนวน 14 โครงการ มูลค่ารวม 13,300 ล้านบาท ประกอบด้วย บ้านราคา 20 ล้านบาท 2 โครงการ ได้แก่ เดอะ เจนทริ เอกมัย-ลาดพร้าว และแกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด รามอินทรา-เสรีไทย ส่วนบ้านราคา 8-10 ล้านบาท ได้แก่ บางกอก บูเลอวาร์ด ศรีนครินทร์-บางนา บางกอก บูเลอวาร์ด พระราม 9-2 และบางกอก บูเลอวาร์ด รามอินทรา-เสรีไทย
เดอะ เจนทริ เอกมัย-ลาดพร้าว
แกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด รามอินทรา-เสรีไทย
เพฟ ปิ่นเกล้า-ศาลายา
โครงการบ้านระดับราคา 5-8 ล้านบาท ได้แก่ เวนิว ติวานนท์-รังสิต เวนิว เวสต์เกต เวนิว พระราม 9 โครงการบ้านในระดับราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตมาก และจะเป็นแบรนด์ที่ใช้รุกตลาดใน 3 ปีนี้ ประกอบด้วย เพฟ ปิ่นเกล้า-ศาลายา เพฟ มอเตอร์เวย์-ฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังมี ทาวน์โฮม ราคา 2-3 ล้านบาทอีก 2 โครงการ ได้แก่ เวิร์ฟ ติวานนท์-รังสิต และเวิร์ฟ พระราม 9 รวมถึงโฮมออฟฟิศ ราคา 10 ล้านบาทอีก 1 โครงการ คือ เวิร์คเพลส เพชรเกษม 81-2 ขณะเดียวกันจะเปิดตัวแบรนด์ใหม่ชื่อ “V Compound” ซึ่งเป็นบ้านและทาวน์โฮม ราคา 3-7 ล้านบาท ได้แก่ โครงการวี คอมพาวด์ ราชพฤกษ์-ปิ่นเกล้า
ผุดคอนโดหลังสวนคาดราคาพุ่งกระฉูด
สำหรับที่ดินแปลงงามย่านหลังสวนเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ดินที่ประมูลมาในราคา 2,800 ล้านบาท หรือประมาณ 3.1 ล้านบาทต่อตารางวา ทุบสถิติการซื้อขายที่ดินในประเทศไทย ณัฐพงศ์ อัพเดตความคืบหน้าด้วยว่า ทีมงานกำลังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบโครงการ ซึ่งจะพัฒนาในนามบริษัท สโคป ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัุท เอสซี แอสเสทฯ ถือหุ้น 90% กับนางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ ถือหุ้นในสัดส่วน 10% โดยมีนายยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คาดว่าจะเปิดโครงการได้ในช่วงต้นปี 2562
“ในเมืองใหญ่ทั้วโลกที่ดินแปลงที่อยู่ติดสวนสาธารณะจะมีราคาดีที่สุด นอกจากนี้ที่ดินที่บริษัทซื้อมาเป็นที่ดินที่อยู่กลางเมือง อยู่ใกล้รถไฟฟ้า อยู่ใกล้เซ็นทรัลชิดลม เป็นที่ดินที่มีเรื่องราวความเป็นมา ซึ่งจะหาที่ดินแปลงลักษณะนี้ยากมาก หากพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมราคาจะสามารถวิ่งไปถึง 6 แสนบาทต่อตารางเมตร ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทจะตั้งราคาขายเท่าไหร่” ณัฐพงศ์ กล่าว
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania